นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงขั้นตอนการทำไพรมารีโหวต ที่จะใช้คำสั่งม.44 คลายล็อกการเมือง โดยให้พรรคการเมืองตั้งกรรมการสรรหาผู้สมัคร 11 คน เพื่อหาผู้สมัครส่งให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองพิจารณา แทนการทำไพรมารีโหวตแบบเต็มรูปแบบ ว่ายังไม่ชัดเจนที่จะใช้วิธีนี้ แต่จะไม่ทำแบบที่เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลของกฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งต้องไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา45 และพบว่าวิธีการที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ยกร่างเสนอเข้าที่ประชุม สนช. ว่าไม่ขัดต่อมาตรา45 คือ ให้มีคณะกรรมการสรรหาในแต่ละพรรค
ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการ 11 คน มาจากตัวแทนกรรมการบริหารพรรค 4 คน มาจากสมาชิกพรรค 7 คน ไปพูดคุยกับสมาชิกในแต่ละเขต แต่ละจังหวัด และรวบรวมรายชื่อผู้สมัครทำเป็นบัญชีเสนอให้กรรมการบริหารพรรคพิจารณา ซึ่งถ้ามีความเห็นตรงกัน จะใช้เป็นบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.เพราะถือว่าผ่านการรับฟังความเห็นประชาชน ตามมาตรา 45 แล้ว แต่ถ้ากรรมการบริหารพรรคไม่เห็นด้วย จะส่งบัญชีรายชื่อให้กรรมการสรรหาไปสรรหาใหม่ แล้วส่งกลับมาให้กรรมการบริหารพรรคพิจารณาอีก ซึ่งหากไม่เห็นด้วยอีกให้ ประชุมร่วมระหว่างกรรมการบริหารพรรคกับกรรมการสรรหา 11 คน ให้ลงคะแนนลับ เพื่อเป็นมติบัญชีรายชื่อผู้สมัครของพรรคการเมืองนั้นๆ
โดยการทำไพรมารีโหวต จะต้องทำช่วง 30 วัน ของ 90 วันก่อนบังคับใช้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เพราะ 60 วันแรก ต้องให้ กกต. แบ่งเขตการเลือกตั้ง และเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง 150 วัน จึงจะสามารถหาเสียงได้ ยืนยันเวลา 30 วันในการทำบัญชีรายชื่อเลือกตั้งทันการสมัครรับเลือกตั้ง เพราะทำพร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งบางพรรคอาจจะทำเตรียมไว้แล้ว แต่ยังตกลงไม่ได้ เพราะยังไม่แบ่งเขตที่ชัดเจน
'มีชัย' ยัน ม.44 คลายล็อกไม่ขัด รธน. ใช้เพื่อไพรมารีครั้งแรก
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุการใช้มาตรา 44 เพื่อคลายล็อกพรรคการเมืองว่า การออกคำสั่งดังกล่าวเป็นการหาแนวทางเพื่อให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินการตามกฎหมายพรรคการเมืองเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งได้ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเรื่องการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งแรก แต่รายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น ต้องรอดูคำสั่ง คสช. ที่จะออกมา ซึ่งคำสั่งดังกล่าวจะเป็นการใช้ สำหรับการเลือกตั้งครั้งแรก เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถดำเนินการให้เป็นไปตามโรดแมปการเลือกตั้งที่กำหนดไว้ได้ ซึ่งการออกมาตรา 44 นั้นไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ สามารถดำเนินการได้
'นพดล' แนะ คสช.ปลดล็อกห้ามชุมนุม เปิดทางพรรครับฟังความเห็นประชาชน
ด้าน นายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าตามข่าวที่ คสช. จะคลายล็อกให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ในบางเรื่อง แต่ยังไม่เปิดให้ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน เช่น ไปประชุม พบปะประชาชนเพื่อรับฟังความเห็นกลุ่มอาชีพต่างๆเพื่อจัดทำนโยบายได้ เนื่องจากยังไม่ยกเลิกคำสั่งที่ 3/58 สะท้อนว่าอาจยังไม่วางใจฝ่ายการเมือง ทั้งๆที่หลายปีที่ผ่านมาพรรคการเมืองต่างๆก็ไม่ได้เคลื่อนไหวหรือทำการใดที่จะกระทบความมั่นคง และ คสช. ก็พูดเองว่าสามารถดูแลให้เกิดความสงบได้ ดังนั้นถ้าคสช. เปิดพื้นที่ให้พรรคสามารถทำงานด้านนโยบายได้ก็จะช่วยให้บรรยากาศทางการเมืองกลับคืนสู่ปกติ ความเชื่อมันก็จะเกิดขึ้น
"การจะได้นโยบายที่ดีที่ตอบโจทย์ประเทศต้องให้เวลาพรรคการเมืองไปทำด้วย มิฉะนั้นการเลือกตั้งจะเทไปที่ตัวบุคคลมากเกินไป ขนาดแผนยุทธศาตร์ชาติและแผนปฏิรูปใช้เวลาร่างตั้งหลายปี แต่ให้เวลาพรรคการเมืองไม่กี่เดือนทำนโยบายจะพอหรือไม่ เวลาซื้อมือถือเขายังต้องเทียบสเปคของรุ่นและยี่ห้อต่างๆ นี่จะหย่อนบัตรใบเดียวเลือกทั้งคนและพรรคผู้เลือกจึงต้องให้ความสำคัญกับนโยบายด้วย หวังว่า คสช จะทบทวนแล้วปลดล็อก ไม่ใช่แค่คลายล็อกเท่านั้น" นายนพดล ระบุ
อ่านเพิ่มเติม