นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวในงานสัมมนาสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO เรื่อง "เศรษฐกิจไทยขยับ เตรียมรับเทคโนโลยีเปลี่ยน" ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาการเร็วขึ้น ราคาถูกมากขึ้น และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีก็ทำให้ระบบนิเวศ หรือ ecosystem เปลี่ยน ไม่ใช่เฉพาะแต่ธุรกิจธนาคาร แต่รวมถึงหลายๆ อุตสาหกรรม เช่น สื่อสารมวลชน ภาคเกษตร
เทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ มีทั้งแง่บวกและแง่ลบ และเราจำเป็นต้องเท่าทันการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงโดยการประหยัดจากขนาด หรือ economy of scale การเปลี่ยนแปลงด้วยการทำหลายๆ อย่างได้ หรือ economy of scope การเปลี่ยนแปลงที่ทำใครทำเร็วกว่าได้เปรียบมากกว่า หรือ economy of speed นอกจากนี้ เทคโนโลยีในปัจจุบันยังสามารถให้บริการเฉพาะเจาะจงแก่ลูกค้า โดยใช้ข้อมูลที่มีอยู่มาประมวลผลและแสดงผลสำหรับนำเสนอสินค้าที่ตรงกลุ่มเป้าหมายที่สุด
"เหล่านี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทุกคนต้องพบและต้องปรับตัว เพราะถ้าไม่ปรับตัวก็จะตกขบวนรถไฟ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ธุรกิจหรือระดับบุคคล แต่เราก็ต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้มีคนตกขบวน ด้วยการยกระดับผลิตภาพ ซึ่งหมายถึงการทำงานให้ได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ด้วยต้นทุนและแรงงานเท่าเดิม" นายวิรไท กล่าว
โดยการจะทำให้เกิดผลิตภาพในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วอย่างนี้ ต้องอาศัย 3 ด้าน ได้แก่ 1) ข้อมูล เพราะจะเป็นสิ่งตั้งต้นสำคัญสำหรับการนำไปวิเคราะห์ผล ประเมินผล โดยใช้ข้อมูลยุคดิจิทัลแบ่งเป็นรายการต่างๆ หรือที่เรียกว่า บิ๊ก ดาต้า
2) คน ที่จะต้องยกระดับทักษะให้ทันกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพราะในอนาคตงานที่ทำซ้ำๆ จะถูกกระทบรุนแรง รวมถึงตัวอย่างที่เห็นเรื่องการลดจำนวนสาขาของธนาคารพาณิชย์ ก็จะลดในส่วนที่เป็นงานบริการที่ทำซ้ำๆ และถูกแทนที่ด้วยอิเล็กทรอนิกส์ แบงกิ้ง และดิจิทัล แบงกิ้ง เป็นต้น
3) โครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการมีโครงข่ายอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ครอบคลุมทั้งประเทศ ทำให้ทุกหมู่บ้านในประเทศมีไวไฟใช้ ซึ่งคาดว่า ภายในปลายปีนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี จะทำอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านครบ ซึ่งจะเป็นความหวังว่า โครงสร้างพื้นฐานแบบนี้จะเปลี่ยนเศรษฐกิจในภาคต่างจังหวัดได้อย่างมาก
"ในอุตสาหกรรมธนาคาร จะเห็นตัวอย่างมากมายของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมา และช่วยลดบทบาทของตัวกลาง ทำให้ราคาสินค้าและบริการถูกลง หรือทำให้คนใช้บริการสะดวกขึ้น เช่น ธุรกิจตัวกลางอย่าง เทรเวล เอเจน หรือ ตัวแทนขายตั๋วเครื่องบิน ที่ปัจจุบันแทบจะหายไปแล้ว เพราะทุกคนสามารถจองและซื้อตั๋วเครื่องบินได้ด้วยตัวเอง และสะดวกมากขึ้น" นายวิรไทกล่าว
ดังนั้น กรณีที่มีธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่บางแห่งประกาศปรับลดจำนวนพนักงาน ปิดสาขาธนาคารภายใน 3 ปีข้างหน้า ผู้ว่า ธปท. ให้ความเห็นว่า 2 ปีที่ผ่านมา จะเห็นธนาคารหลายแห่งประกาศปิดสาขา ซึ่งต่างจากช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ธนาคารต่างๆ เปิดสาขาใหม่จำนวนมาก ซึ่งการขยายสาขาย่อมเป็นต้นทุนแก่ธุรกิจ ทั้งต้นทุนจ้างพนักงาน ต้นทุนสถานที่ ซึ่งสูงมาก ขณะที่ผู้ใช้บริการอาจไม่รู้สึก ขณะที่ 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารในประเทศไทยก็ปรับตัวเข้าสู่โหมดดิจิทัลมากขึ้น เพื่อทำให้ต้นทุนถูกลง และประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้ถูกลดลงด้วย ซึ่งในหลายๆ ที่มีแนวโน้มเช่นนี้
"ส่วนธนาคารที่ปรับธุรกิจค่อนข้างเร็ว ก็ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงาน ดูแลลูกค้า ซึ่งที่ผ่านมา ธปท. และสถาบันการเงินก็ได้หารือและกำชับในเรื่องนี้ ซึ่งจะเห็นว่า สถาบันการเงินหลายแห่งที่ปรับธุรกิจเข้าสู่โหมดดิจิทัล ก็จะมีโครงการฝึกอบรมพนักงานให้รับหน้าที่ใหม่ๆ มีทักษะใหม่ๆ เพื่อรับเทคโนโลยีใหม่ๆ" นายวิรไทกล่าว
นอกจากนี้ ธปท. ยังอยู่ระหว่างการร่างประกาศให้ธนาคารพาณิชย์สามารถจัดตั้งตัวแทนธนาคาร หรือ banking agent เพื่อให้บริการประชาชนในพื้นที่ห่างไกลให้เข้าถึงบริการทางการเงิน ขณะเดียวกันสถาบันการเงินก็มีต้นทุนที่ลดลง โดยธนาคารไม่ต้องลงทุนเปิดสาขา แต่ให้ตัวแทนให้บริการ เช่น การรับชำระเงิน รับฝากเงิน เป็นต้น ซึ่งขณะนี้เกณฑ์ดังกล่าวอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น และคาดว่า สามารถประกาศใช้ได้ภายในไตรมาส 1 ปีนี้