ไม่พบผลการค้นหา
บ่ายวันจันทร์ อากาศร้อนระอุ ณ โรงละครช้าง ซอยประชาอุทิศ 61 วอยซ์ออนไลน์พูดคุยกับ ‘พิเชษฐ กลั่นชื่น’ ศิลปินร่วมสมัยผู้เป็นฝันร้ายของแวดวงนาฏศิลป์ไทย หลังจากทราบข้อมูลว่า เขาเตรียมเปิดรอบการแสดง ‘พญาฉัททันต์’ ในกรุงเทพฯ อีกครั้ง

ตลอดระยะเวลา 2 ทศวรรษ ชื่อของพิเชษฐถูกสังคมไทยจดจารในฐานะนักแสดงโขนแหกขนบ คิดนอกกรอบ และชอบตั้งคำถามกับวัฒนธรรมไทย“การทำงานของผมเป็นการเรียนรู้ทำความเข้าใจร่างกาย ความคิดอารมณ์ ความรู้สึก จิตวิญญาณ และความเป็นมนุษย์” พิเชษฐบอกหลักการอันแน่วแน่ของตนเอง

จริงๆ แล้วพญาฉัททันต์ไม่ใช่การแสดงชุดใหม่แกะกล่องของพิเชษฐ จุดเริ่มต้นมันเกิดขึ้นเมื่อ 15 ปีก่อน จากความต้องการสร้างสรรค์ 'ละครใน' ให้หลากหลายมากกว่ารามเกียรติ์ อิเหนา และอุณรุท

ประเด็นหลักของพญาฉัททันต์เล่าเรื่องราวของพระพุทธเจ้าที่ถือกำเนิดชาติหนึ่งเป็นช้าง และเสียสละชีวิตตนเอง เพื่อยุติกงเกวียนกำเกวียน

ทว่า ความพิเศษของการแสดงประจำปี 2561 ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้น ณ ลานกลางแจ้งของช่างชุ่ย ในวันที่ 30 มิถุนายน 2561 พิเชษฐเลือกใช้ชื่อตอนตามสภาวการณ์ต่างๆ ของสังคมไทยว่า ‘ทรง 4.0’ เพื่อสะท้อนภาพวัฒนธรรมร่างทรง และวาทกรรมไทยแลนด์ 4.0

ภายในโรงละครขนาดกะทัดรัด ผู้ชายวัย 48 สวมเสื้อกล้ามธรรมดาสีดำสนิทเดินทางฝ่าแดดมาตรงตามเวลานัดหมาย เขาน่ังลงบนเก้าอี้หมายเลข 8 พร้อมเปิดฉากบทสนทนาเกี่ยวกับวัฒนธรรม ความเชื่อ ความจริง และการแสดงพญาฉัททันต์ในยุค 4.0 แบบตรงไปตรงมา

พิเชษฐ กลั่นชื่น 1.jpgพิเชษฐ กลั่นชื่น 10.jpg

ย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีก่อน อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้เริ่มต้นสร้างพญาฉัททันต์

ประเด็นช่วงนั้นคือ ‘เราจะสร้างศิลปะลักษณะคล้ายๆ กับละครในได้อย่างไร?’ เพราะละครในของประเทศไทยเล่นกันอยู่ 3 เรื่อง คือ รามเกียรติ์ อิเหนา และอุณรุท ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่น สังข์ทอง ไกรทอง ขุนช้างขุนแผน ก็เป็นละครนอก หรือละครผ่านทาง ผมรู้สึกอยากสร้างรูปแบบงานที่เป็นละครในอีกชิ้นหนึ่ง โดยไม่ใช่เรื่องเดิมๆ เลยสนใจประเด็นของพญาฉัททันต์ จึงสร้างมาเลียนแบบงานแบบเดิม

ตามเนื้อเรื่องคือ พญาฉัททันต์เป็นพระพุทธเจ้าที่ถือกำเนิดชาติหนึ่งเป็นช้าง แล้วท่านเสียสละชีวิตตัวเอง เพื่อยุติความแค้น กงกำกงเกวียนระหว่างตัวพญาฉัททันต์เองกับนางจุฬสุภัททา


ทำไมศิลปินไทยส่วนมากเวลาสร้างงานมักเริ่มต้น หรือจบลงด้วยพระพุทธศาสนา

ของผมมี 2 ชิ้น คือพญาฉัททันต์ และ Dancing With Death เหตุผลที่ศิลปินไทยหลายๆ สาขามักเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เนื่องมาจากพวกเขาปราศจากองค์ความรู้ โดยเฉพาะองค์ความรู้แบบเข้มแข็ง และจับต้องได้ในประเทศนี้ เมื่อเทียบเท่ากับปรัชญา หรือชุดความคิดของโลกในมุมอื่นๆ เลยอยู่แค่พุทธศาสนา คือวรรณกรรมก็ไม่แข็งแรง และการต่อสู้เองก็ไม่แข็งแรง

ข้อเสียคือ มันทำให้ศิลปินไทยมีวัตถุดิบน้อยมาก คนทำงานจึงไปไหนไม่รอด วนกันอยู่ซ้ำๆ ส่วนข้อดีของมัน ผมคิดว่า ทำให้คนพุทธได้กลับมาพิจารณามันอีกครั้งหนึ่ง หรือเปลี่ยนแปลงคำสอนที่เป็นเชิงพุทธศาสนาของพระ ออกสู่มิติอื่นๆ เช่น ศิลปะ การแสดง ภาพวาด ประติมากรรม และวรรณกรรม 


พอจำได้ไหมว่า แสดงพญาฉัททันต์มาแล้วกี่รอบ

ประมาณ 20 รอบ ไม่ใช่ในเมืองไทยอย่างเดียว ไปเล่นที่เดนมาร์ก เบลเยี่ยม และญี่ปุ่นด้วย เพราะพญาฉัททันต์เป็นงานที่พิเศษมาก คือเปลี่ยนสถานที่เล่นไปเรื่อยๆ แล้วมีความสุขกับการเปลี่ยนสถานที่ใหม่ และพญาฉัททันต์ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเล่นในโรงละคร

พิเชษฐ กลั่นชื่น 3.jpg

เรื่องพื้นที่มีส่วนสำคัญกับการแสดง หรือการเล่าเรื่องขนาดไหน

อย่างตอนเล่นที่เดนมาร์กเป็นพญาฉัททันต์ลงสรง อาบน้ำอย่างเดียว เดินตามร่องของบังเกอร์ไปเรื่อยๆ แล้วฝนตกจะชื้นๆ แล้วครั้งหนึ่งผมก็เคยเล่นที่ถนนข้าวสาร แบบนั่งอยู่เฉยๆ เหมือนพระบิณฑบาตให้คนหยอดเงิน มันเป็นแบบทดสอบอย่างหนึ่งสำหรับตัวผมเองว่า พื้นที่มีผลต่อกระบวนการทางความคิด และกระบวนการเคลื่อนไหวมากขนาดไหน แล้วเราได้พบสิ่งใหม่อะไรจากพื้นที่ที่เปลี่ยนไป

พูดให้ง่ายคือ พญาฉัททันต์เล่าประเด็นความเสียสละเหมือนกัน แต่ความซับซ้อนแตกต่างกันออกไปตามพื้นที่ อย่างปีที่แล้วผมไปเล่นที่กุดเป่ง (จังหวัดมหาสารคาม) สิ่งที่ผมพูดที่กุดเป่งมันเป็นเรื่องของโอกาสการอยู่ร่วมกัน การแบ่งปันแบบชุมชน หรือการลงแรงกำลัง แต่ในกรุงเทพฯ ผมจะพูดเรื่องที่ซับซ้อนกว่านั้น กระบวนการพัฒนาองค์ความรู้ผ่านสิ่งต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต ผ่านองค์กรช่วยเหลือจากต่างประเทศ


ทำไมความซับซ้อนของประเด็นจำเป็นต้องแตกต่างกันออกไป

ง่ายๆ คือต่างจังหวัดไม่มีอินเทอร์เน็ต และประเด็นในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะการแสดงที่ช่างชุ่ย (วันที่ 30 มิถุนายน เวลา 19.30 น. รอบเดียวเท่านั้น) เป็นคำถามใหญ่ว่า คนเป็นศิลปิน หรือคนทำงานศิลปะ จะอยู่ต่ออย่างไร? จะมีชีวิตรอดได้อย่างไร? จะหาเงินจากที่ไหน? จะหาข้อมูลจากที่ไหน? จะหาคนสนับสนุนจากที่ไหน? ทั้งหมดเป็นประเด็นที่ผมจะพูดในกรุงเทพฯ


นั่นหมายความว่า จริงๆ การอยู่รอดของผู้สร้างสรรค์ศิลปะสาขาต่างๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย

ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล แต่ในฐานะคนทำงานมาก่อน แล้วรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ผมอยากแบ่งปัน อยากเสียสละข้อมูล และส่งต่อความรู้ อย่างเช่น องค์กรหนึ่งที่เคยมอบเงินสนับสนุนงานศิลปะผม แต่ปัจจุบันไม่ให้แล้ว สาเหตุมาจากผมโตพอจะจัดการตัวเองได้แล้ว แต่เด็กรุ่นใหม่กลายคนเรียนจบมาแล้ว แต่ยังไม่ทราบข้อมูล ซึ่งผมพร้อมแบ่งปันให้พวกเขา และพวกเขาก็มีสิทธิ์ได้รับ

พิเชษฐ กลั่นชื่น 6.jpgพิเชษฐ กลั่นชื่น 7.jpg

หลังจากแสดงไปแล้ว 20 ครั้ง มุมมองเรื่องความเสียสละเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

เปลี่ยนไป (หัวเราะ) เริ่มรับรู้ว่าความเสียสละชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายไม่จำเป็น มันยังมีความจำเป็นเรื่องอื่นที่เป็นความต้องการของสังคมปัจจุบันมากกว่านั้น ผมคิดว่าประเด็นความเสียสละในวันนี้เป็นเรื่องของการให้ และไม่ใช่ให้ชีวิต แต่สังคมโลกกำลังต้องการการเข้าถึงข้อมูล ดังนั้น การเสียสละของผมจึงเป็นการให้โอกาสคนอื่นได้รับข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้เข้าถึงองค์ความรู้


แล้วความพิเศษของการแสดงพญาฉัททันต์ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 30 มิถุนายน อยู่ตรงไหน

การแสดงพญาฉัททันต์แต่ละครั้งผมจะตั้งชื่อ อย่างเช่นตอนทำที่กุดเป่งผมใช้ชื่อว่า ‘การเดินทางของจิตวิญญาณ’ แต่สำหรับตอนล่าสุดเป็นคำว่า ‘ทรง 4.0’ เพราะผมพูดเรื่องโอกาสในการให้ข้อมูลข่าวสาร


ทำไมเลือกทรง 4.0 เป็นประเด็นหลักของปีนี้

ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เรื่องราวของคนทรงมันรุนแรงมาก มันสะท้อนให้เห็นความล้มเหลวทางการศึกษา มันสะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของพระพุทธศาสนา มันสะท้อนให้เห็นถึงตัวบุคคลระดับสถาบันครอบครัว คือ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ซึ่งไม่สามารถให้ข้อมูล หรือแก้ไขปัญหาให้กับคนในบ้านได้ สิ่งเหล่านี้จึงงอกงามมากขึ้น อันนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่จะถูกนำมาเป็นรูปแบบในการนำเสนอของการแสดง

ส่วน 4.0 มันเป็นความเข้าใจผิดของสังคมมากๆ เลย 4.0 มันเป็นเรื่องของข้อมูลของโอกาส แต่สิ่งที่เราพยายามจะทำ 4.0 กัน เพราะคิดว่ามันเป็นคำที่เอามาใช้โดยที่ไม่ลงไปในเนื้อแท้ของมัน ว่ามันควรจะให้โอกาสกับคนยังไง ให้ข้อมูลกับคนยังไง ประชาชนต้องการอะไรใน 4.0 กันแน่ มันก็เลยเป็น 2 อย่าง พอมารวมกันแล้วเป็น ทรง 4.0 มันเท่ากับว่า คนเหล่านี้ (ใครวะ?) เป็นแค่ร่างทรงเฉยๆ ที่พยายามจะให้ข้อมูลอะไรก็ไม่รู้

พิเชษฐ กลั่นชื่น 4.jpg

เมื่อสัก 2-3 สัปดาห์ก่อนเห็นข่าวร่างทรงองค์แปลกๆ ออกมาเยอะมาก

ผมชอบมาก คือการเข้าทรงมันเป็นวัฒนธรรมของประเทศ และเป็นจิตบำบัดอย่างหนึ่งของคนในสังคม มันเป็นการหาทางออกของชาวบ้านที่ไม่สามารถหาคำตอบได้ สำหรับผมมันเป็นตัวเพอร์ฟอร์แมนซ์ชั้นดีของประเทศ และเวลาคนไปดู มันเป็นการดูโชว์ เพราะมันมีแดนซ์อยู่ในนั้น คนเข้าทรงมันแดนซ์ เพื่อปลดปล่อยตัวเอง

โดยทฤษฏีแล้ว การเข้าทรงมันเป็นรูปแบบการเต้นครั้งแรกของโลก การเต้นครั้งแรกของโลกเกิดขึ้นจากหมอผี พอเข้าทรงเสร็จก็สั่น สั่นแล้วก็ลุกขึ้นเต้น พอหลังจากลุกขึ้นเต้นแล้ว สั่นแล้ว เมื่อเวลาผ่านไป คนที่อยู่รอบๆ ก็ถูกเรียกขึ้นไป เพื่อให้มันเกิดองค์รวมของพลังงานมากขึ้น และคนก็ลุกขึ้นเต้นตาม มันคือแดนซ์เพอร์ฟอร์แมนซ์ชิ้นแรกของโลก

ผมถึงได้ชอบมันมาก ทุกครั้งที่เห็นผมจะดู แล้วผมสนใจว่า เขาสร้างรูปแบบยังไง สร้างวิธีการยังไง สร้างเซ็ตดีไซน์ยังไง สร้างคอสตูมยังไง สร้างสตอรียังไง ผู้ชมรู้สึกอะไร ผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมกับตัวนักแสดงได้ยังไง สำหรับผมมันเป็นองค์ความรู้ทั้งหมดเลย


ปีนี้ ร่างทรงไทยโดดเด่นเรื่องคอสตูมการ์ตูน และซูเปอร์ฮีโร่

เพราะสังคมมันแย่ (กระแทกเสียง) ลงเยอะมาก มันเลยยิ่งทำให้เกิดการเข้าทรงเยอะมาก และมันลิงค์กับพวกเน็ตไอดอล ลิงค์กับความเป็นปัจจุบัน เพราะฉะนั้นเด็กๆ หรือคนรุ่นใหม่จะเข้าไปหา ดังนั้น เราจะมาตั้งคำถามกันใหม่ว่า จริงๆ ที่เทพ หรือเทวดา มันเป็นจิตวิญญาณ หรือเป็นความเชื่อ ส่วนคอสตูมของผมจะธรรมดามาก


ขอเหตุผลที่คอสตูมของพญาฉันทันต์ออกมาธรรมดา

เพราะผมทรงตัวผมเอง ผมไม่ได้ทรงเทพองค์ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเทพไม่รู้ข้อมูลว่า Asia Europe Foundation คืออะไร เทพไม่รู้ข้อมูลว่า John D. Rockefeller คืออะไร เทพไม่รู้ว่า Asian Network คืออะไร เพราะฉะนั้น ข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งผ่านสู่คนอื่นไม่ได้ ผมจึงต้องทรงตัวผมเอง และบอกว่ามันคืออะไร


เบื้องหลังก่อนมาเป็นทรง 4.0 คุณผ่านอะไรมาบ้าง

4.0 เป็นเรื่องข้อมูล ผมต้องเก็บข้อมูลเยอะมาก และผมจะเปิดให้คนดูถามคำถามในส่วนของการแสดง ซึ่งต้องเป็นคำถามที่เกี่ยวข้อง หรือเชื่อมโยงกับศิลปะเป็นหลัก ถ้าถามผมเรื่องเลิกกลับแฟน เรื่องเงิน ผมไม่ตอบ ผมจะตอบเรื่องศิลปะ และการจะมีชีวิตอยู่ต่อไปในวันข้างหน้าได้อย่างไร? โดยผมมีเวลาให้ประมาณ 1.50 ชั่วโมง

พิเชษฐ กลั่นชื่นพิเชษฐ กลั่นชื่น

เหตุผลที่เลือกช่างชุ่ยเป็นสถานที่แสดงพญาฉัททันต์ตอนทรง 4.0

ตั้งแต่วันแรกชัดเจนมากว่า ช่างชุ่ยต้องการสร้างสรรค์พื้นที่แห่งโอกาส คือผมพูดคุยกับคุณลิ้ม (สมชัย ส่งวัฒนา) อยู่หลายครั้ง แล้วเขาอธิบายให้ฟังว่า “พิเชษฐ ผมสร้างช่างชุ่ยให้เป็นพื้นสำหรับเด็กรุ่นใหม่ และคนที่เป็นมืออาชีพแล้วมาพบปะกัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล แลกเปลี่ยนความรู้ และให้ทุกคนสามารถเติบโตในพื้นที่ศิลปะไปพร้อมๆ กัน” นั่นเป็นเรื่องราวที่ผมได้ยินมาตลอด และถ้าผมพูดในประเด็นการแบ่งปันข้อมูล การแบ่งปันโอกาส น่าจะเลือกช่างชุ่ย


เห็นคุณบอกในทีเซอร์พญาฉัททันต์ว่า ต้องการให้ฝนตกระหว่างทำการแสดง

มันเป็นประเด็นทางศิลปะ คือศิลปะในโรงละครแตกต่างจากภาพยนตร์ โทรทัศน์ เพราะผู้ชมอยู่ร่วมกันกับศิลปินในสถานการณ์เดียวกัน และสิ่งที่ผมสนใจคือ ทำอย่างไรให้ผู้ชมเข้าใกล้ตัวศิลปินได้มากที่สุด เพื่อรับรู้บรรยากาศ และสถานการณ์เดียวกับผม

ขณะที่บางครั้งเวลาดูการแสดงในโรงละครจะเห็นบางฉาก หรือบางคอนเสิร์ตมีฝนตกเต็มไปหมดแต่ทางฝั่งคนดูกลับยังไม่มีฝนตกอยู่ดี เพราะฉะนั้นมันเหมือนไปไม่สุด ผมมองว่าถ้าฝนตกเราอาจจะได้อยู่ร่วมกันในบรรยากาศของวันนั้น และสถานการณ์ของวันนั้น เพื่อร่วมกันจดจำสิ่งที่เกิดขึ้นให้มันลึกซึ้ง และกระทบกับความรู้สึกมากยิ่งขึ้น


แต่หลายคนชอบคิดว่า ศิลปินต้องทำตัวให้เข้าถึงยาก

หลายคนถูกหลอกด้วยชุดความคิดของคนสมัยโบราณว่า คนทำงานศิลปะ คนเป็นศิลปินต้องพิเศษ แล้วมันเลยทำให้เราไม่กล้าเข้าไปยุ่งกับเขา แล้วอีกอย่างหนึ่งคนก็รู้สึกว่า งานศิลปะมันเข้าใจยาก พอมันเข้าใจยากแล้วมันเหมือนเป็นบางสิ่งบางอย่างที่เทพประทาน (หัวเราะ) ก็เลยรู้สึกว่า เดี๋ยวพูดอะไรผิดไปจะมีปัญหาหรือเปล่า

อันนี้เป็นชุดความคิดแบบเก่า แต่ปัจจุบันศิลปินก็เป็นคนปกติทั่วๆ ไป ที่มีอาชีพทำงานศิลปะ ใครที่ยังคงบอกว่า ศิลปะเรียนแล้วทำให้คนมีสมาธิ ศิลปะเรียนแล้วทำให้เป็นคนที่มีจิตใจโอบอ้อมอารี ผมบอกได้เลยว่า ใครพูดแบบนั้นแสดงว่า ยังอยู่ในประมาณร้อยปีที่แล้ว แล้วถ้าใครบอกว่าการเรียนศิลปะแล้วทำให้มีปฏิภาณไหวพริบดี มีครีเอทีฟติงกิ้ง ชุดความคิดแบบนี้มันเป็นชุดความคิดแบบโบราณหมด

พิเชษฐ กลั่นชื่น 5.jpg

แล้วชุดความคิด ‘ศิลปะเปลี่ยนแปลงโลกได้’ คุณคิดอย่างไร

ถ้าใครบอกว่า ‘ศิลปะเปลี่ยนแปลงโลกได้’ เขาเป็นคนเห็นแก่ตัว อะไรๆ ก็เปลี่ยนแปลงโลกได้ ไม่จำเป็นต้องศิลปะหรอก ถ้าใครบอกว่า ‘ศิลปะเปลี่ยนแปลงโลกได้’ มันเหมือนกับกำลังบอกสาขาวิชาอื่นว่า ‘พวกมึงโง่’ เปลี่ยนแปลงโลกไม่ได้ กูเปลี่ยนแปลงโลกได้คนเดียว เพราะฉะนั้น ถ้าใครพูดทำนองนั้นมันเป็นอันตราย และน่ากลัวด้วย อย่าไปคบนะครับ


นิยามของ ‘ศิลปะ’ ในแบบฉบับของ ‘พิเชษฐ กลั่นชื่น’ เป็นอะไรได้บ้าง

มันเป็นการสร้างสรรค์สิ่งหนึ่งขึ้นมาในอาชีพศิลปิน หรือคนทำงานศิลปะ แต่สิ่งที่แตกต่างคือ พอสร้างขึ้นมาแล้วมันถูกนำเสนอบนพื้นที่ที่พิเศษ มันเลยถูกยกให้เป็นสิ่งพิเศษ แต่ ณ ปัจจุบันศิลปะไม่ได้ถูกนำเสนอบนพื้นที่พิเศษอีกต่อไป เช่น ในโรงละคร ในมิวเซียมใหญ่ๆ เพราะศิลปะเองไปนำเสนออยู่ตามข้างถนนได้ ตามวัดได้ ตามชุมชนเล็กๆ ได้ ตัวมันเองเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว

บางคนบอกว่า ตัวเองสร้างสิ่งที่มันมหัศจรรย์มาก (ลากเสียงยาว) ยิ่งใหญ่มาก จริงๆ คนสร้างหุ่นยนต์ก็มหัศจรรย์มาก หมอที่คิดยารักษาโรคให้คนหายป่วยก็มหัศจรรย์มาก คนที่ออกแบบแพทเทิร์นเสื้อผ้าขึ้นมาใหม่ก็มหัศจรรย์มาก คุณจะบอกว่าคุณมหัศจรรย์กว่าคนอื่นได้ยังไง เราต่างคนต่างมีหน้าที่ในการค้นคว้า สร้างสรรค์ และพัฒนาสิ่งต่างๆ เพื่อมนุษยชาติ


ทั้งๆ ที่หลายคนต้องการชมการแสดงมาก แต่คุณกลับตัดสินใจจัดแสดงเพียงรอบเดียว

ผมอยากทำให้งานชิ้นนี้เป็นสิ่งพิเศษ คือถ้าคุณพลาด คุณก็พลาดนั่นแหละ แต่มันยังมีโอกาสอีกครั้งในปีหน้า และปีต่อๆ ไป แล้วประเด็นจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ผมเลยไม่เล่น 2 3 4 5 รอบ เพราะถ้าเล่นขนาดนั้นมันกลายเป็นการแสดง

พญาฉัททันต์ไม่ใช่การแสดง สำหรับผมมันเป็นอะไรบางอย่างที่มากกว่านั้น มันเป็นความจริง มันเป็นสิ่งที่ผมพยายามจะสื่อสารกับคนดูอย่างตรงไปตรงมา นอกจากนั้น พญาฉัททันต์ไม่ค่อยเก็บเงินเวลาเล่น เพราะมันเป็นประเด็นหนึ่งในเรื่องการเสียสละของผม

พิเชษฐ กลั่นชื่น 11.jpg

ส่วนของผู้ชมจะเสียสละอะไรร่วมกับการแสดงบ้าง

สละเวลาครับ มันเป็นเรื่องใหญ่มากเลยนะ ที่คุณยอมเสียสละเวลามาดูใครสักคนหนึ่ง ยอมเสียสละเวลาของคุณเองมาคุยกับใครสักคนหนึ่ง หรือให้ข้อมูล แลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับคนอื่นสำหรับผมแล้วเวลาสำคัญกว่าเงิน


ถึงวันนี้ การแสดงชุดพญาฉัททันต์มีความหมายกับชีวิตคุณอย่างไร

มันทำให้ผมได้ใช้เวลา ในขณะที่วิ่งวนไปทั่ว เรียกร้องไปทั่ว อยากได้โน่น อยากได้นี่ อยากทำโน่น อยากทำนี่ ผมได้หยุดนิ่งๆ แล้วส่งต่อให้คนอื่นบ้าง

จริงๆ ผมไม่คาดหวังเลย เพราะเมื่อให้แล้ว การที่คนๆ นั้นจะหยิบ หรือไปทำอะไรต่อมันเป็นเรื่องของเขา ผมทำหน้าที่ของผมในฐานะศิลปิน และคนสร้างงานศิลปะจบลงในวินาทีที่คนดูปรบมือ หลังจากนั้นมันเป็นสิทธิ์ของท่านแล้ว