ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ เพื่อ 3 วัตถุประสงค์หลัก คือ 1) เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายและลดต้นทุนของผู้ประกอบการที่ยื่นขอรับใบอนุญาต 2) ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ และ 3) สร้างแรงจูงใจให้มีการยื่นขอใบอนุญาตและใบรับรองเพิ่มมากขึ้น
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อก. ได้มีการออกกฎกระทรวงบังคับใช้ ดังนี้
1. กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2548 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 โดยได้กำหนดค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาต รวม 6 รายการ ได้แก่ 1) ใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ ตรา มอก. 2) ใบอนุญาตทำผลิตภัณฑ์ 3) ใบอนุญาตนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเข้ามาเพื่อจำหน่าย 4) คำขอย้ายสถานที่ 5) คำขอโอนใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาต และ 6) กรณีใบอนุญาตหายหรือชำรุดเสียหายมาก
2. กฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง พ.ศ. 2552 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติการมาตรฐานแห่งชาติ พ.ศ. 2551 โดยได้กำหนดค่าธรรมเนียมคำขอรับใบรับรอง ค่าธรรมเนียมใบรับรอง และค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบรับรอง ที่ครอบคลุมทั้งสิ้น 9 รายการ โดยในวันนี้ อก. ได้นำเสนอการยกเว้นค่าธรรมเนียม 3 รายการได้แก่ 1) คำขอรับใบรับรองมาตรฐานการตรวจสอบและรับรอง 2) ใบรับรองฯ และ 3) การต่ออายุใบรับรองฯ
ทั้งนี้ อก. ได้จัดทำรายงานประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่จะได้รับ โดยมาตรการดังกล่าวจะทำให้รัฐเสียรายได้จากการยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ประมาณ 21.6 ล้านบาท และจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมบางรายการสำหรับผู้ประกอบการตรวจสอบและรับรอง ประมาณ 1.4 ล้านบาท
โดยกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาตเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ทั้ง 2 ฉบับนั้น จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567
นอกจากมีมติรับทราบรายงานเปรียบเทียบประโยชน์ที่ได้รับกับการสูญเสียรายได้ที่เกิดขึ้นจริงกับประมาณการที่ได้จัดทำตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 สำหรับโครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พน. ได้ดำเนินมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) โครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (โครงการ ฯ) โดยให้ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าตามที่ พน. กำหนด จำนวน 45 บาท/คน/3 เดือน ระยะเวลาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 - เดือนมีนาคม 2565 ซึ่งต่อมา พน. ได้ให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกจำนวน 55 บาท/คน/3 เดือน รวมเป็น 100 บาท/คน/3 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 – มีนาคม 2566 โดย พน. ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น เพื่อดำเนินการตามโครงการดังกล่าวแล้ว
โดยที่การใช้จ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็นได้สิ้นสุดลงแล้ว พน. จึงได้รายงานผลการดำเนินโครงการ ฯ และรายงานเปรียบเทียบประโยชน์ที่ได้รับกับการสูญเสียรายได้ที่เกิดขึ้นจริง กับประมาณการ ณ สิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สำหรับโครงการ ฯ สรุปได้ ดังนี้
- มติคณะรัฐมนตรี 18 ตุลาคม 2565 ระยะเวลาใช้สิทธิ 25 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2565 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น ได้รับจัดสรร 302.50 ล้านบาท ใช้จริง 227.69 ล้านบาท คงเหลือ 74.81 ล้านบาท ผู้ใช้สิทธิ ประมาณการ 5.50 ล้านคน ใช้จริง 4.18 ล้านคน ส่วนต่าง 1.32 ล้านคน
- มติคณะรัฐมนตรี 20 ธันวาคม 2565 ระยะเวลาใช้สิทธิ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2566 งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น ได้รับจัดสรร 309.11 ล้านบาท (ได้รับจัดสรร 234.30 ล้านบาท + งบประมาณคงเหลือยกมา 74.81 ล้านบาท) ใช้จริง 291.63 ล้านบาท คงเหลือ 17.48 ล้านบาท ผู้ใช้สิทธิ ประมาณการ 5.62 ล้านคน ใช้จริง 5.35 ล้านคน ส่วนต่าง 0.27 ล้านคน
รวมทั้งสิ้น งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น ได้รับจัดสรร 536.80 ล้านบาท ใช้จริง 519.32 ล้านบาท คงเหลือ 17.48 ล้าน โดย พน. ได้ส่งคืนเงิน จำนวน 17.48 ล้าน ให้แก่สำนักงบประมาณ (สงป.) เรียบร้อยแล้ว
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าวพบว่า มีร้านค้าก๊าซหุงต้มกระทำผิดวัตถุประสงค์โครงการฯ โดยมีการแลกส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคชนิดอื่น ซึ่งสำนักงานพลังงานจังหวัดที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ณ ร้านก๊าซหุงต้ม และดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ครม.ไฟเขียวตั้ง ‘วัน อยู่บำรุง - บุญจง วงศ์ไตรรัตน์’ เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ แต่งตั้งบุคคลเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ดังนี้
1.) วัน อยู่บำรุง เป็น กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
2.) บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ เป็น กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
ทั้งนี้มีรายงานว่า สำหรับรายชื่อ วัน อยู่บำรุง นั้น เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เป็นผู้เสนอ
ขณะที่ บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ นั้น อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย เป็นผู้เสนอ