พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า วันนี้ (13พ.ย.60)ได้เชิญ นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. และพล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานกรรมการ กยท. เข้าชี้แจงกรณีที่เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย หรือ สยยท. และเครือข่ายชาวสวนยาง ยื่นหนังสือเรียกร้องให้ปลดออกจากตำแหน่ง เนื่องจากบริหารงานผิดพลาด เกิดข้อสงสัยความไม่โปร่งใสในหลายเรื่อง จึงได้สั่งให้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ภายใน 7 วัน
ส่วนข้อเรียกร้องของตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มของนายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนปาล์มน้ำมันและสวนยางพาราแห่งประเทศไทย (คยปท.) ซึ่งเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปลดนายธีธัช และพล.อ.ฉัตรเฉลิม ออกจากตำแหน่ง เพราะบริหารงานล้มเหลวจากการประมูลยาง 310,000 ตัน
พร้อมเสนอให้แก้ปัญหาระบบการจัดการด้านการตลาดเพื่อแก้ปัญหาราคายาง และสนับสนุนการใช้ยางในประเทศ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 จากเดิมใช้อยู่ร้อยละ 14 และต้องมีอัตราการใช้ยางเพิ่มขึ้นเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 ต่อปี
อีกกลุ่ม คือ นายเขศักดิ์ สุดสวาท เลขานุการ เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับประเทศ เรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้ กยท. ถอนหุ้นออกจากบริษัท ร่วมทุนยางพาราไทย จำกัด วงเงิน 1,200 ล้านบาท และให้ตั้งบริษัทใหม่หรือร่วมหุ้นกับเกษตรกรชาวสวนยาง และให้ยึดราคายางตามราคาตลาดกลางอย่างเคร่งครัด รวมทั้งขอให้รัฐบาลผลักดันนโยบายการใช้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดการใช้ยางในประเทศมากขึ้น
ด้านนายสุรัตน์ เทือกสุบรรณ แกนนำเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับประเทศ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ตัวแทนสถาบันเกษตรสวนยางฯ มาจากทุกจังหวัด เพื่อให้ทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนชาวสวนยาง ยืนยันว่า กลุ่มนี้ไม่ได้มาไล่ รัฐมนตรีเกษตรฯ แต่ขอให้รัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหาจาก พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ว่า กยท.จะดูแลชาวสวนยางได้ทั่วถึง ทั้งนี้ การทำงาน 2 ปี ของบอร์ด กยท. และผู้ว่าฯ กยท. ไม่ตอบสนองการแก้ไขต่างๆ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรเข้าถึงยาก จัดการเรื่องยางล้มเหลว ทุกครั้งที่ประกาศราคายางจะปรับขึ้น แต่กลับลดลง เพราะอำนาจไปอยู่กับพ่อค้า
ขณะที่ นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) พร้อมตัวแทนเกษตรกรสวนยางภาคใต้ตอนบน ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องต่อ รัฐมนตรีเกษตรฯ ให้ปลดบอร์ดและผู้ว่าฯ กยท. พร้อมนำ 50,000 รายชื่อขับไล่บอร์ด กยท. ไปยื่นที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้นายกรัฐมนตรี ใช้มาตรา 44 สั่งให้ทุกหน่วยงานใช้ยางพารา เพื่อยกระดับราคาเพิ่มขึ้น