ไม่พบผลการค้นหา
ช่วงหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์ถูกโจมตีอย่างหนักว่า ไม่มีความรู้ความสามารถด้านนโยบายต่างประเทศ และอาจทำให้โลกวุ่นวาย สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นได้สรุปว่า 1 ปีของนายทรัมป์ ได้ทำให้ตะวันออกกลางเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรวบรวมผลการดำเนินงานของรัฐบาลนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่าภายใน 1 ปีแรกของการทำงาน ตะวันออกกลางเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง เนื่องจากตะวันออกกลางเป็นภูมิภาคที่มีปัญหาความขัดแย้งมากมาย จนเป็นโจทย์ยากสำหรับรัฐบาลทุกชุดของสหรัฐฯ

ซีเอ็นเอ็นวิจารณ์ว่า นายทรัมป์ได้ทำให้อิหร่านรุ่งเรืองขึ้นมาอีกครั้งโดยไม่ตั้งใจ จากการสัญญาในนามสหรัฐฯ ว่าจะให้ความสำคัญกับการปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายไอเอสเป็นอันดับแรก แต่กองทัพสหรัฐฯ ก็ยังไม่สามารถปราบกลุ่มไอเอสได้อย่างราบคาบ ในขณะเดียวกัน ก็ดำเนินนโยบายต่างประเทศที่สับสน ขัดแย้งกันเอง จนทำให้พันธมิตรของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางและโลกอาหรับรู้สึกไม่พอใจ จนไปเข้าทางศัตรูของสหรัฐฯ

เรื่องสำคัญมากที่นายทรัมป์ทำผิดพลาดอย่างร้ายแรงก็คือ การรับรองกรุงเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล แม้ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงและต่างประเทศจะเตือนแล้ว รวมถึงพันธมิตรอย่างซาอุดีอาระเบียและจอร์แดนก็ออกมาห้ามปราม

สุดท้าย ความดื้อดึงของนายทรัมป์ทำให้เกิดการประท้วงไปทั่วโลก ความรุนแรงปะทุขึ้นในพื้นที่ขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ผู้นำประเทศมุสลิมต่างประกาศว่า การตัดสินใจของนายทรัมป์ ทำให้สหรัฐฯ หมดคุณสมบัติในการเป็นตัวกลางเจรจาสันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ทันที และแม้นายทรัมป์จะวางให้นายจาเร็ด คุชเนอร์ ลูกเขยของเขารับผิดชอบเรื่องการเจรจาสันติภาพ แต่เขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งมูลนิธิระดมทุนให้ชาวอิสราเอลเข้าไปตั้งถิ่นฐานในเวสต์แบงก์ ซึ่งผิดกฎหมายระหว่างประเทศ

000_V99MD.jpg

พันมิตรของสหรัฐฯ อย่างซาอุดีอาระเบีย ก็กำลังเปลี่ยนแปลงพลวัตในโลกอาหรับไปค่อนข้างมาก แม้มกุฏราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมานจะพยายามผ่อนคลายกฎเกณฑ์ให้กลายเป็นประเทศมุสลิมสายกลางมากขึ้น แต่พระองค์ก็ทรงอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์วุ่นวายหลายอย่าง ทั้งสงครามกลางเมืองเยเมน การที่ 4 ชาติอาหรับตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์ ซึ่งเป็นประเทศมุสลิมสายกลางที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ นายทรัมป์ประกาศว่า นี่เป็นผลงานของเขาระหว่างการเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย จนทำให้กาตาร์หันไปคบกับอิหร่าน

นโยบายแข็งกร้าวต่ออิหร่านและการล้มดีลยุติโครงการพัฒนานิวเคลียร์อิหร่านของนายโอบามา โดยเฉพาะการที่นางนิกกี เฮลีย์ ทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติกล่าวหาว่า กลุ่มกบฏฮูธียิงขีปนาวุธที่ได้รับจากอิหร่านโจมตีซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐฯ อาจนำกองทัพบุกอิหร่าน ทำให้พันธมิตรใกล้ชิดในทวีปยุโรปก็ไม่ต้องการร่วมด้วย เพราะมองว่า สหรัฐฯ และซาอุดีอาระเบียกำลังก่อเรื่องขึ้นโดยไม่จำเป็น แต่เป็นการเล่นการเมืองภายในประเทศของนายทรัมป์เอง

อีกด้านหนึ่ง รัสเซียก็จับมือกับอิหร่าน แผ่อิทธิพลเข้าไปมีบทบาทในตะวันออกกลางมากขึ้น โดยเฉพาะในสงครามซีเรีย ที่นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้ยื่นมือไปช่วยนายบาชาร์ อัล-อัสซาด ประธานาธิบดีซีเรีย จนไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา นายปูตินก็เดินทางเยือนซีเรีย เพื่อประกาศถอนทัพออกจากซีเรีย เพราะสามารถกำชัยชนะเหนือกลุ่มไอเอสได้แล้ว