ไม่พบผลการค้นหา
งานวิจัยล่าสุดเปิดเผยว่า คนที่เลิกดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงวัย 35 – 55 ปี เสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมสูงกว่าคนที่ดื่มอย่างพอดี แต่หากดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปก็เสี่ยงสมองเสื่อมได้เช่นกัน

นิตยสารวิชาการ British Medical Journal ตีพิมพ์ผลการวิจัยล่าสุด พบว่า คนที่เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวัย 35 – 55 ปี มีความเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อม (dementia) สูงกว่าคนที่ดื่มอย่างพอดีถึงร้อยละ 45 และคนที่ยังไม่เลิกดื่ม แต่ลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ลงไปอย่างมากก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน

การวิจัยนี้ ติดตามพฤติกรรมการดื่มของข้าราชการของกระทรวงสาธารณสุขอายุตั้งแต่ 35 – 55 ปี ที่อาศัยอยู่ในกรุงลอนดอนมากกว่า 9,000 คน ตั้งแต่ช่วงปี 2528 – 2536 จากนั้น ได้ติดตามผลตรวจสุขภาพของแต่ละคนเป็นเวลานานเฉลี่ย 23 ปี และพบว่ามีคนที่เป็นโรคสมองเสื่อมทั้งสิ้น 397 คน

ทีมนักวิจัยชาวอังกฤษและฝรั่งเศสอธิบายว่า คนที่เลิกดื่มแอลกอฮอล์อาจมีความเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมมากกว่า และมีสาเหตุมาจากการที่คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคจำพวกคาร์ดิโอเมตาบอลิก เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน

การวิจัยครั้งนี้ระบุว่า ปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์อย่างพอดีคือการดื่ม 1 – 14 หน่วยต่อสัปดาห์ โดยเครื่องดื่มแอลกอฮอล 14 หน่วยเทียบเท่ากับเบียร์ประมาณ 6 แก้ว

อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยยังระบุว่า คนที่ดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 14 หน่วยต่อสัปดาห์ มีความเสี่ยงสูงและทุกๆ 7 หน่วยต่อสัปดาห์ที่เพิ่มขึ้น ก็ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงโรคสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นร้อยละ 17

ดร.ซาราห์ อิมาริซิโอ หัวหน้าทีมวิจัยจาก Alzheimer’s Research UK แสดงความเห็นว่า การศึกษานี้ติดตามพฤติกรรมการดื่มในช่วงวัยกลางคนเท่านั้น โดยที่ไม่มีข้อมูลพฤติกรรมการดื่มในช่วงวัยรุ่นถึงวัยทำงาน ซึ่งพฤติกรรมการดื่มในช่วงดังกล่าวอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมได้

พร้อมกับยกตัวอย่างว่า คนที่เลิกดื่มแอลกอฮอล์อย่างสิ้นเชิง อาจเคยเป็นคนที่ดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักมาก่อน ซึ่งทำให้เป็นเรื่องยากที่จะตีความเชื่อมโยงระหว่างการดื่มในช่วงวัยกลางคนกับสุขภาพยามสูงวัย ดังนั้น การศึกษาวิจัยในอนาคตจะต้องศึกษาพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ตลอดชีวิต ซึ่งอาจช่วยไขข้อข้องใจเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างแอลกอฮอล์กับโรคสมองเสื่อมได้

ภาพ Photo by Yutacar on Unsplash