“เราควรจะทำให้มั่นใจว่าเราแข็งแกร่งขึ้น” มารินระบุต่อผู้สื่อข่าว “และดิฉันจะขอพูดอย่างซื่อสัตย์แบบตรงๆ กับคุณ ยุโรปแข็งแรงไม่พอ เราจะตกอยู่ในปัญหาแน่ๆ หากปราศจากสหรัฐอเมริกา” คำเตือนของมารินเป็นการตอบคำถามของผู้สื่อข่าว เกี่ยวกับความรับผิดชอบของจีนในการ “กุมบังเหียนรัสเซีย” โดยมารินกล่าวว่า แม้ว่าจีนจะสามารถมีบทบาทได้ในห้วงความขัดแย้งนี้ แต่ “เราไม่ควรพึ่งพาเพียงแค่นั้น”
มารินยังคงยืนยันว่า ยูเครนต้องได้รับ “ทุกสิ่งที่จำเป็น” เพื่อที่จะเอาชนะสงคราม พร้อมกล่าวเสริมว่าสหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญในการจัดหาอาวุธ การเงิน และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ทางการยูเครน เพื่อบั่นทอนการรุกคืบของรัสเซีย “เราต้องแน่ใจว่าเรากำลังสร้างสมรรถภาพเหล่านั้น เมื่อพูดถึงการป้องกันประเทศของยุโรป อุตสาหกรรมการป้องกันของยุโรป และทำให้แน่ใจว่าเราสามารถรับมือกับสถานการณ์ประเภทต่างๆ ได้” นายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ระบุ
มารินยังระบุอีกว่า เมื่อรัสเซียเริ่มการรุกรานยูเครนในวันที่ 24 ก.พ. การจัดลำดับความสำคัญส่วนใหญ่ทางนโยบายของฟินแลนด์เปลี่ยนใน “ชั่วข้ามคืน” ไปเป็นประเด็นความมั่นคง จนกระทั่งรัสเซียรุกรานยูเครน โดยฟินแลนด์ให้ความสำคัญไปกับการมีความสัมพันธ์ทวิภาคีกับรัสเซีย และพยายามเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดกับชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) โดยที่ไม่ต้องเป็นสมาชิกองค์การ มารินกล่าว “นั่นคือวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาความมั่นคงของประเทศของเรา”
ฟินแลนด์และสวีเดนสมัครเข้าร่วมเป็นพันธมิตร NATO ในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา แต่กำลังรอให้ตุรกีและฮังการีให้สัตยาบันคำขอเป็นสมาชิกองค์การ ซึ่งต้องได้รับการอนุมัติจากอีก 28 ชาติในองค์การ โดยในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียเตือนว่า หาก NATO ติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานทางการทหารในฟินแลนด์และสวีเดน ทางการรัสเซีย “จะต้องตอบโต้อย่างได้สัดส่วน และจะยกระดับภัยคุกคามแบบเดียวกันสำหรับดินแดนเหล่านั้น ซึ่งนับเป็นภัยคุกคามที่เกิดขึ้นกับเรา”
เมื่อผู้สื่อข่าวถามมารินว่าสถานการณ์ที่เป็นไปได้มากที่สุด ในแง่ของภัยคุกคามจากรัสเซียต่อฟินแลนด์ ซึ่งมีพรมแดนร่วมกันยาวกว่า 1,300 กิโลเมตรจะเป็นเช่นใด มารินตอบว่า “เรามีกองกำลังทหารที่ครอบคลุม ดังนั้นเราจึงไม่คาดหวังว่าพวกเขาจะไม่เข้ามายุ่งเหยิงกับกิจการเรา และเราไม่เห็นการปฏิบัติการทางทหารใดๆ ใกล้ชายแดนฟินแลนด์”
“แต่แน่นอนว่าเราเตรียมพร้อม สำหรับการโจมตีแบบผสมผสานประเภทต่างๆ ที่เราอาจได้เห็น” มารินย้ำถึงภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นกับฟินแลนด์จากรัสเซีย “เรากำลังเตรียมพร้อมสำหรับการโจมตีทางไซเบอร์ประเภทต่างๆ… เรากำลังเตรียมความพร้อมสำหรับการโจมตีแบบไฮบริดประเภทต่างๆ ในเรื่องการบิดเบือนข้อมูล”
