ไม่พบผลการค้นหา
แม้โดนัลด์ ทรัมป์จะกล่าวถึงความสำเร็จในการฟื้นฟูเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาให้ดีขึ้น แต่หนี้ครัวเรือนที่สูงมาก ชี้ให้เห็นว่า สหรัฐฯ มีความเสี่ยงเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจซบเซาอีกครั้ง

เว็บไซต์ World Economic Forum หรือ WEF ลงบทความระบุ ว่าหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นของสหรัฐอเมริกาเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาจซบเซาอีกครั้ง

พร้อมกับเปิดเผยว่า เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2560 สหรัฐฯ มีหนี้ครัวเรือนมากถึง 12.84 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าปีก่อนถึง 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับว่ามีสัดส่วน 2 ใน 3 ของจีดีพี

แม้ว่าสัดส่วนหนี้เสียในสหรัฐฯ จะคงที่ในระดับ 4.8% เมื่อไตรมาสสอง ปี 2560 แต่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เตือนว่า พบหนี้ค้างชำระในกลุ่มสินเชื่อบัตรเครดิตกลายมาเป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

'ไมเคิล เลโบวิตซ์' ผู้ก่อตั้งบริษัท 720 โกลบอล บริษัทวิเคราะห์ตลาด ระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ใกล้จะเข้าสู่วิกฤตแล้ว โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนจน 80% มักยืมเงินมาใช้มากที่สุดเท่าที่จะยืมได้ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด และปัญหานี้จะแย่ลงไปเรื่อยๆ หากค่าแรงเติบโตไม่ทันเงินเฟ้อ

ขณะที่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกรายงานเรื่องความมั่นคงทางการเงินโลก ระบุว่า ระดับหนี้ที่สูงมีแนวโน้มจะทำให้เศรษฐกิจตกต่ำและยืดเยื้อกว่าเดิม และหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามระดับหนี้ที่สูงขึ้น

อีกทั้ง เมื่อคนเป็นหนี้มากขึ้น การเติบโตของจีดีพีในอนาคตและการบริโภคจะลดลง ส่วนอัตราว่างงานจะสูงขึ้นตามมูลค่าเฉลี่ยของหนี้ครัวเรือน โดยไอเอ็มเอฟประเมินว่า หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น 5% ในช่วงเวลา 3 ปี จะทำให้การเติบโตของจีดีพีลดลง 1.25% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า

หรือในอีกด้านหนึ่ง มีอาการเหมือนกับกรณีหนี้ครัวเรือนในหลายประเทศที่สูงขึ้นก่อนจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก เช่น ช่วงปี 2545 - 2550 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้พุ่งสูงขึ้นจาก 39% เป็น 138% ขณะที่เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และนอร์เวย์ มีอัตราหนี้ครัวเรือนมากกว่า 200% ของรายได้ครัวเรือน เป็นต้น

ดังนั้น ไอเอ็มเอฟจึงมองว่า หากระดับหนี้ครัวเรือนเข้าขั้นวิกฤต รัฐบาลอาจช่วยป้องกันเศรษฐกิจหดตัวได้ด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือน อย่างที่สหรัฐฯ เคยทำในช่วงปี 1930 (พ.ศ. 2473) หรือที่ไอซ์แลนด์กำลังทำอยู่ ซึ่งจะช่วยให้ยุติวงจรหนี้ครัวเรือนและผลกระทบเชิงลบในเศรษฐกิจมหภาคได้