ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นสพ.เอกภพ ทองสวัสดิ์ ปศุสัตว์เขต 3 , นสพ.ประเสริฐ สรรเพชุดาญาณ ปศุสัตว์จังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วย ปศุสัตว์อำเภอเมืองสุรินทร์ สาธารณสุขอำเภอเมืองสุรินทร์ และนายก อบต.บุฤาษี ลงพื้นที่ฟาร์มเลี้ยงโค ของ นายถวัลย์ โชติช่วง ที่ ต.บุฤาษี อ.เมือง จ.สุรินทร์ หลังพบวัวเป็นโรคพิษสุนัขบ้าตาย 1 ตัว เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวัวพ่อพันธุ์ “ชาร์โรเลส์” อายุ 2 ปี สีขาว ทางปศุสัตว์อำเภอเมืองสุรินทร์ได้ตัดหัววัวไปตรวจที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จังหวัดสุรินทร์ แล้วพบว่า มีเป็นผลบวก หรือมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า
ทำให้ทีมสัตวแพทย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการกักวัวที่อยู่ในภายในฟาร์มคอกเดียวกันที่เหลืออยู่อีก 15 ตัว มีทั้งพันธุ์ชาร์โรเลส์ และพันธุ์บราห์มัน พร้อมสั่งห้ามไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายนำวัวออกนอกฟาร์มโดยเด็ดขาด จากการตรวจสอบของ เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดสุรินทร์ และเจ้าหน้าที่ ปศุสัตว์อำเภอเมืองสุรินทร์ พบว่า ฟาร์มวัวของ นายถวัลย์ โชติช่วง มีลักษณะเป็นฟาร์มกึ่งเปิดกึ่งปิด พร้อมกันนี้ยังได้อนุมัติวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจำนวน 2,000 โด๊ส เพิ่มเพื่อนำมาฉีดสุนัข แมว และวัวในพื้นที่บ้านผึ้ง รัศมี 1 ก.ม. เพื่อป้องกันเชื้อที่อาจแพร่ขยายออกไปในวงกว้างต่อไป
วัวในฟาร์มของนายถวัลย์ โชติช่วง
นายถวัลย์ โชติช่วง เจ้าของฟาร์มวัวที่ตาย กล่าวว่า วัวตัวที่ตายเป็นวัวพ่อพันธุ์ชาร์โรเลส์ อายุ 2 ปีกว่า ตนซื้อมาจากชาวบ้านในพื้นที่ ต.แกใหญ่ อ.เมือง จ.สุรินทร์ เมื่อ 3 เดือนก่อนในราคา 55,000 บาท ซึ่งจะนำมาขุนไว้ขายสิ้นเดือนนี้ในราคา 60,000 บาท แต่ไม่ทันได้ขายกกลับมาตายเสียก่อนด้วยอาการป่วย อ่อนเพลีย ก่อนล้มทั้งยืน แล้วชักกระตุก ตาค้าง น้ำลายไหล ก่อนตายเมื่อเวลาประมาณ 10.00 น.ของวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา ตนกู้เงิน SMEs มา 900,000 บาท และเงินส่วนตัวด้วยรวมกว่า 1,000,000 บาท ตนเหลือ วัว 18 ตัว ทุกตัวมีน้ำลายฟูมปาก เหมือนจะติดเชื้อ จะขายก็ไม่มีใครกล้ารับซื้อ ตนจึงขอวิงวอนผ่านสื่อถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความช่วยเหลือด้วย เพราะต้องกู้เงินเขามาเลี้ยง วัวมาตาย และติดเชื้อแบบนี้ ทางรัฐบาลจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง
ทั้งนี้ นสพ.ประเสริฐ สรรเพชุดาญาณ ปศุสัตว์จังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า ตนเป็นห่วงอย่างเดียวว่า คนที่มาสัมผัสจะไม่รู้ ซึ่งสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า ในพื้นที่ จ.สุรินทร์ หลังถูกประกาศให้เป็นเขตโรคระบาดสัตว์ชนิดโรคพิษสุนัขบ้ายกทั้งจังหวัด นั้น สถานการณ์เริ่มทุเลาลงแล้ว แต่เดือนนี้ (มี.ค) หลังจากตนพยายามเร่งให้ปศุสัตว์ทุกๆ อำเภอ เร่งตรวจสอบ ส่งหัวสุนัข แมว และวัวไปสุ่มตรวจหมด เพราะต้องการเพียงอย่างเดียว คือ ไม่ต้องการให้มีคนป่วยตายด้วยโรคพิษสุนัขบ้า เพราะฉะนั้น ถ้ามีเคสที่สงสัยต้องรีบส่งตรวจสอบโดยด่วน อย่างเดือนนี้ (มี.ค.) มีที่ตรวจอีกประมาณ 3-4 หัว พบมีผลเป็นบวก พบเยอะที่สุดในเขตพื้นที่อำเภอเมืองสุรินทร์
ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้มีข่าวเกี่ยวกับโรคที่เกิดในสัตว์หลายพื้นที่ โดยเฉพาะโรคพิษสุนัขบ้าและโรคอื่นๆ ในสัตว์ ซึ่งอาจติดต่อมาสู่คนได้หากมีการสัมผัสหรือนำมาปรุงอาหารรับประทาน เช่น โค กระบือ หมู แพะ แกะ หรือสัตว์ปีก เป็นต้น กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำประชาชนว่า หากพบสัตว์เลี้ยงตายหรือป่วยตายผิดปกติ โดยเฉพาะการตายที่เกิดจากสุนัขกัดหรือสัตว์ล้มป่วยตายกระทันหัน อย่านำสัตว์ดังกล่าวมาชำแหละปรุงเป็นอาหารรับประทานเด็ดขาด โดยเฉพาะการปรุงอาหารแบบสุกๆ ดิบๆ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่อาจติดโรคได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสซากสัตว์ป่วยตายผิดปกติ และควรรีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที
นอกจากนี้ อีกโรคสำคัญที่อาจพบในสัตว์ป่วยตายได้ คือ โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นในสัตว์กินหญ้าแทบทุกชนิด ทั้งสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ แพะ หรือแกะ โดยสัตว์ติดเชื้อจากการเล็มหญ้าที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส แอนทราซิส เข้าไป เชื้อโรคนี้จะทำให้สัตว์ป่วยและตายอย่างรวดเร็ว โรคแอนแทรกซ์สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คน จากการสัมผัสทางผิวหนังที่มีบาดแผล หรือติดต่อจากการหายใจ หรือผ่านการกินเนื้อสัตว์ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป ผู้ป่วยจะมีอาการตามลักษณะการติดต่อ เช่น การติดเชื้อที่ผิวหนัง อาการจะเป็นผื่นนูน คัน แต่ไม่เจ็บ ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นตุ่มพุพองแล้วแตกเป็นแผลแดงนูน ซึ่งต่อมาเกิดเป็นสะเก็ดสีดำ และเกิดเป็นแผลเนื้อเน่าตายได้ ,การติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร จะมีไข้ ปวดมวนท้อง คลื่นไส้ อาเจียน คล้ายกับอาการของอาหารเป็นพิษ และ หากติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ จะมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว หายใจลำบาก ซึ่งหากเข้ารับการรักษาไม่ทัน หรือไม่ถูกต้อง อาจทำให้เสียชีวิตได้