"ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มองเห็นอยู่แล้ว และวันนี้ต้องมาถึง วันที่คสช.จะสืบทอดอำนาจของตนเอง ขอชักชวนให้ประชาชน มาร่วมกันหยุดภารกิจสืบทอดอำนาจคสช. หรือหากจะให้ถูกต้อง ต้องเรียก หยุดสืบทอดอำนาจเผด็จการ ไม่มีการแก้ไข แก้ไขไม่ได้ ฉีกเลย ล้ม"
วาทะเปิดตัว นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากการแถลงข่าวตอบข้อซักถามสื่อมวลชนครั้งแรกในฐานะหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ อย่างตรงไปตรงมาตามสไตล์ คนรุ่นใหม่หัวก้าวหน้า ผู้ไม่สยบยอมต่ออำนาจนอกวิถีทางประชาธิปไตย ที่อาคารยิมเนเซียม 5 ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา
ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนถึงทำเนียบรัฐบาล ศูนย์บัญชาการรัฐบาลทหาร นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายก กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ต้องออกโรงฮึ่ม ขู่ใช้มาตรการทางกฎหมายในกำมือฟาดฟัน
เช่นเดียวกับ เนติบริกรมือพระกาฬ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่ายกฎหมาย ถึงกับชีดเส้นใต้คำว่า "ฉีก" ว่ารุนแรงก้าวร้าว วันนี้อาจไม่ผิด...แต่วันหน้าไม่แน่
ก่อนสถานการณ์จะร้อนแรงขึ้น เมื่อแนวร่วมฝ่ายการเมืองเริ่มปรากฎ เมื่อ วัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ประกาศกร้าวร่วมด้วยขอช่วยฉีก สอดรับกับ วราวุธ ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ก็ชูกระแสธงเขียว ผลงานสำคัญของ บิดาอย่าง บรรหาร ศิลปอาชา ในการขับเคลื่อนตั้ง ส.ส.ร. 40 จนได้รับฉายาว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
'วอยซ์ออนไลน์' ชวนสนทนากับ นักรัฐศาสตร์และนักกฎหมายมหาชน เพื่อร่วมให้แง่มุมหลักการอย่างรอบด้าน
เริ่มจาก บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของงานวิจัย "ชีวประวัติรัฐธรรมนูญการปกครองและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2475 - 2520" เท้าความให้เห็นหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญว่า รัฐธรรมนูญคือสัญญาประชาคม ระหว่างประชาชนผู้อยู่ใต้อำนาจการปกครอง เราจึงพูดถึงหรือถามหา การร่างรัฐธรรมนูญที่ยึดโยงกับประชาชนมาโดยตลอด ซึ่งการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด
เขายกตัวอย่างให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2489 จุดประสงค์แรกก็ต้องการแก้ไขบางมาตรา เมื่อคณะกรรมาธิการลงมือแก้ไขก็พบว่า ควรแก้ทั้งฉบับจะดีกว่า หรืออย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 ด้วยการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ จนนำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ก็ทำให้การเมืองไทยมีพัฒนาการก้าวหน้าอย่างไม่เคยมีมาก่อน ฉะนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ก็สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้า เปลี่ยนโฉมการเมืองไทย ไม่ใช่นำไปสู่สิ่งไม่ดี
นักรัฐศาสตร์ อธิบายต่อว่า ต้องอย่าเพิ่งอ่อนไหวกับสัมบัติสำนวนที่นายธนาธรใช้คำว่า 'ฉีก' เพราะในกระบวนการของทหารที่ยึดอำนาจเข้ามาก็ฉีกเหมือนกัน ซึ่งตามหลักการแล้ว หากเห็นว่า รัฐธรรมนูญมีปัญหาหรือมีข้อบกพร่อง ผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งตามวิถีทางประชาธิปไตย ก็ย่อมจะนำเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
"มันคือเรื่องปกติที่พรรคการเมืองพรรคหนึ่ง จะมีเจตนารมณ์ อันถือเป็นสิทธิเสรีภาพที่พึงมี ตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งการเลือกตั้งก็ยังไม่ได้เกิดขึ้น ยังต้องรอการตัดสินใจจากประชาชนก่อน ยิ่งตอนนี้หลายพรรคการเห็นด้วย ก็จะช่วยให้สามารถสร้างกระแสสังคมให้เห็นพ้องต้องกันได้ ก็ยิ่งเป็นเรื่องดีที่มี ฉันทามติ (consensus) ร่วมกัน ในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง"
สำหรับท่าทีจากผู้มีอำนาจรัฐ เขามองว่า ทางฝั่ง คสช.เอง ต้องอย่าเพิ่งหวั่นไหว อย่ามองความมั่นคงในอำนาจของตัวเองป็นสำคัญ สิ่งที่ผู้มีอำนาจควรให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการในตอนนี้ คือจัดการเลือกตั้ง เพื่อกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย ที่เสรีและเป็นธรรม เพราะสิ่งที่ คสช.กำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้คือ วิกฤติความชอบธรรม ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ยาวนานยิ่งกว่าวาระตามรัฐบาลปกติที่มาจากการเลือกตั้ง
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ คสช.ออกอาการกังวลต่อกับกระแสข่าวการรื้อรัฐธรรมนูญนั้น นักวิจัยรัฐธรรมนูญ วิเคราะห์ว่า คงเป็นเพราะธรรมชาติของขาลง สิ่งที่รัฐบาลควรทำตอนนี้คือสร้างการเปลี่ยนผ่านทางอำนาจให้กลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว และหากจะมีการใช้เทคนิคทางกฎหมาย การใช้คำว่า ฉีก มาเป็นเหตุเพื่อนำไปสู่การยุบพรรคอนาคตใหม่ ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะอนาคตใหม่ไม่ได้ทำอะไรผิด
"ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ จะร่างใหม่มีฉบับที่ 21 ก็ไม่น่าจะเป็นอะไร สังคมที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงคือ ธรรมชาติของสังคมประชาธิปไตย อันถือเป็นการยืนยันในสิทธิและเสรีภาพตามกระบวนการทางกฎหมาย ไม่ได้จับปืนมาล้มรัฐบาลเสียเมื่อไร" บัณฑิต ระบุ
ขณะที่นักกฎหมายมหาชน จาก ม.เชียงใหม่ อย่าง นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล ก็ให้มุมมองที่สอดคล้อง ไล่ตั้งแต่การใช้คำของนายธนาธร โดย 'สมชาย' มองว่า การใช้คำว่าฉีกของนายธนาธร ทำให้ภาพออกมาดูราวกับว่า เป็นการใช้อำนาจนอกวิถีทางตามรัฐธรรมนูญที่ไม่มีไปกระทำการ แต่ทุกคนก็เข้าใจความหมายของคำว่าฉีกจากนายธนาธรดี ว่าเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย ไม่ได้ฉีกแบบคณะรัฐประหารที่เข้ามายึดอำนาจ หากเปลี่ยนมาใช้คำว่า การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ จะเหมาะสมกว่า
ต่อท่าทีที่ขึงขังจาก คสช.นั้น อาจารย์สมชาย มองว่า ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่คสช.ต้องออกโรงปราม และ กรธ.ผู้ร่าง ต้องโดดออกมาปกป้อง ก็เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 วางกลไกให้ สถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่มีอำนาจเต็ม พร้อมทั้งปูทางให้ระบบราชการ และคสช. ยังคงอำนาจไว้ นี่จึงเป็นสิ่งที่ผูู้มีอำนาจกลัว หากการณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง อนาคตทางการเมืองของคสช. ก็จะถูกสั่นคลอน สุ่มเสี่ยงที่จะถูกเขี่ยพ้นเส้นทางการเมืองออกไปอย่างเร็ววัน
“ตอนนี้ คสช.อยู่ในสถานะที่เปราะบางมาก แม้มีอำนาจเต็มมือ แต่แรงสนับสนุนจากหลายภาคส่วนก็ลดต่ำลง หากตัดสินใจขยับรับมือต่อสถานการณ์ไม่ดี ความชอบธรรมก็จะยิ่งลดต่ำลงอีก โดยเฉพาะหากมีการเล่นงาน อนาคตใหม่ กับ เพื่อไทย ต่อให้คสช.กลับมาเป็นรัฐบาลได้อีก ก็คงอยู่ได้ไม่นาน ทั้งหมดขึ้นกับคสช.เองว่า มองเห็นความจริงทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน”
นักกฎหมายมหาชน ทิ้งท้าย
ไม่ว่าผลการขับเคลื่อนรณรงค์รื้อถอนรัฐธรรมนูญ 2560 จะเป็นอย่างไร
แต่ช่วงเวลานับถอยหลังปีสุดท้าย เพื่อมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้งต้นปี 2562 จังหวะก้าวของพรรคอนาคตใหม่ ได้ทิ้งประเด็นอันแหลมคม เริ่มต้นที่ 'กฎหมายแม่' กระชุ่นให้ประชาชนเริ่ม 'ตื่นตัว' ขึ้นมาอีกครั้งแล้ว และจะประจักษ์ชัดเมื่อเห็นผลการเลือกตั้ง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง