ไม่พบผลการค้นหา
5 ส.ส.พรรคเพื่อไทย ยื่นหนังสือร้องเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ขอให้ตรวจสอบข้อหาล็อกสเปกโครงการสร้างถนนทางหลวง งบประมาณ 190 ล้านบาท

ที่ศาลากลางจังหวัดมหาสารคาม นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคามและประธาน วิปฯ พรรคร่วมฝ่ายค้าน นายไชยวัฒนา ติณรัตน์ ส.ส. มหาสารคาม นายจิรวัฒน์ ศิริพานิชย์ ส.ส.มหาสารคาม และ นพ.กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ส.ส.มหาสารคาม ได้เดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนด่วนที่สุด เลขที่ 2858 ถึงนายเกียรติศักดิ์ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม

ทั้งนี้ เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อกล่าวหาการล็อกสเปก การประกวดราคาในระบบ E-Bidding ของโครงการจ้างก่อสร้างโครงการยกระดับมาตรฐานและเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง (ขยายถนน จาก 2 เลน ไปเป็น 4 เลน) จำนวน 4 โครงการ งบประมาณทั้งสิ้น 190 ล้านบาท โดยเป็นงบประมาณปี 2563 ของจังหวัดมหาสารคาม (งบมหาดไทย) ตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ได้มอบอำนาจให้กรมทางหลวงโดยนายไวพจน์ สำราญดี ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงจังหวัดมหาสารคามปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคามได้ประกาศประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการถนนจำนวน 4 โครงการ ดังนี้ คือ

  • โครงการก่อสร้างถนนยกระดับมาตรฐานทาง สาย 2381 (นาเชือก-โพธิ์ทอง) ระยะทาง 2.50 กม. วงเงินฯ 50 ล้านบาท วงเงินทำสัญญา 49,985 ล้านบาท ลดต่ำกว่าราคากลาง 15,000 บาท
  • โครงการก่อสร้างถนนยกระดับมาตรฐานทางสาย 2045 (หนองคูโคก-วาปีปทุม) ระยะทาง 2 กม. วงเงิน 40 ล้านบาท วงเงินทำสัญญา 39,985 ล้านบาท ลดต่ำกว่าราคากลาง 15,000 บาท
  • โครงการก่อสร้างถนนยกระดับมาตรฐานทางสาย 2040 (วาปีปทุม-พยัคฆภูมิพิสัย) ระยะทาง 2.50 กม. วงเงินทำสัญญา 49,985 ล้านบาท ลดต่ำกว่าราคากลาง 15,000 บาท
  • โครงการก่อสร้างถนนยกระดับมาตรฐานทางสาย 2040 (มหาสารคาม-วาปีปทุม) ระยะทาง 2.50 กม. วงเงินทำสัญญา 49,970 ล้านบาท ลดต่ำกว่าราคากลาง 30,000 บาท

ทั้งนี้ ปรากฏว่าการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (E-Bidding) ทั้ง 4 โครงการฯ ได้ผู้รับจ้างรายเดียวทั้งหมดคือ หจก.บรบือพรเทพ และลดราคาต่ำกว่าราคากลางเพียงเล็กน้อยคือ โครงการละ 15,000 บาท และยังพบว่าในประกาศประกวดราคาของ 4 โครงการ ใช้ข้อกำหนดเพื่อกีดกันไม่ให้ผู้ประกอบการรับเหมาถนนรายอื่น ๆ ไม่สามารถยื่นซองประกวดราคาแข่งขันได้ดังนี้ คือ

1) ใช้เครื่อง Hot Recycling ในการล็อกสเปกเพราะถ้าบริษัทรับเหมาที่ไม่มีเครื่องมือดังกล่าวก็ไม่สามารถยื่นซองได้ และการใช้เครื่อง Hot Recycling ก็ไม่เหมาะสมกับความเสียหายของถนนในพื้นที่ของจังหวัดมหาสารคาม เนื่องความเสียหายของพื้นผิวถนนรุนแรงควรที่จะต้องซ่อมแซมถึงชั้นฐาน (Base) ของถนน

2) การกำหนดว่าจะต้องมีโรงงานผสมแอสฟัลต์คอนกรีต (Plant) รัศมี 100 กม.แสดงให้เห็นถึงการกีดกันไม่ให้เกิดการแข่งขันจากผู้ประกอบการรายอื่นๆ

3) การกำหนดว่าผู้ยื่นซองเสนอราคาจะต้องขึ้นทะเบียน Hot Recycling กับกรมทางหลวงเป็นการล็อกสเปก ให้กับผู้ประกอบการรายหนึ่งรายใดแม้แต่งานก่อสร้างฯ ของกรมทางหลวงเองก็ไม่เคยระบุเรื่องการขึ้นทะเบียนเครื่อง Hot Recycling กับกรมทางหลวง

4) จังหวัดมหาสารคามในอดีตเมื่อหลายปีที่ผ่านมาก็เคยดำเนินการประกวดราคางานก่อสร้างถนนฯ ในลักษณะเดียวกันเหมือนกัน ต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายปีแต่ก็ไม่เคยมีการระบุในเรื่องของเครื่อง Hot Recycling และ Plant รัศมี 100 กม. มาก่อน ถือว่าเป็นข้อกำหนดใหม่

ดังนั้น ส.ส. จังหวัดมหาสารคามทั้ง 5 จึงได้เดินทางไปยื่นหนังสือให้ผู้ว่าการจังหวัดมหาสารคาม ได้ตรวจสอบความโปร่งใสและป้องกันการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน นอกจากนี้ในวันที่ 14 พ.ค. ส.ส.มหาสารคามทั้งหมดจะได้ยื่นเรื่องการก่อสร้างถนนดังกล่าวต่อปลัดกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมทางหลวง เพื่อให้ตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย