ทุกเขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA) หรือข้อตกลงทางเศรษฐกิจใดๆ ล้วนมอบผลประโยชน์ให้แก่ผู้ลงนาม พร้อมกับการสังเวยบางอย่างเป็นของตอบแทน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องเลวร้าย
ขณะเดียวกันผลประโยชน์เหล่านั้นไม่อาจเป็นข้ออ้างให้รัฐบาลผู้มีอำนาจมอบลายเซ็นในฐานะตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ โดยมองข้ามการอธิบายต่อสาธารณะอย่างตรงไปตรงมาและร่วมหาแนวทางการเยียวยา
CPTPP กลายเป็นประเด็นร้อนของสังคมอย่างที่ข้อตกลงเขตการค้าเสรีแทบไม่เคยต้องเผชิญ ทั้งๆ ที่ไทยก็มีถึง 13 ข้อตกลงที่บังคับใช้แล้ว
แม้ภาคประชาสังคมจะแสดงออกถึงความกังวลถึงผลกระทบต่อผลประโยชน์คนในชาติจากการเข้าร่วมความตกลงครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา ที่อาจทำให้คนไทยทั่วไปเข้าถึงยาได้น้อยลง รวมไปถึงประเด็นการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ของบริษัทผู้พัฒนารายใหญ่ แต่ฝั่ง 'กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ' ก็ยังคงยืนยันจุดยืนเดิม และกางผลการศึกษาที่สะท้อนว่า CPTPP ในฐานะข้อตกลงทางการค้ายุคใหม่ คือ "ความจำเป็น"
งานศึกษาของ ดร. จักรกฤษณ์ ควรพจน์ ผู้อำนวยการวิจัยฝ่ายกฎหมายเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เพิ่งตีพิมพ์เมื่อต้นปี 2564 กับสถาบันวิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยูซอฟ อิสฮะก์ แห่งสิงคโปร์ อาจช่วยฉายภาพให้เห็นผลกระทบในมิติของประชาชนรายบุคคลได้ดีขึ้น เช่น
กรณีการเข้าถึงยาของผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี/เอดส์นั้น ในงานศึกษาพบว่า สูตรยาต้านไวรัสเอดส์ จีพีโอ-วีไออาร์ ที่องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้พัฒนานั้น มีส่วนประกอบสำคัญ 3 อย่างคือ stavudine, lamivudine และ nevirapine ซึ่งล้วนไม่ติดสิทธิบัตร ส่งผลให้องค์การเภสัชฯ สามารถผลิตยารักษาสูตรดังกล่าวได้ในราคาประมาณ 1,200 บาท/ผู้ป่วย/เดือน ขณะที่ยาประเภทเดียวกันที่เป็นยานำเข้าราคาสูงถึง 18,620 บาท/ผู้ป่วย/เดือน แพงกว่าเกือบ 94%
เมื่อกลับมามองภาพใหญ่ งานศึกษาซึ่งอ้างอิงจาก FTA ไทย-สหรัฐฯ แม้จะไม่ใช่กรณีจาก CPTPP โดยตรงแต่เนื้อหาคล้ายกัน พบว่า หากประเทศไทยยอมรับมาตรการ 'การผูกโยงการขึ้นทะเบียนตำรับยากับระบบสิทธิบัตร' (Patent linkage) แล้วส่งผลให้ยาชื่อสามัญเข้าสู่ตลาดล่าช้าจากปกติ เป็นเวลา 5 ปี จะส่งผลให้ในปี 2570 ประเทศต้องแบกรายจ่ายด้านยาเพิ่มขึ้น 201,875.67 ล้านบาท
ขณะที่ฝั่งหนึ่งบอกว่าการเดินหน้าลงนามความตกลงจะทำร้ายประเทศ อีกฝั่งยืนยันหนักแน่นว่าการตกลงครั้งนี้จะช่วยซื้อโอกาสทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทย เช่นนั้นแล้ว ใครกันแน่ที่เป็นฝ่ายพูดความจริง
ทั้งสองฝั่งพูดความจริง แต่เป็นความจริงที่ยืนอยู่บนฐานคนคิดละอย่างและยากต่อการนำมาเปรียบเทียบ
ในบทความศึกษาอีกชิ้นที่ตีพิมพ์กับสถาบันวิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยูซอฟ อิสฮะก์ ยังมีบทเฉพาะที่พิจาณาเป็นพิเศษว่า สรุปแล้วประเทศไทยควรเข้าร่วม CPTPP หรือไม่
ผศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า แท้จริงแล้วส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจของ CPTPP ทั้ง 11 ประเทศในปัจจุบันคิดเป็นแค่ 13% ของจีดีพีโลก ขณะที่ความร่วมมือ RCEP กลับสูงถึง 31.5% ของจีดีพีโลก
นอกจากนี้ แม้จะเพิ่มประเทศผู้ลงนามในความตกลง CPTPP เข้าไปอีก 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย, เกาหลีใต้, ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ก็ไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก เนื่องจากก่อนหน้านี้ที่ความตกลงแบบ TPP ได้อานิสงส์จากขนาดเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อยู่มาก ขณะเดียวกันฝั่ง RCEP ได้ความยิ่งใหญ่ของจีนเข้ามาอุ้มชูไว้
ผศ.ดร.อาชนัน เสริมว่า ตลอดช่วงที่ผ่านมา ฝั่งสนับสนุนการเข้าร่วม CPTPP มักโยงว่าเป็นการเปิดโอกาสเขาสู่ตลาดที่มีผู้บริโภคกว่า 500 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกอย่างแน่นอน ทว่าเมื่อไปดูข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่ไทยมีแล้วกับ 7 จากทั้งหมด 11 ประเทศสมาชิก CPTPP จะพบว่าไม่ได้เพิ่มศักยภาพในการเติบโตให้ประเทศอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไทยกลับต้องแบกข้อบังคับอื่นๆ ที่ตามมาแบบได้ไม่คุ้มเสีย
RCEP หรือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคซึ่งพัฒนามาจากแนวคิด ASEAN+3 (จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ ) และ ASEAN+6 (จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และอินเดีย) อาเซียนผลักดันแผน RCEP ตามยุทธศาสตร์ของภูมิภาคที่ต้องการรักษาบทบาทในฐานะศูนย์กลางขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาค
เริ่มต้นในช่วงปลายปี 2555 เริ่มเจรจาอย่างเป็นทางการในปีต่อมา การเจรจายืดเยื้อมาจนถึงปี 2562 โดยสมาชิกทั้ง 15 ประเทศ (ยกเว้นอินเดีย) สามารถปิดการเจรจาจัดทำความตกลงทั้ง 20 บท และเจรจาเปิดตลาดในส่วนสำคัญทั้งหมดแล้ว และเมื่อ 15 พ.ย. 2563 รัฐมนตรีของทั้ง 15 ประเทศ ลงนามความตกลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือรายละเอียดทางเทคนิคเพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้โดยเร็ว
ข้อมูลจากบทความของ รศ.ดร.อาชนัน ณ ปี 2561 ความตกลง RCEP คิดเป็นสัดส่วน 31.5% ของจีดีพีโลก และคิดเป็น 28.2% ของจีดีพีโลกเมื่อตัดประเทศอินเดียออกไป เพราะปัจจุบันอินเดียยังไม่ได้ลงนามกับ RCEP นอกจากนี้จำนวนประชากรรวมของ 15 ประเทศในความตกลงดังกล่าว ยังคิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 47.5% ของประชากรโลก (เหลือ 29.7% เมื่อตัดอินเดียออก) ทั้งยังคิดเป็น 29.2% ของปริมาณการค้าโลก (เหลือ 27.1% เมื่อตัดอินเดียออก)
ตั้งแต่แรกเริ่มนั้น TPP หรือ ความตกลงหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิก มีทั้งหมด 12 ประเทศสมาชิก ได้แด่ ออสเตรเลีย, แคนาดา, นิวซีแลนด์, ญี่ปุ่น, ชิลี, เปรู, เม็กซิโก, บรูไน, มาเลเซีย, สิงคโปร์, เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา ต่อมาเมื่อ 29 ก.ค.2559 ในยุคที่ 'โดนัล ทรัมป์' นั่งเป็นประธานาธิบดี สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากความตกลงดังกล่าว จึงเป็นเหตุผลให้ 11 ประเทศสมาชิกเดินหน้าต่อ โดยเปลี่ยนชื่อเป็น CPTPP
หลังเดินหน้าต่อและมีการสรุปผลการจัดทำความตกลงเรียบร้อย ปัจจุบัน มี 7 ประเทศสมาชิกจากทั้งหมด 11 ประเทศให้สัตยาบันรับรองความตกลงดังกล่าว ได้แก่ เม็กซิโก, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, นิวซีแลนด์, แคนาดา, ออสเตรเลีย และเวียดนาม อีก 4 ประเทศที่เหลือคือ เปรู, มาเลเซีย, บรูไน และชิลี
ตามข้อมูลจากบทความของ ผศ.ดร.อาชนัน ณ ปี 2561 หากเป็น TPP แบบเดิม จะมีสัดส่วนทางเศรษฐกิจราว 37% ของจีดีพีโลก โดยมีตัวเลขประชากรรวมของ 12 ประเทศสมาชิกคิดเป็น 10.9% ของประชากรโลก และมีสัดส่วนปริมาณการค้าราว 25.8% ของการค้าโลก
ขณะที่เมื่อเปลี่ยนสถานะมาเป็นเพียง CPTPP สัดส่วนจีดีพีของประเทศสมาชิกรวมกันอยู่ที่เพียง 13% ของจีดีพีโลก ขณะที่สัดส่วนประชากรลงมาเหลือ 6.6% ของประชากรโลก และมีตัวเลขส่วนแบ่งการค้า เพียง 14.9% ของการค้าโลกเท่านั้น
ในบทความวิจัยของ ผศ.ดร.อาชนัน น้ำหนักของความตกลง RCEP เสมือนให้ผลประโยชน์กับประเทศไทยมากกว่าเมื่อพิจารณาในเชิงตัวเลข เนื่องจากหัวหอกสำคัญของ RCEP คือมหาอำนาจอย่างจีน ที่มีขนาดเศรษฐิจและจำนวนประชากรมาก
ขณะเดียวกัน CPTPP ที่ขาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้สร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจโลกถึง 24% ก็เหมือนขาดเครื่องยนต์สำคัญมาขับเคลื่อน และแม้จะมีหลายประเทศแสดงความสนใจในการเข้าร่วมกับ CPTPP ทั้งสหราชอารณาจักร, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ หรือแม้กระทั่งไทย ก็ยังไม่ช่วยกระตุ้นตัวเลขเศรษฐกิจขึ้นมาเท่าไหร่นัก
ในทางตรงกันข้าม กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลประเด็นดังกล่าวโดยตรง ได้จัดทำการศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP เช่นเดียวกัน โดยแบ่งออกเป็นทั้งหมด 9 กรณี รวมกรณีฐานที่ประเทศต่างๆ ไม่ได้มีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีแต่อย่างใด
สำหรับกรณีที่ 1-4 เป็นสมมติฐานว่าไทยไม่เข้าร่วมข้อตกลงแล้วจะเป็นเช่นใด โดยมีข้อแตกต่างกันที่ประเทศที่เข้าร่วมกับ CPTPP ขณะที่ กรณี 5-8 คือสมมติฐานหากไทยเข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าว
'อรมน ทรัพย์ทวีธรรม' อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ย้ำในช่วงปีที่ผ่านมาว่า แม้ที่สุดแล้วจะมีประเทศลงนามกับ CPTPP ทั้งหมดแค่ 11 ประเทศ แต่หากไทยตัดสินใจไม่เข้าร่วม จะส่งผลให้จีดีพีหดตัวจากกรณีฐานถึง 0.25% หรือราว 26,600 ล้านบาท ขณะที่ถ้าเข้าร่วมด้วยเงื่อนไขเดียวกันจีดีพีประเทศจะเพิ่มขึ้น 0.12% หรือราว 13,300 ล้านบาท
แน่นอนว่า ข้อมูลจากการศึกษาของกรมเจรจาการค้าฯ ชี้ว่า สำหรับกรณีอื่นๆ ยิ่งหากกลายเป็นว่า ไทยตัดสินใจไม่เข้าร่วมแต่ประเทศอื่นตัดสินใจเข้าร่วม ไทยยิ่งจะสูญเสียมูลค่าจีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้น
ในทางตรงกันข้าม หากไทยตัดสินใจเข้าร่วมแล้วให้โชคดีว่ามีประเทศอื่นเข้าร่วมด้วย จีดีพีประเทศอาจโตได้ถึง 0.22% จากกรณีฐาน หรือคิดเป็น 23,480 ล้านบาท
เมื่อเอาข้อมูลจากทั้ง 2 ฝั่งมากางเทียบกัน จึงกลับไปตอกย้ำประเด็นข้างต้นว่า ทั้งสองฝ่ายพูดถูก เพราะผลกระทบอย่างที่เอ็นจีโอชี้มีอยู่จริง แม้แต่รายงานการศึกษาจากกรมเจรจาการค้าฯ ก็พูดถึงเช่นเดียวกัน
ขณะที่โอกาสในการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างที่กรมเจรจาการค้าอ้างอิงจากงานศึกษาของตน ก็พบข้อศึกษาที่บ่งชี้จากผู้วิจัยที่ไม่ใช่กรมเจรจาการค้าฯ เช่นเดียวกัน
งานศึกษาจากสถาบันวิจัยของสิงคโปร์ระบุว่า หากไทยเข้าร่วมกับ CPTPP และมีประเทศอย่างฟิลิปปินส์, อินโดนนีเซีย, ไต้หวัน และเกาหลีใต้ เข้ามาร่วมด้วยจะส่งผลให้รายได้ของไทยในปี 2573 เพิ่มขึ้นราว 3.6% เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีความตกลงใดๆ เกิดขึ้น และด้วยเงื่อนไขดังกล่าวภาคส่งออกจะโตถึง 12% เช่นกัน
เถียงกันเช่นนี้ต่อไป อย่างไรก็หาข้อยุติไม่ได้ เพราะฝ่ายหนึ่งยืนอยู่บนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเด็นเฉพาะ อาทิ ปัญหาจากประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาที่นำไปสู่ปัญหาการเข้าถึงยาและเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกร ขณะที่ฝั่งรัฐบาลยืนอยู่บนการมองจีดีพีรวมของทั้งประเทศและหยิบ 'ค่าเสียโอกาส' จากการไม่เข้าร่วมมาต่อรอง
อย่างไรก็ดี ในช่วงท้ายของงานบทวิจัย รศ.ดร.อาชนัน เขียนถึงคำแนะนำในการดำเนินนโยบายของรัฐ 3 ประการ สำคัญ
ประการแรก รัฐบาลตั้งปรับจุดยืนที่มีต่อการเดินหน้านโยบายที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ในอนาคตที่อาจเกิดจากการเข้าร่วมเขตการค้าเสรี โดยลงลึกไปที่ภาคส่วนต่างๆ ของประเทศอาจเสียผลประโยชน์มากกว่ามองแบบเหมารวม ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
ประการที่สอง ปรับปรุงกระบวนการสื่อสารภาครัฐ ทั้งกับรัฐบาลกับประชาชน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การทำความเข้าใจควรมีอย่างทั่วถึง
จากคำแนะนำดังกล่าว หากมองย้อนกลับนับตั้งแต่ประเด็น CPTPP เดือดระอุขึ้นมาช่วงต้นปี 2563 นั้น จะพบว่าฝั่งประชาสังคมมีความกระตือรือร้นในการติดตาม-ทางถามการดำเนินงานจากฝั่งรัฐบาลในสัดส่วนที่มีมากกว่าฝั่งรัฐบาลออกมาชี้แจงข้อมูลกับประชาชน
ประการสุดท้าย เมื่อทั้งสองฝ่ายทราบดีว่าผลกระทบย่อมมีแน่ และฝั่งกรมเจรจาการค้าเองออกมาย้ำเองว่า ประเด็นสำคัญที่สังคมเป็นกังวลสามารถเยียวยาแก้ไขได้ ก็ต้องนำเสนอแนวทางการเยียวยาและสนับสนุนผู้ได้รับผล กระทบอย่างครบถ้วน
ในรายงานจากกรมเจรจาการค้าในหัวข้อ 'การปรับตัวและเยียวยาผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย' พบว่า แทบทั้งหมดของบทดังกล่าวประกอบไปด้วยคำแนะนำให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบต้องปรับตัวและเตรียมพร้อม โดยวางกรอบกว้างๆ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแต่ละประเด็นเป็นผู้ไปให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน
ทว่าการให้ 'ความรู้' ไม่เพียงพอจะนำมาเป็นเครื่องยืนยันกับประชาชนได้ว่า เมื่อรัฐบาลเลือกเดินหน้าลงนามในข้อตกลงนี้พวกเขาจะได้รับการเยียวยาที่เป็นรูปธรรมอย่างไร
ในหัวข้อทรัพย์สินทางปัญญาที่มีการถกเถียงอย่างหนักหน่วง รายงานจากกรมเจรจาการค้าฯ ให้กรอบการเยียวยาไว้เพียง 2 ย่อหน้า ที่ระบุว่า ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความรู้ประชาและจัดศูนย์รับเรื่องร้องเรียน พร้อมแนะนำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันไปกระตุ้นให้ประชาชนพัฒนาสายพันธุ์พืชใหม่ๆ เพื่อเลี่ยงปัญหาทรัพย์สินทางปัญญา
ขณะที่ในกรณีสิทธิบัตรยา นอกจากคำแนะนำที่เหมือนเดิมกับทุกกรณีอื่น คือการให้หน่วยงานที่ "หารือแนวทางการพัฒนากระบวนการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการ รวมถึงศึกษาเปรียบเทียบต้นทุนและผลประโยชน์ที่ได้รับจากการจัดทำระบบดังกล่าว"
เมื่ออ่านคำแนะนำการเยียวยาประชาชนจากงานศึกษาของกรมเจรจาการค้าฯ จะพบว่าทุกอย่างเป็นคำสั่งแบบนามธรรม ไม่อาจสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผู้จะได้รับผลกระทบแม้แต่น้อยว่าพวกเขาจะได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ หากตัดสินใจยอมให้รัฐบาลเข้าร่วมกับความตกลงนี้
แม้สุดท้าย หากการเข้าร่วมข้อตกลงครั้งนี้คำนวณออกมาแล้วเป็นบวกมากกว่าลบจริง รัฐบาลก็ยังสอบตกในเรื่องการสื่อสารภาครัฐและมาตรการเยียวยาที่สร้างความมั่นใจจากประชาชนอยู่ดี
นอกจากนี้ หากภาครัฐไม่เลือกออกมาชี้แจงประชาชนให้เข้าใจอย่างถี่ถ้วนกับแนวทางการดำเนินงานของนโยบายนี้ และหาจุดร่วมในการพิจารณาข้อดี-ข้อเสีย ประเด็น CPTPP ก็ไม่อาจยุติลงได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;