ไม่พบผลการค้นหา
เวทีเสวนา 'ม.44 อุ้มค่ายมือถือ :กสทช.-เอกชน มีเงินทอนหรือไม่' ค้าน กสทช. ชง คสช. ยืดความใบอนุญาตงวดสุดท้ายของผู้ประกอบการ 4G ประธานทีดีอาร์ไอ แจงไม่มีเหตุผลอุ้ม 'เอไอเอส-ทรู' เพราะผลประกอบการไม่แย่ เสนอราคาประมูลด้วยความสมัครใจและเข้าใจเงื่อนไขเป็นอย่างดี จับตาประชุม คสช. 10 เม.ย. นี้

วันนี้ (8 เม.ย.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 และเครือข่ายตรวจสอบภาคประชาชน จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง 'ม.44 อุ้มค่ายมือถือ :กสทช.-เอกชน มีเงินทอนหรือไม่' 

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กล่าวว่า หากมีการออก มาตรา 44 ในการให้เอกชนผ่อนจ่ายค่างวดที่ 4 ในการประมูลคลื่น 4G นั้นจะทำให้รัฐบาลเสียประโยชน์อย่างมาก เพราะในการประมูลคลื่น 3G รัฐเสียประโยชน์ไปแล้ว หากมีการช่วยเหลือเอกชนในคลื่น 4G อีก ก็จะเป็นการเสียประโยชน์อีก 

เพราะตามจริงแล้วกติกาประกาศประมูลคลื่น กสทช.เป็นผู้สามารถแก้กติกาเองได้ แต่ กสทช. กลับมอบหน้าที่ให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้แก้กติกา ซึ่งทาง คสช.ไม่จำเป็นจะต้องออก ม.44 เพื่อช่วยเหลือเอกชน แต่หาก คสช.ทำให้ค่ายมือถือเสียหายอย่างไรให้ออกมาพูดกันแบบชัดเจน หรือหากไม่มี ก็ให้พักเรื่องขอยืดเวลาจ่ายค่างวดไปเสีย แล้วให้จ่ายค่างวดตามปกติ


"หากฝ่ายบริหารของ กสทช.ไม่เห็นด้วยในเรื่องของการจะออก ม.44 ช่วยบริษัทมือถือของเอกชน ก็ให้ออกมาแสดงความคิดเห็นบ้าง ไม่ควรนิ่งนอนใจ ปล่อยให้ข่าวนี้เงียบไป" นางสาวสุภิญญา กล่าว


ด้าน น.ส. รสนา โตสิตระกูล อดีตประธานกรรมาธิการการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจจิต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา กล่าวในการเสวนาตอนหนึ่งว่า กำลังติดตามกรณีที่เอไอเอส และ ทรู ทำเอกสารขอให้ คสช. พิจารณายืดระยะเวลาการจ่ายค่าประมูลใบอนุญาตการใช้คลื่นโทรคมนาคม 4G ว่าจะเข้าการพิจารณาที่ประชุมคสช. ในวันที่ 10 เม.ย.นี้หรือไม่ เพราะตนไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลและคสช.จะใช้มาตรา 44 อุ้มค่ายมือถือ 

เพราะที่ผ่านมาการประมูลใบอนุญาตใช้คลื่นโทรคมนาคม 4G กทสช.ได้เอื้อให้เอกชนพอสมควร มีการแบ่งงวดชำระการจ่ายให้ 4 งวด และจ่ายงวดสุดท้ายในปี 2563 นี้ ซึ่งซึ่งตามกฎหมายไม่สามารถแบ่งจ่ายงวดสุดท้ายได้ แต่เลขาธิการ กสทช.ระบุว่า หากแบ่งจ่ายออกไปอีก 5 งวด จะทำให้รัฐได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 ซึ่งในความเห็นของตนมองว่าจะทำให้เอกชนประหยัดดอกเบี้ยจากเดิม 30,000 ล้านบาทมากกว่า จึงทำให้เกิดคำถามว่าใครได้ประโยชน์กันแน่ เพราะหากรัฐบาลเก็บค่าใบอนุญาตฯงวดสุดท้ายก็จะได้เงินเข้างบประมาณแผ่นดินทันที เพื่อไม่ให้เกิดปัญหางบประมาณขาดดุล แต่กลับเปิดช่องให้เอกชนผ่อนจ่ายได้ แถมดอกเบี้ยยังต่ำมาก โดยที่รัฐบาลไม่ได้ประโยชน์ แต่ค่ายมือถือทั้ง 2 ค่ายได้ประโยชน์


"ตอนนี้ คสช.ใช้มาตรา 44 ฟุ่มเฟือยและไร้ขอบเขต เพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ระบุถึงการใช้มาตรา 44 ใน 3 กรณีเท่านั้น คือการปฏิรูป การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ และการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการช่วยเหลือภาคเอกชนในการประกอบธุรกิจ" น.ส.รสนา กล่าว

นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาเอไอเอสและทรู มีผลกำไรจากการประกอบกิจการค่อนข้างสูง ซึ่งทั้ง 2 บริษัทนี้มีกำลังในการจ่ายค่างวดให้กับรัฐบาลโดยไม่ได้เสียประโยชน์หรือกระทบกับหน่วยงานใด และที่ผ่านมาทางทรูมูฟได้ลงทุนไปกับการทำเคเบิ้ลใต้น้ำ ซึ่งจะเป็นการนำมาสู่การใช้ 5G ในอนาคต 

"ไม่ต้องกังวลเลยว่าฝ่ายเอกชนจะไม่มีเงินมาจ่ายค่างวด และไม่จำเป็นที่จะต้องเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนเพื่อให้มีผลกำไรเพิ่มขึ้น มีค่าใช้จ่ายลดลง แต่หาก 2 บริษัทนี้ผูกขาดการตลาด การใช้โทรศัพท์ ประชาชนต่างหากที่จะได้รับผลกระทบ ดังนั้นหากมีการช่วยเหลือจริง ก็ควรจะมีการพูดคุยกันอย่างชัดเจนเพื่อให้ประชาชนยอมรับ แต่หากมีการใช้มาตรา 44 เกิดขึ้นจริง คนที่สั่งการต้องออกมายอมรับผลที่จะตามมาในอนาคตและรับผิดชอบสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย" นายมานะ กล่าว

ขณะที่ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการด้านกลไกการปราบปรามการทุจริต สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นจากกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ว่าจะมีการนำเรื่องการให้ความช่วยเหลือทีวีดิจิทัล ให้ที่ประชุม คสช. พิจารณา ซึ่งเป็นเรื่องโยนหินถามทางมาก่อน 

ประธานทีดีอาร์ไอออกแถลงการณ์ ร่าย 'ความไม่สมเหตุสมผล' อุ้มผู้ประกอบการ 4G

ด้านนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ แสดงความเห็นว่า ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีให้แนวนโยบายในการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และการขอยืดจ่ายเงินค่าประมูลคลื่น 4G ของเอไอเอสและทรูว่า ให้คำนึงถึงหลักการ 2 ประการ คือ 1. ต้องให้เอกชนสามารถประกอบธุรกิจได้ ไม่กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่ทั้งนี้เอกชนต้องยอมรับความจริงเรื่องความเสี่ยงทางธุรกิจและ 2. ต้องไม่ให้ผลประโยชน์ของรัฐเสียหาย

ซึ่งถ้อยแถลงดังกล่าวชี้ว่า นายกฯ สามารถจับประเด็นประโยชน์สาธารณะในเรื่องดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง แต่กลับมีข่าวว่า เลขาธิการ กสทช. ยังพยายามเตรียมเสนอรัฐบาลให้ "อุ้ม" เอไอเอสและทรูในแนวทางที่แตกต่างจากหลักการที่กล่าวมาข้างต้น โดยอ้างข้อมูลและตรรกะที่แปลกประหลาดอย่างยิ่ง และยืนยันที่จะเสนอให้รัฐบาลยืดเวลาการจ่ายค่าประมูลคลื่น 4G งวดสุดท้ายออกไป โดยอ้างว่าจะทำให้รัฐบาลมีรายได้ประมาณ 3,600 ล้านบาทจากดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 ตามอัตราของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แทนที่จะปล่อยให้ผู้ประกอบการ 2 รายไปกู้ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้รัฐไม่ได้รายได้ดังกล่าว

ทั้งที่ รัฐบาลน่าจะมีรายได้จากการประมูลคลื่น 4G ย่าน 1800 เฮิร์ซ ที่จะจัดขึ้น เป็นเงินกว่า 1.2 แสนล้านบาท เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่า เอไอเอสและทรูจะเข้าร่วมประมูลด้วย แต่รัฐอาจไม่ได้รายได้ดังกล่าว หากไม่ยืดเวลาการจ่ายค่าประมูลคลื่น 4G งวดสุดท้าย และที่กล่าวว่า ข้อเสนอของเลขาธิการ กสทช. แตกต่างจากแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรี และอยู่บนข้อมูลและตรรกะที่แปลกประหลาดอย่างยิ่ง ก็ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ 

หนึ่ง ผู้ประกอบการทั้งสองรายทั้งเอไอเอสและทรู ไม่ได้มีปัญหาในการประกอบธุรกิจแต่อย่างใด

สอง ผลประกอบการที่ดีดังกล่าว นักลงทุนจึงยังคงมีความเชื่อมั่นต่อทั้ง 2 บริษัท ซึ่งสะท้อนจากมุมของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์หลายรายที่ระบุว่า ฐานะทางการเงินของทั้ง 2 บริษัทยังแข็งแกร่ง แม้รัฐบาลจะไม่ยืดเวลาจ่ายเงินค่าประมูลคลื่น แต่ที่สำคัญกว่า คือการที่รัฐบาลเปลี่ยนแปลงนโยบาย กฎกติกาหรือเงื่อนไขที่ออกมาแล้ว อันเป็นผลจากการเรียกร้องของผู้ประกอบการบางรายโดยไม่มีเหตุผลอันควร จะมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อภาพลักษณ์ของประเทศ เพราะเป็นการส่งสัญญาณว่า ประเทศไทยไม่มีหลักการที่ชัดเจน สามารถต่อรองได้หากมีเส้นสาย ซึ่งจะทำให้นักลงทุนที่ประกอบธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา ลังเลที่จะมาลงทุนในประเทศไทย  

สาม เอกชนต้องยอมรับความเสี่ยงปรกติทางธุรกิจ เพราะในระบบตลาดเสรี ย่อมไม่มีหลักประกันใดๆ ว่า ผู้ประกอบการจะต้องได้รับกำไรเสมอไป เพราะการประกอบธุรกิจทั้งหลายย่อมมีความเสี่ยงทางธุรกิจตามปกติ (normal business risk) ซึ่งเอกชนจะต้องแบกรับเอง  รัฐไม่ได้มีหน้าที่ช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการทุกรายให้ไม่ขาดทุน หากสาเหตุของการขาดทุนนั้นไม่ได้มาจากรัฐหรือกฎระเบียบของรัฐ (regulatory risk)

สี่ ผลประโยชน์ของรัฐต้องไม่เสียหาย เพราะเงื่อนไขการประมูลกำหนดไว้ชัดเจนว่า หากชำระค่าประมูลล่าช้าจะต้องจ่ายดอกเบี้ยที่อัตราร้อยละ 15 ไม่ใช่ร้อยละ 1.5 ที่เลขาธิการ กสทช. เสนอ ซึ่งส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวในกรณีนี้คิดเป็นเม็ดเงินสูงถึงประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งหมายความว่า หากรัฐบาลทำตามข้อเสนอของ กสทช. ก็จะเป็นการยกผลประโยชน์มหาศาลให้เอกชนทั้งสอง  

ห้า การเข้าร่วมประมูลคลื่นในอนาคต จากที่ เลขาธิการ กสทช. อ้างว่า การขยายเวลาผ่อนชำระค่าประมูล จะช่วยให้รัฐได้รายได้จากการประมูลคลื่น 1800 MHz มากขึ้น เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่า เอไอเอสและทรู จะเข้าร่วมประมูลด้วย และจากแถลงการณ์ของเอไอเอสและทรูก็ไม่ได้ระบุเลยว่า จะเข้าประมูลรอบใหม่หากได้รับการผ่อนชำระค่าประมูล  

อีกทั้ง รัฐบาลและ กสทช. ไม่ควรคาดหวังว่า การประมูลคลื่น 1800 MHz ในอนาคตจะต้องได้ค่าประมูลสูงเท่ากับที่ผ่านมา เนื่องจาก ในช่วงก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการ 2 รายคือ เอไอเอสและทรู ได้ประมูลคลื่นไปจำนวนหนึ่งแล้ว จึงอาจไม่ต้องการประมูลคลื่นเพิ่มเติมอีกมาก (นอกจากเพื่อกีดกันคู่แข่ง) รายได้จากการประมูลคลื่นรอบใหม่นี้จะมากหรือน้อยจึงควรเป็นไปตามอุปทานและอุปสงค์ ภายใต้การออกแบบการประมูลที่ดี โดยไม่ต้องพยายามบิดเบือนให้ได้ราคามากหรือน้อย

นายสมเกียรติ ระบุด้วยว่า แม้นายกฯ จะสามารถจับประเด็นประโยชน์สาธารณะในเรื่องดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง แต่เลขาธิการ กสทช. ยังพยายามชักจูงรัฐบาลให้ “อุ้ม” ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือไปในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะพิจารณาในแง่มุมใดๆ รัฐบาลจึงควรตัดสินใจอย่างมั่นคงบนผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ปล่อยให้กลุ่มผลประโยชน์เข้ามามีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง