ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วานนี้ นายสนั่น อังอุบลุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย ได้กล่าวยกย่องพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในคราวที่เป็นประธานกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “จับมือ รวมใจ พาไทยรอด” ในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 39 วานนี้ว่า “ขอชื่นชมนายกรัฐมนตรี ที่ใด้แสดงความหนักแน่น พร้อมรับฟังความคิดเห็น และกล้าตัดสินใจ เช่นการจัดหาวัคซีนและการเปิดประเทศในช่วงที่ผ่านมา”
ประธานกรรมการหอการค้าไทย ยังยืนยันว่า หอการค้าไทยมีความตั้งใจและจริงจังที่จะทำงานเคียงคู่กับรัฐบาล หอการค้ายังมีคนรุ่นใหม่ที่เป็นทายาทธุรกิจที่มีศักยภาพสูงพร้อมที่จะช่วยสนับสนุนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศร่วมกับรัฐบาลเดินหน้าฝ่าวิกฤต พลิกโฉมประเทศไทยไปด้วยกัน ผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในปี 2565 กลับมาเติบโตและเข้มแข็งอีกครั้ง
ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะของหอการค้าไทยยังสอดคล้องกับแนวคิดนายกรัฐมนตรีและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 อาทิ การส่งเสริมการท่องเที่ยวมูลค่าสูง การขับเคลื่อนเทคโนโลยีสารสนเทศด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มและต่อยอด Application ต่าง ๆ การพัฒนาและยกระดับเกษตรมูลค่าสูง ตามแนวทาง BCG รวมทั้งการปรับปรุง กฏระเบียบ และกฏหมายที่ล้าสมัย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ในการพัฒนาสินค้าและบริการที่เน้นเพิ่มมูลค่า ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยก้าวเข้าสู่ตลาดต่างประเทศและเติบโต ด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การกระจายรายได้ รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตามที่นายกรัฐมนตรีได้แสดงเจตนารมย์และจุดยืนประเทศไทยในที่ประชุม COP 26 ด้วย
โฆษกประจำสำนักนายกกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ การรักษาการจ้างงาน รวมทั้งมาตรการเยียวยาต่าง ๆ ที่มีความครอบคลุมทุกกลุ่มประชาชน ทั้งโครงการเราชนะ โครงการคนละครึ่ง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ และให้ภาคเอกชนสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ ล่าสุดความสำเร็จของการเดินหน้าเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ยังสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด - 19 รัฐบาลยังเดินหน้าแก้ปัญหาซ้ำซาก เช่น น้ำท่วม รวมทั้งลดต้นทุนการเกษตร ส่งเสริมให้เป็นอาชีพอย่างยั่งยืน
ขณะเดียวกันไทยก็แสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยเป็นภาคีสำคัญในกลุ่มการร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ อาทิ ความร่วมมือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP รวมทั้งการศึกษาเพื่อเข้าร่วมความร่วมมือภายใต้ CPTPP : Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership โดยยึดผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนไทยสูงสุดด้วยเช่นกัน
“ท่านนายกรัฐมนตรีมีรูปแบบสไตล์การทำงานเฉพาะ ไม่เพียงแต่ออกข้อสั่งการ แต่ยังติดตามการดำเนินงานและรับฟังผลตอบรับจากพี่น้องประชาชน โดยนายกรัฐมนตรีให้ความสนใจกับเศรษฐกิจปากท้องของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะ ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ล่าสุดท่านนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นประธานคณะกรรมการแก้ปัญหาความยากจน โดยบูรณาการงานและความร่วมมือจากทุกส่วนราชการ มีการใช้ “ทีมพี่เลี้ยง” ลงไปขับเคลื่อนระดับพื้นที่ พูดคุยกับประชาชน ศึกษาปัญหารายครอบครัวด้วย ซึ่งเป็นรูปแบบที่รัฐบาลต่างประเทศทำเสร็จมาแล้ว แต่ยังไม่เคยมีรัฐบาลไทยชุดไหนเคยดำเนินการมาก่อน” นยธนกร กล่าว