นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เศรษฐกิจในปลายปี 2561 ทรุดอีก ไตรมาส 4 ขยายตัวได้เพียงร้อยละ 3.7 เท่านั้น ทำให้ เศรษฐกิจไทยในปี 2561 ทั้งปีโตได้เพียงร้อยละ 4.1 เท่านั้น ทั้งๆ ที่ครึ่งปีแรกโตได้ถึงร้อยละ 4.8 ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าที่เศรษฐกิจของไทยขยายตัวดีในต้นปีที่แล้วเกิดจากอานิสงส์ของเศรษฐกิจโลก ไม่ได้อยู่ที่ฝีมือการบริหารของรัฐบาลแต่อย่างใดเลย แถมรัฐบาลยังคุยว่าปี 2561 จะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 5 แต่พอครึ่งปีหลังเศรษฐกิจกลับทรุดหนักเหลือแค่ร้อยละ 3 กว่า จากการส่งออกที่ขยายตัวลดลง ขนาดติดลบถึง 3 เดือนใน 6 เดือนหลัง และนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงจากการบริหารราชการที่ผิดพลาด
หากหลังการเลือกตั้งยังได้รัฐบาลเดิม เศรษฐกิจจะไม่ดีขึ้น และจะยิ่งทรุดหนัก พิสูจน์ได้จากผลงานการบริหารเศรษฐกิจใน 5 ปีที่ผ่านมา และความน่าเชื่อถือของรัฐบาลที่น่าจะลดลงเรื่อยๆ จนแทบไม่เหลือ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ไม่ถึงร้อยละ 4 ในปี 2562 นี้ อีกทั้งเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะไม่ดีนัก ขนาดนักวิชาการชื่อดังยังเตือนว่าสหรัฐอเมริกาอาจเจอภาวะเศรษฐกิจถดถอย อีกทั้งเศรษฐกิจของประเทศจีนที่จะขยายตัวต่ำสุดในรอบ 30 ปีด้วย
ดังนั้นหากประชาชนส่วนใหญ่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น จะต้องเปลี่ยนรัฐบาลใหม่เพื่อฟื้นฟูความมั่นใจ จึงอยากให้พิจารณาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้ดี เพื่อเปลี่ยนแปลงทิศทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ประชาชนจะได้ไม่ลำบากกันอีก ทั้งนี้อยากให้แบงก์ชาติได้เร่งแก้ไขค่าเงินบาทอย่าให้แข็งค่ามากเกินไป เพราะค่าเงินบาทได้แข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาค ส่งผลกระทบมายังการส่งออก และการท่องเที่ยวแล้ว ไม่อยากให้แก้ตัวว่าไม่ได้เกิดจากการขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติ ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะหากดูย้อนหลังจะพบว่าหลังจากที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ย ทั้งๆ ที่ได้เตือนแล้ว เงินบาทแข็งค่ามาโดยตลอดและเป็นหลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นที่ระบุชัดเจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างอัตราดอกเบี้ยและค่าเงิน ถ้าผู้ว่าฯ แบงก์ชาติให้ข้อมูลผิดๆ จะทำให้ประชาชนสับสน โดยเฉพาะนักศึกษาที่เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ และจะทำให้หมดความน่าเชื่อถือได้
นอกจากนี้การขึ้นดอกเบี้ย ทั้งๆ ที่ภาวะเงินเฟ้อต่ำมาก และยังไม่มีเงินทุนไหลออก ยิ่งไปซ้ำเติมทำให้เศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่แล้วยิ่งย่ำแย่ลงไปอีก และทำให้เกิดหนี้เสียมากขึ้น อีกทั้งยังจะทำให้การลงทุนที่น้อยอยู่แล้วลดลงไปอีก
สศช. เผยปี 61 เศรษฐกิจไทยโต 4.1% สูงสุดรอบใน 6 ปี
ด้านนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/61 ขยายตัว ร้อยละ 3.7 จากตลาดคาดการณ์ไว้ที่ ร้อยละ 3.3-3.6 และจากไตรมาส 3./61 ที่ขยายตัว ร้อยละ 3.2 ปัจจัยหลักมาจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยวกลับมาเติบโตในอัตราเพิ่มมากขึ้นเป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจไทย ขณะที่ภาคการส่งออกยังขยายตัวได้ค่อนข้างต่ำที่ ร้อยละ 2.3 จากไตรมาส 3/61 ขยายตัว ร้อยละ 2.6
โดยรวมจากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นทำให้ GDP ทั้งปี 61 ขยายตัวได้ ร้อยละ 4.1 สูงสุดในรอบ 6 ปี แต่ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ ร้อยละ 4.2 เล็กน้อย เนื่องจากการลงทุนภาครัฐในช่วงไตรมาส 4/61 ติดลบราว ร้อยละ 0.1