สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ กว่า 15,364 คน จาก 184 ประเทศทั่วโลก ร่วมกันลงชื่อในจดหมายเตือนภัยถึงมนุษยชาติ เพื่อให้รัฐบาลและประชาชนทั่วโลกตระหนักถึงความร้ายแรงของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และจดหมายดังกล่าวถูกเผยแพร่ในวารสารด้านวิทยาศาสตร์ BioScience เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
นายวิลเลียม ริพเพิล นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยโอเรกอนของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้นำการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมจนนำไปสู่การเขียนจดหมายเตือนภัย ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 1970 (พ.ศ.2503) เป็นต้นมา ทั่วโลกปล่อยก๊าซคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นร้อยละ 90 โดยร้อยละ 78 เป็นก๊าซคาร์บอนที่เกิดจากการใช้พลังงานถ่านหินในระบบอุตสาหกรรมต่างๆ และที่เหลือเกิดการใช้พลังงานในชีวิตประจำวัน เช่น การใช้รถยนต์และการใช้ก๊าซหุงต้มในครัวเรือน
ก๊าซคาร์บอนที่เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนและสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ โดยหลักฐานสำคัญที่เป็นตัวบ่งชี้ว่าสิ่งแวดล้อมโลกกำลังประสบปัญหาใหญ่ ได้แก่ การพบเขตทะเลมรณะ (Dead Zone) หรือพื้นที่ในมหาสมุทรและแหล่งน้ำธรรมชาติที่สัตว์น้ำต่างๆ ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ ประมาณ 405 จุดในแถบทวีปอเมริกา ญี่ปุ่น จีน และทางตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 75 เมื่อเทียบกับผลสำรวจเมื่อ 25 ปีที่แล้ว
นอกจากนี้ ผลวิจัยยังพบว่าสถิติการตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลกตั้งแต่ปี 1990-2015 ทำให้โลกสูญเสียพื้นที่ป่ามากกว่า 1.29 ล้านล้านตารางเมตร และสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ลดลงถึงร้อยละ 29 เช่นเดียวกับแหล่งน้ำจืดทั่วโลกที่ลดลงอีกร้อยละ 26 ทำให้ประชาชนขาดแคลนแหล่งน้ำสะอาดเพื่อใช้อุปโภคบริโภค และอาจนำไปสู่สงครามแย่งชิงแหล่งน้ำในอนาคตได้ โดยเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ย้ำว่า "มนุษยชาติและธรรมชาติกำลังขัดแย้งกันอย่างรุนแรง" ถ้าหากยังไม่หยุดสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม อนาคตของมนุษยชาติก็จะตกอยู่ในอันตรายเช่นกัน เพราะโลกจะถูกทำลายจนไม่อาจเยียวยาได้
จดหมายเตือนภัยจากนักวิทยาศาสตร์ถึงมนุษยชาติครั้งนี้เป็นฉบับที่ 2 ส่วนฉบับแรกเผยแพร่เมื่อปี 1992 โดยการผลักดันของสหภาพนักวิทยาศาสตร์ผู้ห่วงใย (UCS) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักวิทยาศาสตร์หลากหลายสาขา รวมกว่า 1,500 คนทั่วโลก ขณะที่จดหมายเปิดผนึกถึงมนุษยชาติฉบับแรกเป็นการเตือนให้รัฐบาลทั่วโลกตระหนักถึงผลกระทบจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชนหลายแห่งทั่วโลก และ 25 ปีผ่านไป สิ่งที่เคยกล่าวถึงในจดหมายฉบับแรกก็เป็นความจริงมากกว่าครึ่ง
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน สำนักข่าวดอยช์เวลล์ของเยอรมนีรายงานด้วยว่า คณะผู้เชี่ยวชาญและนักวิทยาศาสตร์ที่เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) ครั้งที่ 23 ที่เมืองบอนน์ของเยอรมนี ประเมินว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศทั่วโลกภายในสิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับปริมาณก๊าซคาร์บอนฯ ที่ถูกปล่อยออกมาช่วงปี 2014-2016 ซึ่งมีปริมาณคงที่มาตลอด
กอรินน์ เลอ เกอร์ นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลียของอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้รวบรวมข้อมูลดังกล่าวเตือนว่า ก๊าซคาร์บอนที่เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศจะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง เช่นเดียวกับอุณหภูมิน้ำทะเลและระดับน้ำทะเลก็จะสูงขึ้นเช่นกัน และภาวะโลกร้อนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พายุเฮอริเคนหรือภัยพิบัติทางธรรมชาติในหลายพื้นที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและประชาชนที่ต่อต้านการใช้พลังงานถ่านหินรวมกว่า 10,000 คนได้รวมตัวกันที่เมืองบอนน์ เพื่อเดินขบวนเรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมนียกเลิกการใช้พลังงานถ่านหินโดยเด็ดขาด ส่วนที่เมืองโคโลญจ์ก็มีการปั่นจักรยานรณรงค์ให้สังคมเยอรมันตระหนักถึงปัญหาโลกร้อน โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวประมาณ 1,000 คน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ความร่วมมือแก้โลกร้อน จีน-ยุโรป สะดุดเพราะเห็นต่างด้านการค้า