วันที่ 9 ก.พ. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... หรือ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ตามที่ ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลกับคณะ เป็นผู้เสนอ โดย ธัญวัจน์ อภิปรายเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยระบุว่า ร่างนี้มีหลักการสำคัญเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งมีหลายมาตราขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27 วรรคสาม เนื่องจากเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องเพศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบัญญัติซึ่งปรากฏในบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งขัดต่อการดำรงอยู่ของกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ จึงเสนอแก้ไข กำหนดให้บุคคล ทุกคนได้การรับรองสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิในเรื่องการหมั้น สิทธิในการจดทะเบียนสมรส สิทธิในการจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส สิทธิในการเป็นทายาทโดยธรรม การรับบุตรบุญธรรม และในการรับมรดกจากคู่สมรส ซึ่งการแก้ไขนี้จะทำให้สิทธิบุคคลทุกคนเกิดความเท่าเทียมและได้รับการรับรอง และคุ้มครองทางกฎหมาย สอดคล้องกับหลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย และหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
"แต่ในสิ่งที่เรียบง่ายนี้เองกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศกลับไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐานในการก่อตั้งครอบครัว ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ ทำให้การก่อตั้งครอบครัวของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่มี สิทธิ์ ไม่มีศักดิ์ศรีและ ไม่มีสวัสดิการ กฎหมายสมรสเท่าเทียม จึงไม่ได้เป็นการเรียกร้องสิ่งที่ไม่มี แต่เป็นกฎหมายที่เรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานที่ถูกพรากไปตั้งแต่แรก"
ธัญวัจน์ อภิปรายต่อว่า หลายคนอาจจะนึกไม่ออกว่าบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศมีปัญหาอะไรบ้างเมื่อพวกเขาไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ และบางคนมองว่สดูเหมือนก็เหมือนมีเสรีภาพอยู่แล้วในสังคมปัจจุบัน จึงขอเป็นกระบอกเสียงของคู่รักผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้ถูกบันทึกไว้ในสภา
"สิทธิในการก่อตั้งครอบครัว ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ ทำให้การก่อตั้งครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศนั้นพวกเราไม่มีสิทธิ ไม่มีศักดิ์ศรี ไม่มีสวัสดิการค่ะ กฎหมายสมรสเท่าเทียม ไม่ได้เป็นการเรียกร้องสิ่งที่มากกว่าผู้อื่น แต่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBT เรากำลังบอกกับท่านผู้มีอำนาจว่า สิทธิในการก่อตั้งครอบครัวนี้พวกท่านพรากพวกเราไป และสิทธิในการตั้งครอบครัวนี้เป็นสิทธิที่พวกเราทุกคนต้องมีอยู่แล้ว ท่านประธาน ขออภัยค่ะ" ธัญวัจน์ อภิปรายพร้อมทำกระดาษทิชชู่หยิบขึ้นมาซับน้ำตากลางที่ประชุมสภาฯ
"พวงเพชร เหงคำ และ เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ๊ง คู่รักหญิงรักหญิง ซึ่งใช้ชีวิตร่วมกันอย่างเรียบง่ายที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน มากว่า 13 ปี แต่ขณะเดียวกันก็เผชิญความทุกข์ร่วมกันจากกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ตั้งแต่การเซ็นรับรองเพื่อเข้ารับบริการรักษาพยาบาลแทนไม่ได้ ทำประกันชีวิต จะระบุให้คนรักเป็นผู้รับประโยชน์ ก็ไม่สามารถระบุได้ เพราะมักถูกเรียกหาทะเบียนสมรส เวลาซื้อที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์
รวมถึงไม่สามารถกู้เงินร่วมกันเพื่อซื้อบ้าน ก็ไม่สามารถถือครองร่วมกันในฐานะคู่สมรส กลายเป็นซื้อแล้วถือครองกันคนละแปลง หรือพอสร้างบ้านก็กลายเป็นบ้านที่มีกรรมสิทธิ์คนเดียว ไม่สามารถถือครองทรัพย์สินใดๆ ร่วมกันในฐานะคู่สมรสเฉกเช่น ชาย-หญิง "
ธัญวัจน์ ชี้ว่า หลายคนเข้าใจผิดว่าถือครองร่วมกันได้ แต่ในความเป็นจริง คือการต้องใช้ช่องว่างทางกฎหมายซึ่งมิใช่สิทธิที่เท่าเทียม และสิ่งที่คู่รักหลากหลายทางเพศส่วนมากกังวลคือ โดยทั่วไปเมื่อไม่ได้จดทะเบียนสมรส เวลาที่เสียชีวิตทรัพย์สินจะถ่ายทอดไปสู่บุคคลที่มีสายเลือดใกล้ชิดที่สุด ซึ่งในชุมชนของคู่รักหลากหลายทางเพศจำนวนมากไม่ได้อยู่กับครอบครัว รวมถึงครอบครัวไม่ได้มีส่วนในทรัพย์สินที่หามาได้ ดังนั้นคนที่ควรรับทรัพย์สินเหล่านี้คือคนที่ใช้ชีวิตร่วมกัน
นอกจากนี้ ด้าน “สวัสดิการสังคม” ไปจนถึงนโยบายองค์กรที่ทำงาน ครอบครัวคู่รักหลากหลายทางเพศก็ได้รับไม่เท่ากับคนอื่นๆ เช่น บางองค์กรมีนโยบายองค์กรอาจมีนโยบายช่วยเหลือด้านค่าเล่าเรียนบุตร มีนโยบายด้านสนับสนุนด้านค่ารักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย แต่ครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ไม่ถูกรับรองในทางกฎหมาย จะถูกมองเป็นบุคคลมากกว่า ไม่ใช่ครอบครัวก็จะไม่ได้รับสวัสดิการเหล่านี้ หรือมียังข่าวน่าเศร้าของครูราชการผู้หญิงข้ามเพศ 'มิกกี้' ที่ใช้ชีวิตอยู่กับคนรักมานาน และเมื่อคนรักป่วยเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้ายก็ไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลจากราชการได้
"จากข้อมูล LGBT Capital มีประชากร กลุ่มนี้ 4 ล้านคน และอาจมีถึง 7 ล้านคน เพราะไม่เปิดเผยตัวตน หรือข้อมูลจากรุงเทพธุรกิจก็ระบุไว้ว่า กลุ่มที่มีอายุมากกว่า 15 ปี มีจำนวน 3.6 ล้านคน หรือมีสัดส่วน 5 เปอร์เซนต์ นี่คือการรอคอยของคนจำนวนมากที่วันนี้ยังไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐาน ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ พ.ศ. ...เป็นปรากฎการณ์ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่มีผู้มาให้ความคิดเห็นในกระบวนการมาตร77 ถึง 54,451 คน
"การแก้ไขมาตรา 1448 ที่เป็นการสมรสระหว่างชายหญิงเปลี่ยนเป็นระหว่างบุคคลกับบุคคลเป็นใจความสำคัญ และสอดคล้องกับหลักการยอร์คยากาตาร์ ที่เป็นแนวทางสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ว่าการบัญญัติกฎหมายต้องไม่มองข้ามประเด็นเพศสภาพ เพศวิถี และ อัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งหมายถึงว่า การมีระบบสองเพศในกฎหมาย ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต การสร้างครอบครัวของกลุ่มนี้ และในความเป็นจริงเรื่องเพศในปัจจุบัน ไม่ได้มีแค่สองเพศอย่างในอดีตที่เข้าใจ เพราะสิ่งเหล่านี้คือสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะดำเนินชีวิตในสิ่งที่ตนเองนิยามตัวตนและวิถีทางเพศที่หลากหลาย"
ธัญวัจน์ ระบุว่า การสร้างครอบครัวของชายหญิงทั่วไปคือการสืบสายโลหิต ส่วนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศสร้างครอบครัวด้วยสายสัมพันธ์และนี่คือรักที่ไม่มีเงื่อนไข นี่คือช่วงเวลาสำคัญที่เราทุกคนในสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ ที่ใช้อำนาจจากประชาชนที่ส่งท่านมาในสภาแห่งนี้ ใช้อำนาจเพื่อให้ประชาชนมีความสุข ให้เกิดความเสมอภาค ท่านทำได้ในวินาที ตอนนี้ ร่วมเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เกิดความเสมอภาคทางเพศอย่างแท้จริง
อนุชา ขอรับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมไปพิจารณาก่อน 60 วัน เจอสวนถ่วงเวลา
ทันทีที่การอภิปรายของ ธัญวัจน์ จบลง อนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกมนตรีได้ลุกขึ้นขอให้สภาฯ รับร่างกฎหมายฉบับนี้ไปศึกษาก่อนส่งกลับคืนให้สภาพิจารณารับหลักการภายใน 60 วัน ซึ่งการกระทำในลักษณะดังกล่าวถูกฝ่ายค้านลุกขึ้นมาแย้งว่า เป็นการอุ้มกฎหมายของฝ่ายค้านที่เสนอสู่สภาฯ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพียงเพราะต้องการถ่วงเวลาเท่านั้น ซึ่งหากนับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม จะเป็นกฎหมายฉบับที่ 3 ที่ถูกคณะรัฐมนตรีขอมติอุ้มไปจากสภาในวันนี้ หลังจาก ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า และ ร่างแก้ไข พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของพรรคก้าวไกล ถูก ครม. อุ้มไปหมดแล้วก่อนหน้านี้
ภท.หนุนร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ปลดล็อกความล้าหลัง
ด้าน สิริพงศ์ อังสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย อภิปรายสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวว่า มีส.ส.ฝั่งรัฐบาลเห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นี้ แต่ครม.จะใช้สิทธิ แต่เราก็จำเป็นให้เกียรติให้เวลา ใช้เวลาถี่ถ้วนให้รอบคอบที่สุด แต่เวลามีเพียง 60วันแล้วค่อยรายงานมาที่สภาฯ เมื่อกลับมาสู่การพิจารณาของสภาฯ ก็ยืนยันว่าพร้อมที่จะสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ และผู้หลากหลายทางเพศมีความสามารถ และกฎหมายปัจจุบันล้าหลังก้าวไม่ทันโลก ทำให้คนกลุ่มหนึ่งเห็นว่าถูกกดขี่และกดทับ ดังนั้นสภาฯต้องปลดปล่อยพันธนาการนี้ ถ้าสภาฯได้พิจารณา ตนก็จะยืนยันรับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้
'เพื่อไทย' ค้านส่งให้ ครม.ดองร่าง 60 วัน ย้ำหนุนร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
จากนั้น จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกลว่า เมื่อครม.เสนอญัตติว่าจะส่งกลับไปยังครม.พิจารณา แต่ก็ยังมีการอภิปรายว่าจะรับหรือไม่รับ แต่เมื่อดำเนินการมาแล้วตนก็จะอภิปราย โดยเรื่องนี้ได้พูดคุยกันมานับ 10 ปีสมัยตนอยู่การเมืองแรกๆในปี 2545-2546 สมัย ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ เป็นรมว.มหาดไทยก็เคยมีแนวคิด และปี 2555 ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็มีภาคประชาชนเสนอให้ผลักดัน พ.ร.บ.คู่ชีวิต และ พรรคเพื่อไทยก็เห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
"เรื่องนี้เป็นก้าวยิ่งใหญ่ของประเทศ เรามองว่านี่คือก้าวแรก ก้าวต่อไปมีสิทธขั้นพื้นฐานที่จะมอบคืนให้บุคคลเหล่านั้น โดยเฉพาะสิทธิการรักษาตามบัตร 30บาทรักษาทุกโรค ยังไม่ครอบคลุมพี่น้องที่มีความหลากหลายทางเพศ ทั้งที่ประชาชนกลุ่มนี้ไม่ใช่ตัวเลือกแต่เป็นสิ่งที่เกิดมา ดังนั้น การรักษาพยาบาลต้องอุดหนุนช่วยเหลือเขา ต้องมีความจำเป็นรับยาหรือปรึกษาทางการแพทย์ ยาฮอร์โมน เดือนละหลายพันบาท ต้องมีกลไกของรัฐบาลในสวัสดิการรักษาพยาบาลเพื่อผ่อนเบาในอนาคต" จุลพันธ์ ระบุ
จุลพันธ์ ระบุว่า พรรคเพื่อไทยไม่เห็นชอบให้ส่งเรื่องไปให้ ครม.พิจารณาใน 60 วันก่อนส่งให้สภาฯลงมติรับหลักการ และตนก็รู้ว่ารัฐบาลจะปัดตก แต่ใช้กลไก ครม.พิจารณาก่อน 60 วัน เพราะสมัยประชุมรัฐสภาจะต้องปิดสมัยและกว่าจะมาพิจารณาต่อคิววาระการประชุม และจะต้องพิจารณาในเดือนที่ 4 ถ้าสมัยประชุมหน้ามาปัดตก จะทำให้ร่าง พ.ร.บ.ที่มีเนื้อหาลักษณะเดียวกันก็จะเสนอเข้าสู่สมัยประชุมนั้นไม่ได้ ถ้ามีความจริงใจ ไม่ต้อง 60 วันให้ลงมติไปเลยตั้งคณะกรรมาธิากร (กมธ.) ให้ออกมาเป็นกฎหมาย ถ้าปัดตก สมัยประชุมหน้า พวกตนจะได้เสนอร่าง พ.รบ.อีก แต่พรรคเพื่อไทยยืนยันเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม
ภายหลังเปิดให้สมาชิกอภิปรายเสร็จสิ้น เวลา 18.36 น. ที่ประชุมสภาฯ ได้มีมติอนุมัติให้ ครม.รับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปพิจารณาใน 60 วันก่อนลงมติรับหลักการ ด้วยมติเห็นด้วย 219 เสียง ไม่เห็นด้วย 118 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง โดยที่ประชุมมีมติอนุมัติให้นำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวส่งให้ ครม.ครม.พิจารณาใน 60 วันก่อนรับหลักการ
จากนั้น ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมได้สั่งปิดการประชุมทันที