นายวิเชียร ชิดชนกนาถ รองอธิบดีกรมการปกครอง ฝ่ายการทะเบียนและเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า อธิบดีกรมการปกครองได้เซ็นรับรองคุณสมบัติมีสิทธิขอสัญชาติไทยของนายหม่อง ทองดี อายุ 21 ปี บุคคลไร้สัญชาติแล้ว ด้วยเงื่อนไขพิเศษทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ จากการเป็นตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับ ที่ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2552
ส่วนขั้นตอนการได้สัญชาติไทยต่อจากนี้ นายหม่องสามารถยื่นคำร้องต่อที่ว่าการอำเภอ ในจังหวัดเชียงใหม่ได้ และอำเภอจะเป็นผู้ตรวจสอบข้อมูลว่านายหม่องเกิดที่ประเทศไทยหรือไม่ เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบประวัติอาชญากรรมกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน เมื่อเอกสารครบถ้วน ก็จะพิจารณาเพื่ออนุมัติให้สัญชาติไทยซึ่งจะเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พิจารณาไม่เกิน 120 วันตามกฎหมาย เนื่องจากนายหม่องอายุเกิน 18 ปีแล้ว
ย้อนไปเมื่อเดือนกันยายน 2552 หรือ 9 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัญญาว่าจะช่วยให้ได้สัญชาติไทย แต่พอเปลี่ยนรัฐบาล เรื่องราวการให้สัญชาติไทยแก่นายหม่องก็เงียบหายไป กระทั่งเกิดเหตุการณ์ที่กระทรวงมหาดไทยอนุมัติให้ นายเอกพล จันทะวงษ์ หรือ โค้ชเอก และ 3 เยาวชนทีมหมูป่าที่ติดอยู่ในถ้ำหลวงวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ได้รับสัญชาติไทยเมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา เรื่องของนายหม่องก็ถูกสังคมนำมาเปรียบเทียบอีกครั้ง
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม นางสาววิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการไทยพีบีเอส ได้ออกหนังสือรับรองการทำคุณประโยชน์ถึงอธิบดีกรมการปกครอง โดยแนบหนังสือสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ และหนังสือโครงการบางกอกคลีนิกนิติธรรมศาสตร์ ขอให้ ส.ส.ท. ออกหนังสือยืนยันให้กับนายหม่อง ในการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยวิทยากรการอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายภาพโดยอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) และร่วมถ่ายภาพในรายการหนูน้อยเจ้าเวหา ให้กับ ส.ส.ท.
ขณะเดียวกัน นายอภิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และ ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ปี 2551-2553) ได้ออกหนังสือรับรองถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขอรับรองการทำคุณประโยชน์แก่ประเทศไทย ขณะอายุ 12 ปี ได้รางวัลชนะเลิศการแข่งขันร่อนเครื่องบินกระดาษพับชิงแชมป์ประเทศไทย ที่จัดโดยศูนย์เทคโนโลยีและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับสมาคมเครื่องบินกระดาษพับ และ Japan Origami-Airplane (JOAA) และได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันร่อนเครื่องบินกระดาษพับ ที่จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2552 โดยได้รับรางวัลอันดับ 3 ประเภทบุคคล รุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี และรางวัลชนะเลิศในประเภททีมผสม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: