นายบรรจง จำนงศิตธรรม รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ระยะนี้หลายพื้นที่ของประเทศไทยโดยเฉพาะภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศหนาวเย็น แต่บางพื้นที่ยังมีฝนตกสลับกับอากาศร้อน ทำให้อุณหภูมิของน้ำในรอบวันแตกต่างกันมาก ซึ่งมีผลให้คุณภาพน้ำลดต่ำลงทั้งด้านกายภาพ ชีวภาพ และเคมีภาพ ลักษณะเช่นนี้จะมีผลกระทบต่อสุขภาพปลาเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ เนื่องจากปลาเป็นสัตว์เลือดเย็น อุณหภูมิของร่างกายเปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิของน้ำ ซึ่งในการปรับตัวปลาจำเป็นต้องนำพลังงานที่ได้จากการเผาผลาญอาหารมาใช้ ทำให้พลังงานที่จะนำไปใช้ในการเจริญเติบโตหรือสร้างระบบภูมิคุ้มกันลดน้อยลง ด้วยเหตุนี้ทำให้ปลาอ่อนแอ ป่วย และติดโรคได้ง่าย อีกทั้งเดือนธันวาคมน้ำจะมีอุณหภูมิต่ำเป็นเหตุทำให้เชื้อโรคบางชนิดเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้ดี โดยเฉพาะโรคอียูเอส โรคตัวด่าง และโรคไวรัสเคเอชวี ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
นายบรรจง กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมประมงได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานประมงจังหวัดต่าง ๆ ลงพื้นที่ให้คำแนะนำแก่เกษตรกร โดยให้วางแผนระยะเวลาการเลี้ยงปลาให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม หรือควรงดเว้นการเลี้ยงปลาในช่วงฤดูหนาว ควรมีบ่อพักน้ำใช้เพื่อใช้ในฟาร์มได้เพียงพอตลอดฤดูกาล ควรเลือกปลาที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดน้อย เช่น ปลานิล ปลาจีน และปลาไม่มีเกล็ด
ที่สำคัญควรลดความหนาแน่นของปลาที่ปล่อยลงเลี้ยงและหมั่นเอาใจใส่ ตรวจสุขภาพปลาอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมปริมาณการให้อาหารอย่างเหมาะสม ลดปริมาณอาหารที่จะให้ลงร้อยละ 10 – 15 เนื่องจากช่วงอุณหภูมิต่ำปลาจะกินอาหารได้น้อยลง หากมีปริมาณอาหารเหลือจะสะสมตามพื้นบ่อ ส่งผลให้น้ำเน่าเสีย เกิดก๊าซพิษ และมีผลกระทบต่อสุขภาพปลา ทั้งนี้ อาจมีการเสริมวิตามินซีในอาหารตามอัตราการใช้ที่ระบุในฉลากตามน้ำหนักปลาซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรง ต้านทานโรค และลดความเครียดของปลาได้ ควบคุมคุณภาพน้ำในบ่อ โดยใช้เกลือแกงมาละลายน้ำสาดให้ทั่วบ่อ ประมาณ 100-150 กิโลกรัมต่อไร่
รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า หากพบปลาป่วยหรือมีอาการผิดปกติ ควรแยกออกไปเลี้ยงและรักษาต่างหาก กรณีป่วยหนักควรทำลายทิ้ง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในวงกว้าง หรือหากพบปลาตายในบ่อเลี้ยงให้กำจัดโดยการฝังหรือเผา หากกรณีปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติมีความผิดปกติ ให้รีบปิดทางน้ำเข้าและหยุดการเติมน้ำจากธรรมชาติเข้ามาในบ่อทันที ถ้าไม่สามารถเปลี่ยนถ่ายน้ำได้ในช่วงระหว่างการเลี้ยง ให้ควบคุมปริมาณการให้อาหาร หมั่นสังเกตว่า มีก๊าซผุดขึ้นมาจากพื้นบ่อหรือไม่ หากมีแสดงว่า น้ำเริ่มเน่าเสีย ให้ใช้เกลือสาดบริเวณดังกล่าว ประมาณ 200 – 300 กิโลกรัมต่อบ่อขนาด 1 ไร่ เพื่อลดความเป็นพิษของก๊าซพิษโดยเฉพาะแอมโมเนีย