ไม่พบผลการค้นหา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเผยมีการลงนามระหว่างภาครัฐ-กลุ่มสนับสนุน-กลุ่มคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในสงขลา-กระบี่ เพื่อทำรายงานประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หากผลการศึกษาพบ 'ไม่เหมาะสม' พร้อมยกเลิกก่อสร้างทันที

นายศิระ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รายงานความคืบหน้าต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ขณะนี้มีการลงนามระหว่างภาครัฐและกลุ่มผู้คัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาในจังหวัดสงขลา และโรงไฟฟ้าในจังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2561 และลงนามกับกลุ่มผู้สนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2561 เพื่อดำเนินการจัดทำรายงานประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) โดยจะมีนักวิชาการที่เป็นที่ยอมรับจากทั้งสองฝ่ายเป็นผู้ร่วมดำเนินการ และมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนร่วมสังเกตุการณ์ด้วย โดยรายงานดังกล่าวจะวิเคราะห์ผลกระทบและความเป็นไปได้ ทั้งในอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา, จังหวัดกระบี่ และพื้นที่อื่นๆ ในภาคใต้

หากผลการรายงานดังกล่าวเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ จึงจะทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เพื่อเตรียมการสร้างโรงไฟฟ้าต่อไป แต่หากผลการรายงาน SEA พบว่าไม่เหมาะสมก็จะยกเลิกการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ดังกล่าวทันที

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2561 ที่ผ่านมา กลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินและเครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เดินทางมาชุมนุมยังหน้าองค์การสหประชาชาติ เพื่อเรียกร้องให้รัฐยุติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าว โดยออกแถลงการณ์เรื่อง "ปฏิบัติการปกป้องสองฝั่งทะเลจากถ่านหิน" เนื่องจากมีการเดินหน้าโครงการต่อและมีการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ที่ต้องอพยพจากที่อยู่อาศัย พร้อมประกาศอารยะขัดขืนขั้นสูงสุดด้วยการปักหลักชุมนุมและอดอาหาร 

โดยต่อมาเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2561 กลุ่มผู้ชุมนุมเก็บของเดินทางกลับบ้าน หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เข้าไปพูดคุยและลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันกับกลุ่มเครือข่ายต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งในขณะนั้น นายมัธยม ชายเต็ม ผู้ประสานงานเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน กล่าวว่า "วันนี้พอใจกับท่าทีของรัฐบาล และหลังจากนี้ พวกเราจะติดตามการดำเนินการตามข้อตกลงที่บ้าน" 

ถ่านหินเทพา

เหตุผลที่เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินต้องการให้ถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เพราะรายงานฉบับดังกล่าวให้ข้อมูลที่ผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง โดยมีการประเมินผลกระทบต่ำกว่าความจริง เช่น ระบุว่าจะมีการโยกย้ายผู้คนไม่มาก ทั้งที่จะทำให้เขาสูญเสียแหล่งทำมาหากินทางทะเล หรือการระบุว่า ในทะเลช่วงที่จะก่อสร้างโครงการไม่มีปะการัง ก็ไม่เป็นความจริง 

บันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างเครือข่ายฯ กับ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ และตัวแทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นั้นมีด้วยกัน 4 ข้อ คือ

  1. ถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ (ฉบับใหม่) ออกจากสำนักงานนโยบายและแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ภายใน 3 วัน นับตั้งแต่วันที่ลงนาม
  2. กระทรวงพลังงานจะดำเนินการให้มีการจัดทำรายงาน การประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อศึกษา จ.กระบี่ และ อ.เทพา จ.สงขลา โดยให้มีนักวิชาการที่เป็นกลางที่สองฝ่ายยอมรับร่วมกัน ซึ่งหากศึกษาพบว่าไม่เหมาะสมต้องต้องยุติการดำเนินการโครงการทั้ง 2 พื้นที่ โดยให้เวลาการจัดทำรายงาน SEA เสร็จสิ้นภายใน 9 เดือน และให้ผลการศึกษา SEA มีผลผูกพันต่อการดำเนินโครงการทั้ง 2 พื้นที่ ภายใน 7 วันหลังการลงนาม
  3. หากผลการศึกษา SEA ชี้ว่าพื้นที่มีความเหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะต้องจัดทำรายงาน EHIA โดยคนกลางที่ยอมรับร่วมกัน 
  4. ให้คดีความระหว่าง กฝผ.และเครือข่ายเลิกแล้วต่อกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: