ไม่พบผลการค้นหา
เริ่มทำงานไปแล้วเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา โจทย์ใหญ่ที่รอรัฐมนตรีหน้าใหม่-หน้าเก่าคืออะไร?

การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งใหญ่เมื่อเดือนพฤศจิกายน เป็นสัญญาที่สะท้อนความนิยมที่ถดถอยของรัฐบาลคสช.ที่ยึดอำนาจจากการรัฐประหารมา 3 ปีกว่า แม้คีย์แมนรัฐบาลอย่างพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รองนายกรัฐมนตรีอย่างพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกโต้ว่ารัฐบาลไม่ได้อยู่ในสภาวะขาลง

ปัญหาความนิยมถดถอยแม้กระทั่งการปะทะกับกลุ่มความคิดที่เคยเป็นฐานสนับสนุนให้คสช.อย่างกรณี ปะทะจับกุมแกนนำผู้ชุมนุมโรงไฟฟ้าเทพา และการเสียชีวิตของนักเรียนเตรียมทหารที่ครอบครัวเคยสนับสนุนกปปส.มาก่อน จนกระแสสังคมเริ่มไม่เป็นมิตรกับรัฐบาลทหาร อะไรคือความท้าทายที่ครม.ประยุทธ์5ต้อเผชิญบ้าง?

ครม.ประยุทธ์5 คือโฉมหน้าเครือข่ายอนุรักษ์นิยม

ผู้สื่อข่าววอยซืทีวีได้พูดคุยกับ ดร. ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์สาขาวิชาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกระแสที่เรียกว่ารัฐบาลขาลงนั้นกระแสความไม่พอใจรัฐบาลมันมีอยู่ก่อนแล้วแต่กรณีจับกุมผู้ชุมนุมโรงไฟฟ้าเทพาและกรณีเสียชีวิจนักเรียนเตรียมทหาร ทำให้กลุ่มที่เคยสนับสนุนคสช.เริ่มระบายความอึดอัดออกมา

ษัษฐรัมย์มองว่าน่าจะเป็นครม.ชุดสุดท้ายของพล.อ.ประยุทธ์ก่อนจะไปสู่การเลือกตั้ง ความหมายที่แท้จริงก็คือการโชว์เครือข่ายที่เราเรียกว่า "คนดี" ที่ไม่จำกัดเพียงแค่กองทัพ แต่มีทั้งภาคเอกชนที่หนุนคสช. ภาคประชาสังคมที่หนุนคสช. รวมไปถึงข้าราชการที่ได้ดีเมื่อสนับสนุนคสช.ด้วย แต่ปัญหาคือการรัฐประหารคือการยึดเสียงของประชาชนหลายสิบล้านไปซึ่งคนที่ถูกลิดรอนสิทธิ์ก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือ คนที่ให้การสนับสนุนคสช.ก็เริ่มเห็นว่าเขาไม่ได้รับประโยชน์อะไร

เศรษฐกิจที่เป็นจุดอ่อนของคสช.กลับไม่ได้รับการแก้ไขเมื่อทีมงานดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์แทบไม่ไดปรับอะไรเลย ษัษฐรัมย์ชี้ว่าข้อจำกัดก็คือเมื่อโลกเป็นเศรษฐกิจแบบทุนนิยมจะมีประสิทธิภาพได้ดีสุดต่อเมื่อสังคมเป็นประชาธิปไตย ทีมงานดร.สมคิดอาจจะทำได้ดีที่สุดหรือเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของคสช.แล้ว แต่เชื่อว่ากลุ่มเทคโนแครตเหล่านี้จะทำได้แค่ประคองไม่ให้สถานการณ์แย่ลง

แต่สิ่งที่คสช.ไม่กล้าปล่อยมือก็คือโควตาฝ่ายความมั่นคง แม้จะเคยมีข่าวลือในการปรับษัษฐรัมย์มองว่า คสช.เองก็ไม่กล้าปล่อยมือเพราะการรัฐประหารปี2557 คือการแก้ไขในสิ่งที่รัฐประหาร2549 ผิดพลาดที่เร่งคืนอำนาจประชาชนไวไป

ส่วนกรณี ดร.วิวัฒน์ ศัลกำธร หรือ "อ.ยักษ์" ที่มาโควตาภาคประชาสังคม ษัษฐรัมย์มองว่าบทเรียนมีแล้วว่าภาคประชาสังคมไม่ได้แปลว่าเข้าใจประชาชน อย่างกรณีสมัยคมช.ตั้ง ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เข้ามาก็ไม่ได้มีผลงานอะไร แต่น่าสนใจถึงการสนับสนุนของกลุ่มตัวแทนแหล่งทุนภาคประชาสังคมในการผลักดันเข้ามาสู่จุดนี้ และอาจจะนำไปสู่การตั้งพรรคนอมินีแนว "คนดี"ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ษัษฐรัมย์ มองว่าไม่ต่างจากการตั้ง นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตผู้บริหารระดับสูงจากธนาคารกรุงเทพเข้ามาเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพราะเหมือนเป็นโควตาของทุนประชารัฐ ซึ่งรูปแบบประชารัฐนั้นย้อนยุคไปถึงสมัยสงครามเย็นที่บริษัทเอกชนมักจะเอาตัวไปผูกกับรัฐไว้

ท้ายสุดแล้วษัษฐรัมย์ชี้ว่าถึงจะปรับครม.อย่างไรก็ไม่เชื่อว่าจะทำให้ภาพรวมของประเทศไทยดีขึ้น นอกจากว่าจะเกิดปาฏิหาริย์ก่อนการเลือกตั้ง เช่น มีประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ย้ายฐานการผลิตมาประเทศไทยจำนวนมากๆ เพราะฉะนั้นการปรับครม.ครั้งนี้เป็นแค่การกระชับอำนาจภายในและแสดงเครือข่ายอำนาจเพียงเท่านัน