เช่นเดียวกับผลการประชุม สนช. ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเห็นชอบ ข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของ สนช. และกรรมาธิการ ซึ่งออกมาตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ที่ให้สมาชิกรัฐสภาต้องมีข้อบังคับเกี่ยวกับประมวลจริยธรรม
เนื้อหาส่วนที่หลายฝ่ายจับตา คือ ข้อ 23 ที่ห้ามสมาชิก สนช. ไปประกอบธุรกิจ เพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือผู้อื่น มิเช่นนั้นจะถือว่าเป็นการ “เบียดบังเวลาราชการ” จนอาจกระเด็นจากเก้าอี้ในท้ายที่สุด
หากยังจำกันได้ อดีตนายกฯ สมัคร สุนทรเวช ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9:0 วินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากไปรับค่าตอบแทนจากการจัดรายการทำอาหาร ได้ประโยชน์ในการประกอบธุรกิจ ถือเป็นการ “ขัดกันแห่งผลประโยชน์”
ทั้งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ถูก คสช.ฉีกทิ้ง และฉบับปี 2560 ที่ คสช.จัดทำขึ้นมาใหม่ ต่างมีหมวดว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ทั้งสิ้น ทั้งนี้ เพื่อให้คณะรัฐมนตรี และสมาชิกรัฐสภา ไม่ว่าจะ ส.ส. ส.ว. และแน่นอนว่า สนช. ได้ทำงานอย่างเต็มที่โดยไม่มีประโยชน์แอบแฝง มีสมาธิในการทำงานเพื่อชาติ ทุ่มเทเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน
แต่สำหรับประมวลจริยธรรมของ สนช. กลับถูกยกเว้นได้ง่ายๆ ด้วยการ “ยื่นใบลา” เท่านั้น
เช่นเดียวกับการเนื้อหาเกี่ยวกับการขัดกันแห่งผลประโยชน์ในรัฐธรรมนูญ ที่บางส่วนถูกยกเว้นด้วย “บทเฉพาะกาล” รวมไปถึงการห้ามเป็นเจ้าของสื่อ เป็นข้าราชการประจำ เป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ เป็นผู้บริหารท้องถิ่น ฯลฯ ที่ห้าม ส.ส. และ ส.ว. เป็น แต่ สนช. กลับเป็นได้
เราจึงได้เห็น สนช. หลายคน มีหมวกหลายใบ วิ่งวุ่นทำนู่นทำนี่ จนไม่รู้ว่า ที่สุดแล้ว งานของ สนช. เป็นงานที่เขาให้ความสำคัญที่สุดหรือไม่
ดังที่ปรากฏข่าวการ “ขาดประชุม” ของน้องชายนายกฯ ผบ.เหล่าทัพ เลขากฤษฎีกา และประธานสภาอุตสาหกรรม รวม 7 คน เมื่อปี 2559 แต่เมื่อ สนช. ตรวจสอบกันเอง กลับระบุว่า “ไม่มีความผิด” เพราะทุกคนได้ยื่นใบลาอย่างถูกต้อง
ในปีดังกล่าว มีการลงมติทั้งสิ้น 1,264 ครั้ง ดิสทัต โหตระกิตย์ ยื่นใบลาประชุมจนพลาดการลงมติ 1,047 ครั้ง (คิดเป็น 83%) พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ 1,034 ครั้ง (82%) สมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ 877 ครั้ง (69%) พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง 839 ครั้ง (66%) พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา 832 ครั้ง (66%) พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ 618 ครั้ง (49%) และสุพันธุ์ มงคลสุธี 589 ครั้ง (47%)
ซึ่งแท้จริงแล้ว อาจจะมี สนช. ที่ยื่นใบลาจนขาดการลงมติมากกว่านี้ก็ได้ แต่หลังจากที่ผมเคยไปใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ยื่นขอข้อมูลดังกล่าว ทางผู้เกี่ยวข้องก็ปฏิเสธที่จะให้ อ้างว่าเป็น “ข้อมูลส่วนบุคคล”
นอกจากนี้ ยังปฏิเสธจะเปิดเผยผลสอบ สนช. ทั้ง 7 คน และเหตุผลการลา ไม่ยอมมาทำหน้าที่ในฐานะ สนช. ว่าเกิดจากมีธุระปะปังอันใดกันแน่
และที่ชวนให้ช้ำใจไปกว่าเดิม คือหลังจากนั้น สนช. ก็ได้แก้ไขข้อบังคับการประชุม จากเดิมที่ “ห้ามขาดการลงมติเกินกว่าหนึ่งในสาม ในรอบ 90 วัน มิเช่นนั้นจะขาดสมาชิกภาพโดยทันที” โดยตัดข้อความดังกล่าวออกไป ทำให้ขาดลงมติได้แบบไม่จำกัด
ปัจจุบัน เงินเดือนของ สนช. หากเป็นประธานจะอยู่ที่ 125,590 บาท รองประธาน 115,750 บาท และสมาชิกทั่วไป 113,560 บาท
ทุกๆ เดือน สนช.ทั้งหมดจะได้เงินเดือนจากภาษีของพวกเราทุกคน เฉลี่ยเดือนละ 28.4 ล้านบาท ไม่รวมถึงเบี้ยประชุมและค่าตอบแทนอื่นๆ
และนับแต่ คสช. ยึดอำนาจมาเมื่อปี 2557 ถึงปัจจุบัน เราเสียงบประมาณแผ่นดินเป็นเงินเดือนให้กับ สนช. ไปแล้วทั้งสิ้น อย่างน้อย 1,022.7 ล้านบาท
ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงเงินเดือนของเลขานุการ ที่ปรึกษา และคณะทำงาน ที่ สนช.จำนวนหนึ่งตั้งสามี ภรรยา ลูกๆ เครือญาติมารับตำแหน่งกินเงินหลวง จนกลายเป็นข่าวอื้อฉาว “สภาผัวเมียเครือญาติ ยุค คสช.” เพราะยังหาตัวเลขที่แน่ชัดไม่ได้
พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง อดีต ผบ.ตร. นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน เป็นผู้ที่ทำให้คำว่า sideline ซึ่งหมายถึง “อาชีพเสริม” กลายเป็นคำฮิตในปัจจุบัน เมื่อชี้แจงเรื่องการยืมเงิน 300 ล้านบาทจากเพื่อนเจ้าของอาบอบนวดแห่งหนึ่ง ว่าทำไปเพื่อหาทุนทำธุรกิจ ซึ่งเป็นอาชีพหลัก “ส่วนอาชีพตำรวจเป็นเพียง sideline เท่านั้น”
แน่นอนว่า ใน สนช. ย่อมมีคนที่ทุ่มเททำงานเพื่อชาติอยู่ไม่น้อย แต่ในเมื่อผู้เกี่ยวข้องไม่ยอมสร้างความโปร่งใส ด้วยการเปิดเผยข้อมูลการลงมติให้สาธารณชนได้ตรวจสอบ และรู้กันไปเลยว่า ใครเป็นคนที่ขยัน มาประชุมไม่เคยขาด ลงมติครบถ้วน หรือใครที่มาๆ หายๆ และใครที่เอาแต่ยื่นใบลาไปทำธุระส่วนตัว
เราจึงแยกไม่ได้ว่า ใน สนช. มีคนที่เห็นงานด้านนิติบัญญัตินี้เป็นอาชีพหลัก หรืออาชีพเสริม มากน้อยเพียงใด
ในชื่อบทความ จึงใส่เครื่องหมายคำถาม (?) เอาไว้ข้างท้าย
แต่การเปิดช่องให้สามารถยื่นใบลาไปทำธุรกิจได้ และในอดีตก็มีคนที่ลาไปทำธุระอื่น จนพลาดการลงมติถึงกว่า 80% ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า สำหรับใครบางคน ภารกิจในฐานะ สนช. อาจเป็นเพียง “งาน sideline” จริงๆ
คนดี คนเก่ง ใครๆ ก็ต้องการ จะดีกว่าไหม หากเลือกทุ่มเทให้กับงานที่สำคัญที่สุดในเวลานั้นๆ แล้วก็ยื่นใบลาออกจากงานที่มีความสำคัญรองลงมา เพื่อจะได้ไปทุ่มเทกับ “งานหลัก” ให้เต็มที่