ไม่พบผลการค้นหา
นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 58 ภายใต้แนวคิดหลัก “Inclusivity and Sustainability” ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย 8 - 11 กรกฎาคม 2568

นายพลพงศ์ วังแพน อธิบดีกรมอาเซียน ให้ข้อมูลถึงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 58 และการหารือระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 58 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 8 - 11 กรกฎาคม 2568 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย โดยมีรัฐมนตรีต่างประเทศหรือผู้แทนจาก 30 ประเทศและองค์กรเข้าร่วมการประชุมด้วย

รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะหารือเกี่ยวกับพัฒนาการความร่วมมือของอาเซียนภายใต้แนวคิดหลัก “Inclusivity and Sustainability” ของมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ซึ่งจะช่วยเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 47 ในเดือนตุลาคม 2568 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์

การเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสให้ไทยได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการในภูมิภาคและสถานการณ์โลกที่สำคัญกับรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศคู่เจรจาของอาเซียน 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน สหภาพยุโรป อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ รวมทั้งผ่านกรอบการประชุมต่าง ๆ อาทิ การประชุมอาเซียนบวกสาม การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) รวม 17 การประชุม อีกทั้งรัฐมนตรีฯ จะทำหน้าที่ประธานการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-เกาหลีใต้ ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-เกาหลีใต้ วาระปี 2567-2570

รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนยังจะใช้โอกาสนี้ผลักดันความร่วมมือเพื่อรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ อาทิ ภัยความมั่นคงของมนุษย์ ปัญหาหมอกควันข้ามแดน อาชญากรรมออนไลน์ และการพัฒนาความมั่นคงทางเศรษฐกิจและเศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งความพยายามในการรับมือกับสถานการณ์โลกที่ผันผวน และการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคภายใต้มุมมองของอาเซียนต่ออินโด - แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP)

นอกจากนี้ รัฐมนตรีฯ ใช้โอกาสในการพบหารือทวิภาคีกับประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะนี้มีรัฐมนตรีต่างประเทศและผู้แทนจาก 30 ประเทศและองค์กรเข้าร่วม ทั้งประเทศมหาอำนาจ (เช่น จีน สหรัฐฯ รัสเซีย) และองค์กรสำคัญ เช่น EU จึงเป็นโอกาสสำคัญในการพบหารือทวิภาคีกับมิตรประเทศทั้งในอาเซียนและนอกอาเซียน เพื่อผลักดันประเด็นความร่วมมือที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง การค้า การลงทุน สาธารณสุข และการพัฒนาที่ยั่งยืน

ประเด็นสำคัญที่ไทยจะผลักดัน ได้แก่

(1) การส่งเสริมความเป็นแกนกลางและเอกภาพของอาเซียน

(2) การส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

(3) ความร่วมมือด้านดิจิทัล

(4) การพัฒนาที่ยั่งยืน ย้ำบทบาทของไทยในฐานะผู้ประสานงานของอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน

(5) การส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ เน้นการแก้ปัญหาภัยความมั่นคงข้ามพรมแดน อาทิ online scam อาชญากรรมไซเบอร์ และยาเสพติด ปัญหาหมอกควันข้ามแดน

(6) สถานการณ์ในเมียนมา สนับสนุนบทบาทนำของอาเซียนในระยะการฟื้นฟูหลังเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมา และ สนับสนุนให้เกิดการหารือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างครอบคลุม

ประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ ได้แก่

  1. ส่งเสริมบทบาทนำของไทยในอาเซียน เนื่องจากการประชุม AMM/PMC เป็นเวทีสำคัญที่สะท้อนถึงบทบาทเชิงรุกและสร้างสรรค์ของไทยในเวทีอาเซียน รวมถึงแสดงความพร้อมในการขับเคลื่อนความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม
  2. ผลักดันผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและการค้า โดยไทยสามารถใช้เวทีนี้ผลักดันความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะส่งเสริมการใช้ประโยชน์จาก FTA ที่มีอยู่และอยู่ระหว่างเจรจา ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
  3. ต่อยอดความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการและภาคเอกชนไทย ให้สามารถเชื่อมต่อกับภูมิภาคและตลาดโลก ซึ่งประเทศไทยเป็นประธานคณะกรรมการการเจรจา Digital Economy Framework Agreement (DEFA)
  4. เสริมความมั่นคงและรับมือกับภัยคุกคามใหม่ โดยเฉพาะอาชญากรรมข้ามพรมแดน ยาเสพติด ปัญหาหมอกควัน และอาชญากรรมไซเบอร์ เป็นปัญหาที่ทุกประเทศทั้งในและนอกอาเซียนเผชิญร่วมกัน
  5. ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ในฐานะที่ไทยเป็นผู้ประสานงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของอาเซียน รวมทั้งจะช่วยเสริมบทบาทของไทยในเวทีโลกด้านสิ่งแวดล้อม และอาจเปิดโอกาสในการเข้าถึงเงินทุนหรือโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศในอนาคต
  6. เสริมบทบาทไทยและอาเซียนต่อสถานการณ์ในเมียนมา