ไม่พบผลการค้นหา
แนวโน้มสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลกส่งสัญญาณเชิงบวกมากขึ้น เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ภาครัฐให้ข้อมูลว่า สถานการณ์ดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์จนนำไปสู่การงดเว้นมาตรการ Test and Go ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2565 เพื่อให้เกิดการอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว เตรียมพร้อมต่อการเปิดประเทศ

'วอยซ์' สืบค้นข้อมูลภาพรวมเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านการกู้เงินและงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ผ่านมา กว่า 1.6 ล้านล้านบาท ที่ถูกตั้งคำถามว่า มีลักษณะประชานิยม มุ่งสร้างฐานเสียงทางการเมืองของรัฐบาล มากกว่าแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

ข้อมูลการอนุมัติแผน/โครงการจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 2 ฉบับ จาก http://thaime.nesdc.go.th/ เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2565 มีดังนี้ 

พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2563

1) แผน/โครงการทางการแพทย์และสาธารณสุข อนุมัติแล้ว 6.34 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.2 

2) แผน/โครงการเยียวยาชดเชยประชาชน อนุมัติแล้ว 7.09 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 100 

3) แผน/โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม อนุมัติแล้ว 2.09 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 92.4

พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2564

1) แผน/โครงการทางการแพทย์และสาธารณสุข อนุมัติแล้ว 1.09 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.8 

2) แผน/โครงการเยียวยาชดเชยประชาชน อนุมัติแล้ว 1.06 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 48.2 

3) แผน/โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม อนุมัติแล้ว 1.26 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 74.6

ด้าน สำนักงบประมาณรัฐสภา ได้รับรวมการจัดสรรงบประมาณเกี่ยวกับรายการค่าใช้จ่าย ซึ่งพบว่า นอกจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 2 ฉบับแล้ว ยังต้องรวบรวมโครงการที่ได้รับการอนุมัติจากแหล่งงบประมาณประจำปี 2563 ที่มีการโอนวงเงิน 9.6 หมื่นล้านบาท คือ

เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และ ค่าใช้จ่ายในการบรรเทาเยียวยาฯ รวมเป็น 4 ส่วน มีการใช้จ่ายในภาพรวมจากการจัดสรรงบประมาณตามแหล่งงบประมาณวงเงิน 1.6 ล้านล้านบาท สำหรับ 17 กระทรวง/หน่วยงาน 

พบว่า 5 หน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงที่สุด ได้แก่ 1) กระทรวงการคลัง 7.19 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 50 2) กระทรวงแรงงาน 2.19 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15 3) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1.81 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13 4) กระทรวงสาธารณสุข 1.71 คิดเป็นร้อยละ 12 แสนล้าบาท และ 5) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 2.77 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2

ประยุทธ์ สภา อภิปรายไม่ไว้วางใจ D82-BF3F-ED33E4663DF9.jpeg

นอกจากนี้ หน่วยงานดังกล่าวยังได้รวบรวมโครงการเยียวยา/ฟื้นฟู ที่ได้รับการอนุมัติ โดยแสดงให้เห็นตามกรอบวงเงิน 3 ระดับ ดังนี้ 

1) โครงการวงเงินมากกว่า 1 แสนล้านบาท ได้แก่ โครงการเราชนะ 2.77 แสนล้านบาท โครงการคนละครึ่ง 1.87 แสนล้านบาท โครงการเราไม่ทิ้งกัน 1.7 แสนล้านบาท โครงการช่วยเหลือเกษตรกร 1.5 แสนล้านบาท 

2) โครงการวงเงิน 5 หมื่นถึง 1 แสนล้านบาท ได้แก่ โครงการเรารักกัน ม.33 8.37 หมื่นล้านบาท ค่าบริการระบบหลักประกันสุขภาพ 8.2 หมื่นล้านบาท โครงการจัดหาวัคซีน 8.11 หมื่นล้านบาท โครงการเยียวยาผู้ประกันตน 7.77 หมื่นล้านบาท โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 6.95 หมื่นล้านบาท

3) โครงการวงเงิน 1-5 หมื่นล้านบาท มี 14 รายการ อาทิ กองทุนประชารัฐสวัสดิการ 3.94 หมื่นล้านบาท โครงการจ้างงาน smes3.75 หมื่นล้านบาท โครงการบรรเทาค่าใช้จ่ายทางการศึกษา 3.32 หมื่นล้านบาท โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ 3.10 หมื่นล้านบาท โครงการเราเที่ยวด้วยกัน 2 หมื่นล้านบาท เป็นต้น 

4) โครงการวงเงิน 1 พันล้านบาท - 1 หมื่นล้านบาท มี 21 รายการ อาทิ โครงการ 1 ตำบล 1 เกษตรทฤษฎีใหม่ 9.80 พันล้านบาท โครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ 9.78 พันล้านบาท   

รายงานฉบับดังกล่าว ยังได้ระบุข้อสังเกตที่น่าสนใจ 2 ข้อ คือ

1) ครม.อนุมัติโครงการตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ฯ เสนอ เช่น อนุมัติให้กระทรวงคมนาคมทำโครงการก่อนสร้างกำแพงแผ่นยางและโครงการติดตหลักนำทางยาง วงเงิน 40,179 ล้านบาท โดยไม่รุบุแหล่งงบประมาณ

และ 2) ในปี 2564 งบกลางมีการระบุรายการเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเยียวยาจากผลกระทบของโรคโควิด-19 แต่ในปี 2565 งบกลางกลับไม่ปรากฏรายการดังกล่าว 

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า แหล่งงบประมาณทั้ง 4 แหล่งดังกล่าว กว่า 1.6 ล้านล้านบาท รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณส่วนใหญ่ลงไปสำหรับการฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบทางสังคม ไม่น้อยกว่า 8 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นครึ่งหนึ่งของเงินเยียวยาทั้งหมด 

แต่ยังถูกสังคมตั้งคำถามถึงหลักการการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการช่วยเหลือเยียวยาว่า ยังไม่ครอบคลุมประชาชนที่ต้องการได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างแท้จริง และมีลักษณะเบี้ยหัวแตก ไม่อาจตอบสนองต่อการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

และควรการช่วยเหลือเยียวยาควรมีแนวทางการใช้จ่ายอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่มีลักษณะเปิดให้ลงทะเบียนชิงโชคเช่นที่ผ่านมา และต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในอนาคตที่ต้องสร้างสวัสดิการให้ประชาชนอย่างถ้วนหน้าเท่าเทียม 

อีกทั้ง ยังมีข้อสังเกต คือ การใช้จ่ายงบ พ.ร.ก.กู้เงิน ปี 2564 วงเงิน 5แสนล้านบาท ยังมีสัดส่วนการเบิกจ่ายเหลืออีกราวร้อยละ 50 ก็ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดรัฐบาลจึงยังไม่เร่งรัดการเบิกจ่ายเพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรืออาจเป็นการชะลอเพื่อรอการใช้จ่ายในช่วงสิ้นปีงบประมาณก่อนเดือน ต.ค. 65 เพื่อหวังผลทางการเมือง ตามที่มีกระแสข่าวว่า จะเกิดการยุบสภาฯ ในช่วงเวลาดังกล่าวใช่หรือไม่

  • อ้างอิง

ThaiME – Monitoring & Evaluation (nesdc.go.th)

ewt_dl_link.php (parliament.go.th)