ระหว่างเดือน ก.พ. ถึงปลายเดือน ต.ค. การโจมตีทางไซเบอร์ต่อ “เป้าหมายสำคัญ” ในฟินแลนด์เพิ่มขึ้นกว่า 1 ใน 3 เท่า โดยจากบทความล่าสุดของ YLE สื่อของฟินแลนด์ที่อ้างข้อมูลของ อาโป เซแดร์แบร์ก ผู้บริหารสูงสุดของ Cyberwatch Finland ในเดือน ส.ค.ว่า แฮกเกอร์รัสเซียได้ออกมาอ้างความรับผิดชอบในการโจมตีเว็บไซต์รัฐสภาของฟินแลนด์ รวมถึงเว็บไซต์ของรัฐบาลอีกไซต์ของฟินแลนด์ โดยแฮกเกอร์รัสเซียอ้างว่า ตนโจมตีฟินแลนด์เพราะความกระตือรือร้นของฟินแลนด์ที่พยายามจะเข้าร่วม NATO
ในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา แอนต์ตี เปลต์ตารี ผู้อำนวยการของ Supo หน่วยงานความมั่นคงและข่าวกรองของฟินแลนด์ เตือนว่า “เราพิจารณาว่ามีความเป็นไปได้สูง ที่รัสเซียจะหันไปใช้สภาพแวดล้อม (ทางการโจมตี) ทางไซเบอร์ในช่วงฤดูหนาว” ทั้งนี้ Trafficom หน่วยงานด้านการขนส่งและการสื่อสารของฟินแลนด์รายงานว่า ในเดือน ต.ค.เพียงเดือนเดียว มีรายงานว่าการโจมตีทางไซเบอร์ต่อฟินแลดน์มีเพิ่มขึ้นเทียบเท่ากับช่วงเวลา 3 เดือนก่อนหน้ารวมกัน
ด้วยความกังวลเกี่ยวกับการโจมตีแบบไฮบริดอื่นๆ รวมถึงการโจมตีผ่านการกดดันให้เกิดการลี้ภัยเข้าฟินแลนด์ พรรคการเมืองหลักของฟินแลนด์ได้สนับสนุนข้อเสนอในการสร้างรั้วตามแนวชายแดนบางส่วนของประเทศที่ติดกับรัสเซีย ฟินแลนด์ยังกังวลเกี่ยวกับการข้ามแดนผิดกฎหมายจำนวนมาก เนื่องจากมีพลเมืองชายชาวรัสเซียหลบหนีการระดมพลของปูติน โดย เปกกา ฮาวิสโต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฟินแลนด์ระบุว่า ทางการพบชาวรัสเซียประมาณ 40,000 คน เดินทางเข้าสู่ฟินแลนด์ตั้งแต่สงครามยูเครนปะทุขึ้น
ทางการฟินแลนด์เพิ่งระงับวีซ่านักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย โดยมารินกล่าวว่า “มันกลายเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ทางศีลธรรม ที่จะปล่อยให้ชนชั้นกลางและชนชั้นสูงของรัสเซียเพลิดเพลินกับการพักผ่อนในยุโรปต่อไป ในขณะที่กองทัพของพวกเขาสังหาร ทรมาน และก่อการร้ายต่อชาวยูเครน”
ฟินแลนด์ ซึ่งมีประชากร 5.5 ล้านคน ยังคงมีการเกณฑ์ทหารต่อพลเมืองเพศชาย และมีกำลังทหารพร้อมสำหรับช่วงสงคราม 280,000 นาย โดยยังมี 870,000 นายที่ได้รับการฝึกเป็นทหารกองหนุน ทั้งนี้ ฟินแลนด์ใช้งบประมาณ 2% ของ GDP ไปกับการป้องกันประเทศ ซึ่งนับเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าสมาชิก NATO ส่วนใหญ่ ฟินแลนด์ยังเคยสู้กับในสงครามกว่า 2 ครั้งกับรัสเซียหรืออดีตสหภาพโซเวียตในปี 2483 ซึ่งส่งผลให้มีชาวฟินแลนด์เสียชีวิตไปกว่า 100,000 คน
“เรื่องราวของเราหลังสงคราม เมื่อเราได้รับเอกราช เป็นเรื่องที่ประสบกับความสำเร็จ” นายกรัฐมนตรีฟินแลนด์กล่าว “เราต้องทำให้แน่ใจว่า ชาวยูเครนมีความหวังอย่างนั้นนั้นว่า พวกเขาจะมีอนาคตอย่างนั้น”
ที่มา: