นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.คลัง โพสต์เฟซบุ๊กระบุถึงการประกาศผลประกวดเฟซชีลด์ โดยระบุว่า ส่วนตัวเคยแสดงความเห็นเมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา เรื่องเอาชนะโควิดด้วยเฟซบชีลด์ผ่านทางเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวและรายการ "สุมหัวคิด" ทางวอยซ์ทีวี และ "ตอบโจทย์" ทางไทยพีบีเอส ต่อมาตนประกาศเชิญชวนผู้มีความคิดสร้างสรรค์มาช่วยกันออกแบบเฟซชีลด์ในรูปลักษณ์ใหม่ที่ป้องกันละอองฝอยได้ พกพาง่าย ใช้วัสดุที่หาง่ายและราคาถูก ประชาชนหาซื้อหรือประกอบเองได้ไม่ยาก โดยมอบเงินรางวัล 100,000 บาท
โดยคณะกรรมกาตัดสินเฟซชีลด์มี 3 คน คือ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรืออาจารย์อ๊อด จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายดวงฤทธิ์ บุนนาค หรือคุณด้วง สถาปนิกและนักออกแบบมือรางวัล
จากนั้นตนได้รับโทรศัพท์จากผู้ใหญ่ท่านหนึ่งโดยไม่คาดหมาย ท่านบอกว่า ท่านชอบความคิดเรื่องเฟซชีลด์ ท่านเห็นผมจัดประกวดจึงอยากสนับสนุนให้การประกวดนี้ได้รับความสนใจมากขึ้นถ้าเงินรางวัลมากกว่านี้ จะกระตุ้นให้คนสนใจออกแบบมากกว่านี้ ขอร่วมสนับสนุนด้วย 500,000 บาท และท่านไม่ประสงค์ออกนามเพื่อไม่ให้มีข้อสงสัยจนคิดมากมายเลยเถิดเกินไป ท่านนี้พำนักอยู่ในประเทศไทย ต่อมาก็มีผู้ใหญ่อีกท่านขอสนับสนุนเงินรางวัลประกวด 300,000 บาท เพื่อให้ครบ 1,000,000 บาท และไม่ประสงค์จะออกนาม ท่านนี้พำนักอยู่ในประเทศไทยเช่นกัน
นพ.สุรพงษ์ ระบุว่า เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2563 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการจึงจัดประชุมกันออนไลน์เพื่อแบ่งประเภทของการประกวดใหม่เพราะมีเงินรางวัลเพิ่มขึ้น โดยจัดแยกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภททำมือทำเอง (Handcraft / DIY) กับประเภทผลิตภัณฑ์ (Product) และยกเลิกการคัดเลือกรอบแรก เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประกวดสามารถส่งต้นแบบมาได้ทันทีจนถึงวันที่ 9 เม.ย. ตั้งแต่เช้าวันที่ 6 เม.ย. ต้นแบบจากผู้เข้าประกวดเริ่มทยอยเข้ามาที่สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ซึ่งเป็นสถานที่ที่ทำการทดสอบการป้องกันละอองฝอย ต้นแบบถูกส่งมากล่องแล้วกล่องเล่าจนถึงกลางดึกวันที่ 9 เม.ย. และกองทับซ้อนกันรวมแล้วกว่า 300 ชิ้น
นพ.สุรพงษ์ ระบุว่า วันที่ 10 เม.ย. คณะกรรมการมากันตั้งแต่เช้าก่อน 9.00 น. คุณดวงฤทธิ์ช่วยคัดต้นแบบที่พิจารณาแล้วว่า น่าจะป้องกันละอองฝอยได้ดี มีการออกแบบที่ลงตัวสวยงาม สามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้สะดวก ประมาณ 70 ชิ้น คุณด้วงลงมือคัดแยกได้อย่างรวดเร็วจนน่าอัศจรรย์ ชิ้นที่ผ่านการคัดแยก คุณด้วงอธิบายคร่าวๆว่า ผ่านเพราะอะไร ดีไซน์นี้เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมอย่างไร ต้นแบบประมาณ 70 ชิ้นถูกลำเลียงไปสวมที่หุ่นทีละชิ้นๆ แล้วปล่อยละอองฝอยตรงไปที่ใบหน้าหุ่นเป็นเวลา 1 นาที ด้วยระยะห่างเท่ากัน องศาเดียวกัน เพื่อควบคุมตัวแปรไม่ให้มากวนการทดสอบ ในขั้นตอนนี้ บางชิ้นตกรอบไป เพราะไม่สามารถป้องกันละอองฝอยได้ตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ชิ้นที่ผ่านเข้ารอบ ถูกทดสอบต่อด้วยกระดาษลิตมัส ในตอนบ่าย น้ำในเครื่องพ่นละอองฝอยถูกเปลี่ยนเป็นกรดน้ำส้มเพื่อให้มีคุณสมบัติเป็นกรด หากกระดาษลิตมัสซึ่งเป็นสีน้ำเงินอ่อนที่คาดไว้บริเวณตา จมูก และปากของหุ่น ถูกกรดน้ำส้มจะเปลี่ยนสีเป็นสีชมพู เฟซชีลด์ที่ชนะการประกวดทุกรางวัล ผ่านการทดสอบด้วยกระดาษลิตมัสว่า ไม่เปลี่ยนสี
สำหรับผลการประกวดออกมาดังนี้ ประเภททำมือทำเอง (Handcraft / DIY)
รางวัลชนะเลิศ 300,000 บาท : คุณฌาฆีภัตฐ์ เพชรคง
รางวัลรองชนะเลิศ 100,000 บาท : ผศ.ดร.เถกิง พัฒโนภาษ และ คุณญาโณทัย ตรีรัตน์โชติกุล
รางวัลที่สาม 40,000 บาท : คุณสุรชัย เพชรแสงโรจน์
รางวัลที่สี่ 20,000 บาท : 1.คุณทรงพล ขำนิพัทธ์ 2.คุณภาณุรัฐ แสงเทียน
ประเภทผลิตภัณฑ์ (Product)
รางวัลชนะเลิศ 300,000 บาท : คุณธรณ์ธันย์ ณ พัทลุง
รางวัลรองชนะเลิศ 100,000 บาท : คุณเสริมศักดิ์ ศรีพงษ์ธนากุล
รางวัลที่สาม 40,000 บาท : คุณเสาวลักษณ์ ดำรงมุกดาธรรม
รางวัลที่สี่ 20,000 บาท : 1.คุณธนกฤติ เทียนไพบูลย์ 2.คุณเดชาวัจน์ ดุลทรัพย์โสภณ 3.คุณจิตริน ชะเนินรัมย์ 4.ดีไซน์ 571
นพ.สุรพงษ์ ย้ำว่า คณะกรรมการใช้ดุลพินิจตัดสินการประกวดโดยไม่ดูชื่อผู้ส่งเข้าประกวดเลยแม้แต่น้อย ต้นแบบบางชิ้นออกแบบได้ดี แต่ยังไปได้ไม่สุดเพราะมีเวลาพัฒนาจำกัด บางชิ้นใช้ความทุ่มเทมาก แต่ไม่เหมาะในชีวิตประจำวัน หลายชิ้นคล้ายกับที่มีจำหน่ายในท้องตลาดซึ่งยังป้องกันละอองฝอยได้ไม่ดีนัก
"คำตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นเด็ดขาด และผู้ได้รับรางวัลยินดียกต้นแบบที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาให้เป็นสมบัติสาธารณะตามกติกาที่ได้แจ้งไว้ เพื่อให้ผู้สนใจไปผลิตจำหน่ายอย่างแพร่หลายและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ส่วนชุมชนก็สามารถนำแนวคิดไปทำเพื่อแบ่งปันแจกจ่ายต่อไป ต้นแบบที่ชนะการประกวดทั้ง 12 ชิ้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของเฟซชีลด์ ต่อจากนี้เราคงได้เห็นการต่อยอดอีกมากมายจากทั้ง 12 แบบนี้ที่จะพลิกโฉมหน้าของเฟลชีลด์ไปตลอดกาล โดยหวังว่า เฟซชีลด์จะเป็นเครื่องมือทรงพลังของมนุษย์ที่ใช้ควบคู่กับการล้างมือด้วยน้ำสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล เพื่อป้องกันไวรัสซึ่งทำให้เกิดโรคโควิด-19"
นพ.สุรพงษ์ ระบุว่าจะติดต่อผู้ได้รับรางวัลทั้ง 12 ท่านเพื่อนัดหมายมารับรางวัล ส่วนท่านที่พลาดรางวัลในครั้งนี้ สามารถติดต่อเพื่อรับเฟซชีลด์ต้นแบบของท่านคืนได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0873929447 ภายในวันที่ 24 เม.ย.นี้ หากพ้นกำหนด จะส่งมอบเฟซชีลด์ต้นแบบทั้งหมดที่ยังไม่มีผู้ใดมารับให้หน่วยงานการกุศลเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป
นพ.สุรพงษ์ ระบุว่า ตนรู้สึกมาตลอดว่าควรมีคำเรียกภาษาไทยสำหรับเฟซชีลด์ได้แล้ว เมื่อเช้านี้ในสเตตัสของศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใช้คำเรียกเฟซชีลด์ว่า หมวกกันหน้า ให้คล้องจองกับหมวกกันน็อก ตนคิดว่า "กันหน้า" แปลจากเฟซชีลด์ในภาษาอังกฤษได้ตรงตัว แต่แบบของเฟซชีลด์อาจไม่จำเป็นต้องมีลักษณะหมวกเสมอไป ต้นแบบที่ชนะการประกวดบางแบบก็เพียงคาดที่ใบหน้าเท่านั้น ในชั้นนี้จึงขอหยิบยืมคำ "กันหน้า" ของ ศ.ดร.ชาญวิทย์มาผสมกับคำว่า "อนามัย" เพื่อให้สอดคล้องกับอุปกรณ์ป้องกันโรคที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้ว
"เมื่อเราใช้ถุงยางอนามัยแทน Condom เมื่อเราใช้หน้ากากอนามัย แทนMask ถ้าเช่นนั้น เราจะใช้กันหน้าอนามัยแทน Face Shield ได้ไหม"