เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอเนื้อหาที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อใช้วิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาด หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไป แสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา
นางอิเมลดา มาร์กอส อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของฟิลิปปินส์ วัย 89 ปี ซึ่งได้รับเลือกเป็น ส.ส.มาแล้ว 3 สมัยติดต่อกัน ถูกศาลคดีทุจริตตั้งข้อหารวม 7 กระทง โดยแต่ละกระทงมีบทลงโทษจำคุกสูงสุดตั้งแต่ 6 ปี 1 เดือนไปจนถึง 11 ปี โดยเกี่ยวกับคดีทุจริตคอร์รัปชันในระหว่างที่ 'เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส' สามีของเธอ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เมื่อปี พ.ศ.2511 - พ.ศ.2529
เอกสารประกอบการไต่สวนของอัยการที่ยื่นต่อศาลพบว่า ครอบครัวมาร์กอสมีส่วนเกี่ยวข้องกับเงินกว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 6,600 ล้านบาทที่ถูกโอนไปให้องค์กรเอกชนในสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งตระกูลมาร์กอสจัดตั้งขึ้น
ศาลอนุญาตออกหมายจับนางอิเมลดา แต่ผู้สื่อข่าวไม่สามารถติดต่อเธอและครอบครัวได้นับตั้งแต่เมื่อวานนี้ (8 พ.ย.) เป็นต้นมา แต่ก็มีการรายงานว่า นางอิเมลดามีเวลา 15 วันในการยื่นประกันตัวและคัดค้านข้อกล่าวหาทั้งหมด ซึ่งมีแนวโน้มสูงว่าอดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 ของฟิลิปปินส์จะยังไม่ถูกพิพากษาความผิดในเร็วๆ นี้ แต่การถูกตั้งข้อหาและออกหมายจับจะทำให้เธอขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งในสภาผู้แทนราษฎร
">LOOK: Sandiganbayan 5th Division’s dispositive part of its decision finding Ilocos Norte Rep. Imelda Marcos guilty on seven counts of graft. She is sentenced to imprisonment for six to 11 years for each case | @anjocalimario
— CNN Philippines (@cnnphilippines) November 9, 2018
STORY: https://t.co/2mhOzKl1ey pic.twitter.com/0vUjVhVuyA
ในช่วงระยะเลา 21 ปีของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของนายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ทั้งเขาและภรรยาถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความหรูหราฟุ่มเฟือย รวมถึงการถ่ายโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารสวิส ก่อนที่ตระกูลมาร์กอสจะถูกกองทัพและประชาชนฟิลิปปินส์ร่วมกันขับไล่ลงจากอำนาจในปี พ.ศ.2529 และทั้งคู่หนีไปพำนักที่เมืองฮอนโนลูลู มลรัฐฮาวายในสหรัฐอเมริกา เป็นเวลาหลายปี
หลังการขับไล่ตระกูลมาร์กอส รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ยึดรองเท้ากว่า 1,100 คู่ รวมถึงเครื่องประดับ เสื้อผ้า และกระเป๋าของนางอิเมลดา ไปจัดแสดงไว้ในทำเนียบประธานาธิบดี เพื่อแสดงให้เห็นถึงความร่ำรวยของอดีตผู้นำและครอบครัวขณะที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช้ครั้งแรกที่นางอิเมลดาถูกตั้งข้อหาคอร์รัปชัน เมื่อปี พ.ศ. 2534 หลังจากที่เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ถึงแก่อนิจกรรม นางมาร์กอสได้เดินทางกลับมายังฟิลิปปินส์ และถูกศาลสั่งตัดสินจำคุก 9 -12 ปี ในข้อหาทุจริตคอร์รัปชัน แต่ศาลสูงของฟิลิปปินส์กลับคำตัดสินดังกล่าวเมื่อปี 2541 และเมื่อปี 2552 นางมาร์กอสก็ถูกจับกุมในข้อหาคอร์รัปชันอีกครั้ง แต่ศาลก็อนุญาตให้ประกันตัว และยังไม่มีการดำเนินคดีใดๆ จนถึงทุกวันนี้
นอกจากนี้ โรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนปัจจุบัน ยังมีความสนิทสนมใกล้ชิดกับครอบครัวมาร์กอส ทั้งยังอนุญาตให้มีการนำศพของเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส กลับมาฝังในสุสานวีรชนของฟิลิปปินส์เมื่อปี 2559 อีกด้วย แต่โฆษกของดูแตร์เตแถลงยืนยันวันนี้ (9 พ.ย.) ว่าการออกหมายจับนางอิเมลดา เป็นเครื่องชี้วัดว่า ปธน.ดูแตร์เตไม่ได้เข้าแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: