ไม่พบผลการค้นหา
เปิดใจนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี หลังถูก “ผู้กองปูเค็ม” ก่อกวนปั่นป่วนกิจกรรมสองวันติด ชี้ถูกใส่ร้ายว่าเป็นนักศึกษาแบ่งแยกดินแดน ยืนยันว่าไม่มีแนวคิด เพียงแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจฟ้องอาจารย์

นายมูฮัมหมัดรุสดี เชคฮารูณ รองโฆษกพรรคประชาชาติ ได้ไปเยี่ยมกลุ่มเครือข่ายนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่ได้ทำกิจกรรมการแสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ในระหว่างวันที่ 9-10 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่ถูกนายทหารที่ชื่อว่า ร.อ.ทรงกลด ชื่นชูผล หรือ “ผู้กองปูเค็ม” และกลุ่มชายฉกรรจ์คล้ายเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ตามมาก่อกวนปั่นป่วนการทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง 

นายสุวรรณ สวนแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการฝ่ายพิทักษ์สิทธินักศึกษา สภานักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะนักศึกษาผู้จัดกิจกรรมเปิดใจว่า เมื่อวันพุธที่ 9 ตุลาคม 2562 คณาจารย์และนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้ไปยื่นหนังสือแถลงการณ์ให้พนักงานสอบสวน สภ.เมืองปัตตานี มีความเข้าใจถึงการเคารพสิทธิและเสรีภาพของนักวิชาการ ในการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการและให้กำลังใจอาจารย์

ภายหลังจากอาจารย์อสมา มังกรชัย ซึ่งเป็นนักวิชาการ ถูกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ฟ้องกระทำผิดมาตรา 116 ร่วมกับผู้นำพรรคการเมืองฝ่ายค้าน จึงได้รวมกลุ่มนักศึกษาไปอ่านแถลงการณ์หน้า สภ.เมืองปัตตานี เพื่อแสดงจุดยืนของนักศึกษาว่าไม่เห็นด้วยกับการแจ้งความดำเนินคดีต่ออาจารย์ที่ร่วมเสวนาในเวทีฝ่ายค้านพบประชาชน ที่จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา 

“เราเป็นนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยต่อการที่ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงและกลั่นแกล้งประชาชน โดยใช้กลไกอำนาจกระทำต่อประชาชน ส่วนตัวมองว่ากฎหมายเป็นสิ่งที่จะให้บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย แต่ไม่ใช้เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจกลั่นแกล้งประชาชนผู้บริสุทธิ์ เช่นอาจารย์ของพวกเรา ซึ่งเป็นนักวิชาการ พวกเราจึงต้องการแสดงพลังเพื่อจะบอกว่าไม่เห็นด้วยต่อการที่ผู้มีอำนาจใช้กฎหมายต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์” นายสุวรรณ กล่าว

โดยการทำกิจกรรมดังกล่าวผู้กองปูเค็ม และพรรคพวกคล้ายเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ไปก่อกวนการทำกิจกรรมของนักศึกษา โดยการส่งเสียงตะโกนพูดแทรกในระหว่างที่กลุ่มอาจารย์และนักศึกษากำลังยืนอ่านแถลงการณ์หน้าสถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี ซึ่งนายสุวรรณมองว่าเป็นสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยที่เขาสามารถแสดงจุดยืนของตนเองว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อกรณีไหน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือนักศึกษาถูกปรักปรำจากผู้กองปูเค็มว่าเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดน เป็นกลุ่มขบวนการต่างๆที่ก่อความไม่สงบในพื้นที่

จึงขอย้ำว่า พวกเราไม่ใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน แต่เป็นนักศึกษาที่มาจากต่างพื้นที่ เราแค่มาให้กำลังใจอาจารย์ โดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทั้งจากฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายใด แต่เราไปในนามนักศึกษาที่ต้องการให้กำลังใจอาจารย์ที่ถูกใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้อง และขอสื่อสารไปยังนายทหารคนดังกล่าวว่า เขามีสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงออกได้ แต่ต้องไม่กระทบและไม่หมิ่นประมาทผู้อื่น ซึ่งสิ่งที่เขาแสดงออกในวันนั้นกระทบต่อนักศึกษาเป็นอย่างมาก

S__46334016.jpg

เช่นเดียวกับ นายไฟซอล บือราเฮง อดีตนายกสโมสรนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เล่าว่าผู้กองปูเค็มได้ตามมาก่อกวนปั่นป่วนกิจกรรมที่กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาจัดขึ้นสองวันต่อเนื่อง วันแรกคือการไปแสดงพลังบริสุทธิ์ อ่านแถลงการณ์หน้า สภ.เมืองปัตตานี วันที่สองเป็นกิจกรรมการเสวนาเรื่อง “อดีต ปัจจุบัน อนาคต รัฐธรรมนูญไทย” ที่ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ซึ่งได้เชิญตัวแทนจากพรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านร่วมเสวนา

แต่ปรากฏว่ามีแต่ตัวแทนจากพรรคฝ่ายค้านเท่านั้นที่ตอบรับมาร่วมเสวนา ประกอบ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ, นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ และนายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และไม่ได้รับการตอบรับจากพรรคฝ่ายรัฐบาล ซึ่งในระหว่างที่ดำเนินการเสวนาอยู่นั้น ผู้กองปูเค็มได้ลุกขึ้นจับไมค์พูดแทรกก่อกวนในระหว่างที่กำลังมีการเสวนาอย่างไร้มารยาท จนถูกผู้ร่วมงานห้ามปรามให้หยุดแสดงพฤติกรรมกร่าง และพยายามพูดก่อกวนในงานเสวนา จนถูกนักศึกษาและผู้ร่วมงานโห่ร้องไม่พอใจต่อพฤติกรรมของผู้กองปูเค็ม  

นายไฟซอล มองว่า การคิดต่างนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่ควรมีมารยาทในการแสดงออก เพราะในงานเสวนาได้เปิดช่วงเวลาให้แสดงความคิดเห็น แต่เขากลับทำให้เสียบรรยากาศการเสวนา ซึ่งพฤติกรรมของทหารแบบนี้ คือการคุกคามนักศึกษา 

“เราถูกคุกคาม เพราะว่าสองวันที่ผ่านมาเราไปให้กำลังใจอาจารย์ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ด้วยความเคารพ ผมอยากจะบอกว่า ประเทศไทยเรามีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พวกเรายึดมั่นในระบอบนี้ ซึ่งเรามีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ฉะนั้น การแสดงความเห็นในเวทีเสวนาเป็นสิ่งที่ไม่ผิดที่เราจะคุยกัน ผมก็อยากเห็นการแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน เพราะอยากให้ประเทศของเราสันติสุข หยุดความขัดแย้งที่มีมา 15 ปี” นายไฟซอล กล่าว