ไม่พบผลการค้นหา
มติ กสม. ชี้ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับ 27 ข้อ 11 ควบคุมสื่อ เป็นการจำกัดเสรีภาพ-ละเมิดสิทธิมนุษยชน จี้ ศบค.ยกเลิก

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ รตญา กอบศิริกาญจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวผลการพิจารณาข้อร้องเรียนจากผู้แทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอให้ตรวจสอบกรณีที่นายกรัฐมนตรีประกาศใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ข้อ 11 และ ข้อกำหนดฯ (ฉบับที่ 29) ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ซึ่งระบุมาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน (สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19) และการเสนอข่าวที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าการกระทำดังกล่าวของนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกร้องเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและสื่อมวลชน จึงขอให้ตรวจสอบ นั้น

กสม.ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง บทบัญญัติของกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว เห็นว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณาและการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น รวมทั้งเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพของสื่อมวลชน ได้รับความคุ้มครองและรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 34 และ 35 สอดคล้องกับเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งได้รับรองไว้ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 19 และแม้เสรีภาพในการแสดงออกอาจถูกจำกัดได้ตามกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน แต่การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับหลักความจำเป็นและความได้สัดส่วน กล่าวคือ มาตรการจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะต้องเป็นมาตรการที่เบาที่สุดเท่าที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายได้ ทั้งจะต้องมีความสมเหตุสมผลกับเป้าหมายที่ต้องการบรรลุ และหลักความได้สัดส่วนจะต้องปรากฏในกฎหมายและได้รับการบังคับใช้จากทั้งฝ่ายปกครองและฝ่ายตุลาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจำกัดการแสดงออกที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นสาธารณะ (public debate) นักการเมืองและผู้นำสังคม

กสม. เห็นว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและออกข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 27 ข้อ 11 เพื่อแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งมีลักษณะเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก รวมทั้งเสรีภาพในการเสนอข้อมูลข่าวสารของประชาชน มีข้อความของบทบัญญัติที่กว้างขวาง คลุมเครือ ไม่ชัดเจน และสามารถตีความไปได้หลายแบบตามความมุ่งหมายของผู้ใช้กฎหมาย โดยอาจมีการตีความได้ว่า การเสนอข่าวหรือการแสดงความคิดเห็นที่เป็นความจริงแต่ทำให้ประชาชนหวาดกลัวก็ถือว่ามีความผิดได้ โดยที่มิได้พิจารณาว่าข่าวนั้นเป็นความจริงหรือไม่ หรือเป็นข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรือไม่ นอกจากนี้ผู้บังคับใช้กฎหมายยังอาจตีความได้ว่า การเสนอข่าวหรือการแสดงความคิดเห็นที่เป็นความจริงแต่อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว และกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนก็อาจเป็นความผิดได้ ลักษณะนี้จึงถือเป็นการจำกัดเสรีภาพที่ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มุ่งหมายจะแก้ไขและยับยั้งเหตุฉุกเฉินจากการแพร่ระบาดของโรคเท่านั้น

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 27 ข้อ 11 เปรียบเทียบกับข้อกำหนด ฯ ฉบับที่ 29 ข้อ 1 แล้วเห็นได้ว่า มีข้อความเหมือนกัน ซึ่งภายหลังการบังคับใช้ข้อกำหนด ฯ ฉบับที่ 29 ได้ไม่นาน บริษัท รีพอตเตอร์ โปรดักชั่น จำกัด กับพวกรวม 12 คน ได้ฟ้องคดีต่อศาลแพ่งขอให้เพิกถอนข้อกำหนดดังกล่าวพร้อมกับยื่นคำร้องขอไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวในกรณีฉุกเฉิน โดยศาลแพ่งมีความเห็นในตอนหนึ่งว่า “ข้อกำหนดที่ห้ามเผยแพร่ข้อความอันอาจทำให้เกิดความหวาดกลัว มิได้จำกัดเฉพาะข้อความอันเป็นเท็จดังเหตุผลและความจำเป็นตามที่ระบุไว้ในการออกข้อกำหนด ย่อมเป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของโจทก์ทั้งสิบสองและประชาชน ทั้งข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวตามข้อกำหนดดังกล่าวมีลักษณะไม่แน่ชัดและขอบเขตกว้าง ทำให้โจทก์ทั้งสิบสอง ประชาชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนไม่มั่นใจในการแสดงความคิดเห็นและสื่อสารตามที่รัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา 34 วรรคหนึ่งและมาตรา 35 วรรคหนึ่ง คุ้มครองไว้” และศาลแพ่งมีคำสั่งเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ห้ามนายกรัฐมนตรีในฐานะจำเลยดำเนินการบังคับใช้ข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 29 เป็นการชั่วคราว หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 31 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2564  ยกเลิกข้อกำหนด ฯ ฉบับที่ 29  กสม. จึงเห็นควรยุติการตรวจสอบในประเด็นของข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 29 นี้ อย่างไรก็ดี คำพิพากษาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การบังคับใช้ข้อกำหนด ฯ ฉบับที่ 27 ข้อ 11 ซึ่งมีข้อความเช่นเดียวกับข้อกำหนด ฯ ฉบับที่ 29 ข้อ 1 ย่อมส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการเสนอข่าวสารของผู้ร้องทั้งหกและประชาชนเกินสมควรแก่เหตุได้เช่นเดียวกัน

ดังนั้น แม้ผู้ถูกร้องโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 จะไม่ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและเสนอพยานหลักฐานตามที่ กสม. ได้ร้องขอ ซึ่งเป็นขั้นตอนการให้โอกาสในการชี้แจงแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วย กสม. แต่พยานหลักฐานที่ปรากฏในชั้นตรวจสอบก็เพียงพอที่ กสม. จะพิจารณาและมีความเห็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากการใช้บังคับข้อกำหนด ฯ ฉบับที่ 27 ข้อ 11 และแม้จะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีบุคคลใดถูกดำเนินคดีอาญาจากการใช้บังคับข้อกำหนด ฯ ดังกล่าว แต่จากเหตุผลที่ได้กล่าวมาในชั้นต้น ย่อมเห็นได้ว่าข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 27 ข้อ 11 กระทบต่อเสรีภาพในการเสนอข้อมูลข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชนเกินสมควรแก่เหตุ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน กสม. จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะมาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 (ศปก.ศบค.) ดังนี้ 

  • พิจารณายกเลิกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) เฉพาะส่วนในข้อ 11 
  • ในระหว่างที่ข้อกำหนดฯ ฉบับที่ 27 ข้อ 11 ยังมีผลใช้บังคับ ให้ ศบค. ใช้วิธีการชี้แจงหรือประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยให้พิจารณาใช้มาตรการที่จำเป็นเหมาะสมภายใต้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่แล้ว เช่น ประมวลกฎหมายอาญา หรือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เป็นต้น