ไม่พบผลการค้นหา
พีพีทีวีขออภัยกรณีโดรนบินระหว่างลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศยาน ย้ำไม่ได้มีเจตนาฝ่าฝืน พร้อมน้อมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ด้าน กพท. เตรียมเอาผิดผู้บังคับโดรน ตาม พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497

วานนี้ (9 ก.ค.) กองบรรณาธิการข่าวพีพีทีวี ออกแถลงการณ์ เพื่อแสดงความขออภัยอย่างสูงต่อเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป กรณีที่มีภาพอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ขึ้นบินในช่วงเวลาเดียวกับเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้ในภารกิจลำเลียงผู้ประสบภัยถ้ำหลวงไปยังโรงพยาบาล 

ทั้งนี้ ทางกองบรรณาธิการฯ มิได้มีเจตนาฝ่าฝืนข้อพึงปฏิบัติในฐานะสื่อมวลชนที่ประจำการอยู่ อย่างไรก็ตาม ทางกองบรรณาธิการฯ ขอน้อมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และขออภัยอย่างสูงหากเหตุการณ์ดังกล่าวได้ทำให้เกิดผลกระทบใดๆ และยืนยันว่าจะไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก


o.jpg

ด้าน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท. เปิดเผยผ่านเพจ "CAAT - The Civil Aviation Authority of Thailand" ว่า ทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เตรียมเอาผิดผู้บังคับโดรน จากกรณีมีภาพโดรนบินในระยะใกล้เฮลิคอปเตอร์ ที่ใช้ลำเลียงสมาชิกทีมหมูป่า เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2561

ซึ่งจากกรณีเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2561 ตามที่ปรากฏภาพโดรนบินในระยะที่ใกล้เคียงกับเฮลิคอปเตอร์แบบ MI-17 ของกองทัพบก ที่กำลังทำการบินลำเลียงทีมหมูป่าอะคาเดมีชุดแรก ออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ไปยังโรงพยาบาลและสามารถถ่ายภาพติดทั้งเฮลิคอปเตอร์และโดรน ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่ออากาศยานหรือกระบวนการเคลื่อนย้ายสมาชิกทีมหมูป่านั้น

เมื่ออ้างอิงจากประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์การขออนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ. 2558 จึงอาจเข้าข่ายฝ่าฝืนเงื่อนไขข้อ 5 (2) ระหว่างทำการบิน ข้อ (จ) ต้องทำการบินในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก ซึ่งสามารถมองเห็นอากาศยานได้อย่างชัดเจน และข้อ (ญ) ห้ามบังคับอากาศยานเข้าใกล้อากาศยาน ซึ่งมีนักบิน หากพบว่ามีความผิดจริงผู้บังคับโดรนลำดังกล่าว จะมีโทษตามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ตามมาตรา 80 มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท อย่างไรก็ตามสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย จะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อไป

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ขอแจ้งให้ทราบโดยทั่วกันว่าศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย และศูนย์สนับสนุนทางอากาศโดยตรงที่ 3 กองทัพอากาศที่รับผิดชอบควบคุมการจราจรทางอากาศเหนือเขานางนอนและฝูงบิน 416 ได้กำหนดให้พื้นที่ ในรัศมี 15 ไมล์ทะเล รอบบริเวณวนอุทยานเป็นเขตควบคุมการบินเป็นกรณีชั่วคราว การบังคับหรือปล่อยโดรน ในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว จะต้องได้รับอนุญาตจากศูนย์อำนวยการร่วมฯ ก่อนทุกครั้ง


โดยก่อนหน้านี้ ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ ได้ออกมาขออภัยกรณีนำคลิปเสียงจากสัญญาณวิทยุสื่อสารระหว่างช่วยทีมหมูป่า พร้อมชี้แจงว่าได้สัญญาณจากวิทยุเครือข่ายเครื่องสีแดงของภาคประชาชนที่ถ่ายทอดผ่านแอปฯ Zello ยืนยันจากนี้จะระมัดระวังการเสนอข่าวอย่างเต็มที่ 


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง