ไม่พบผลการค้นหา
กรมควบคุมโรค ชี้ผลการศึกษาพบไขมันทรานส์ลดระดับไขมันดีเพิ่มระดับไขมันเลวของร่างกาย เสี่ยงเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังสูงขึ้น แนะลด/เลี่ยงการรับประทานสามารถป้องกันการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และโรคเส้นเลือดหัวใจตีบได้

นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ภายหลังจากราชกิจจานุเบกษาได้ลงประกาศกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2561 ที่ผ่านมาเรื่อง การห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ระบุว่าโดยปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่า กรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty Acids) จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils) ส่งผลเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด กรมควบคุมโรคมีความห่วงใยในสุขภาพของประชาชน เพราะไขมันทรานส์มีส่วนที่ก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อาทิ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจขาดเลือด เป็นต้น 

สถานการณ์โรคไม่ติดต่อเรื้อรังของประเทศไทยมีแนวโน้มจะพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทยจำนวนมากเสียชีวิตเฉลี่ยปีละประมาณ 20,000 ราย มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 30,000 ราย ส่วนโรคความดันโลหิตสูงช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556-2560) อัตราป่วยต่อประชากรแสนคนเพิ่มขึ้นจาก 12,342 เป็น 14,926 ส่วนโรคเบาหวาน มีผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8.9 (ประมาณ 5 ล้านคน) จากผลการสำรวจสุขภาพคนไทยครั้งที่ 5 เมื่อปี 2557 

ผลการศึกษาทางระบาดวิทยาจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่า ไขมันทรานส์ในอาหาร ทำให้ระดับ LDL (low density lipoprotein) ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดเลวในเลือดเพิ่มขึ้น และลดระดับ HDL (high density lipoprotein) ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดดีในเลือด การศึกษาในสหรัฐอเมริกาบ่งชี้ว่า การไม่รับประทานอาหารที่มีไขมันทรานส์ สามารถป้องกันการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันประมาณ 10,000 – 20,000 ราย/ปี และป้องกันการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ 3,000 -7,000 ราย/ปี 

อาหารหลายชนิดที่มีโอกาสพบไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบ เช่น มันฝรั่ง โดนัท เบเกอรี่ ขนมขบเคี้ยว ครีมเทียม วิปปิ้งครีม เนยขาว มาร์การีน และคุกกี้ เป็นต้น ผู้บริโภคจึงควรอ่านฉลากโภชนาการให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจซื้อหรือรับประทาน โดยสังเกตที่ส่วนประกอบและตารางโภชนาการ (Nutrition Facts) ช่องไขมันรวม (Total fat) ซึ่งหากมีการใช้ไขมันทรานส์ จะชี้แจงไว้บริเวณนี้

ทั้งนี้ ยังพบไขมันทรานส์ในน้ำมันทอดซ้ำ ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาระหว่างน้ำมันกับไฮโดรเจนที่อยู่ในอาหารและน้ำ การลดโอกาสการเกิดไขมันทรานส์ในน้ำมัน คือ ต้องเลือกใช้น้ำมันให้ถูกกับประเภทของอาหาร เช่น ผัด หรือทานสด ควรเลือกน้ำมันมะกอก หรือน้ำมันถั่วเหลือง อาหารประเภททอด ควรเลือกใช้น้ำมันปาล์มหรือน้ำมันมะพร้าว เพราะสามารถทนความร้อนได้สูง รวมถึงไม่ควรใช้น้ำมันทอดซ้ำไปมาหลายรอบ 

นพ.อัษฎางค์ กล่าวอีกว่า องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO และองค์การอนามัยโลก หรือ WHO แนะนำประชาชนไม่ควรบริโภคไขมันทรานส์เกินร้อยละ 1 ของพลังงานทั้งหมดที่ได้รับใน 1 วัน (ประมาณ 2.2 กรัม) 

การหลีกเลี่ยงการได้รับไขมันทรานส์ที่สามารถทำได้ คือ 

1. เพิ่มการบริโภคผักและผลไม้ให้มากขึ้น 

2. ควรลด/เลี่ยงการกินอาหารประเภทเบเกอรี่ต่าง ๆ โดยเฉพาะ พัฟ และเพรสตี้ 

3.ควรลด/เลี่ยงอาหารทอด อาหารผัดที่ใช้นํ้ามันในปริมาณมาก 

4.อ่านฉลากโภชนาการให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจซื้อหรือรับประทาน 

ข่าวเกี่ยวข้อง :