ไม่พบผลการค้นหา
งานเสวนา 'รัฐธรรมนูญสนทนา' : 'นิธิ' ชี้หากแก้ รธน.หนีไม่พ้นเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แนะเลี่ยงนองเลือด ชนชั้นนำต้องยอมรับและปรับตัว - ประจักษ์ชี้ รธน.60 เดินทางมาถึงจุด 'ชราภาพ' ต้องมาทบทวน รธน.ใหม่ - 'สมชาย' เผยเสรีภาพประชาชนถูกปรับเปลี่ยนไปในช่วงเปลี่ยนรัชกาล

ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีงานเปิดตัวโครงการวิจัยและชุดเสวนาสาธารณะ “Constitution Dialogue : รัฐธรรมนูญสนทนา” - ร่วมคิด ร่วมถก ร่วมสร้างสรรค์ รัฐธรรมนูญเพื่ออนาคต จัดขึ้นโดยศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม, ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ The101.world เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2563  

Mix copy.jpg


ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตย ในบรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

ช่วงหนึ่งของงานเสวนา ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า เรามาถึงจุดที่ทุกคนเริ่มตระหนักว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเดินทางมาถึงจุดที่ทำให้สังคมไทย “ชราภาพก่อนวัย ไม่แข็งแรง และขาดสมรรถภาพในการรับมือกับความท้าทายในอนาคต” ต้องมาทบทวนรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งไม่ใช่การทบทวนบทบัญญัติทางกฎหมายที่เป็นเรื่องทางเทคนิค หากคิดเช่นนี้ก็มักจะตกไปอยู่ในมือของนักนิติศาสตร์หรือนักรัฐศาสตร์ไม่กี่คนในการร่าง 

แต่หากมองการร่างรัฐธรรมนูญใหม่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจซึ่งหมายถึงเป็นการปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ คนทุกกลุ่มจำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะประชาชนชนที่เสียเปรียบและไร้อำนาจต่อรอง

ประจักษ์กล่าวต่อว่า ความท้าทายในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คือ “การพยายามร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตย ในบรรยากาศทางการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย” ประจักษ์ยกตัวอย่างรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับที่คิดว่าดีและวางอยู่บนหลักการประชาธิปไตย คือ ฉบับปี 2489, 2517,และ 2540 และชี้ให้เห็นว่าทั้ง 3 ฉบับล้วนเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สังคมกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย 

prajakuk copy.jpg

เขาชี้ให้เห็นว่า การพยายามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยในช่วงเวลานี้เป็นสิ่งที่ยากและท้ายทายกว่า 3 ช่วงเวลาดังกล่าว เนื่องจากบรรยากาศทางการเมืองในปัจจุบันยังไม่มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยเหมือน 3 ฉบับดังกล่าว โจทย์ใหม่จึงถูกเปลี่ยนจากการรอให้ไปสู่การเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยและคาดหวังรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นการพยายามร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อพาสังคมไทยกลับไปสู่ประชาธิปไตยแทน 

ประจักษ์เสนอ 3 แก่นคิดในการร่างรัฐธรรมนูญคือ 1) ควรจะเป็นรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่ฉันทามติใหม่ที่ทุกคนยอมรับร่วมกัน 2) ต้องเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 3) ควรจะเป็นรัฐธรรมนูญเพื่ออนาคต 

"ไม่ว่าสถาบันฯใดก็ตามที่ใช้อำนาจและงบประมาณของสาธารณะ ควรเป็นอำนาจที่ตรวจสอบได้และมีการถ่วงดุลกันอย่างเหมาะสม เราไม่ควรไปผลิตอำนาจขึ้นมาโดยที่ไม่สามารถตรวจสอบได้"


เสรีภาพประชาชนถูกปรับเปลี่ยนในช่วงเปลี่ยนรัชกาล

somchai copy.jpg

สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ในรอบกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมาเขาเห็นภาพสถาบันทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอย่างพรรคการเมืองหรือระบบการเลือกตั้ง ถูกลดทอนจำกัดและถูกทำลายให้มีความสำคัญน้อยลง ขณะที่สถาบันฯที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งกลับขยายอำนาจบทบาทและมีความสำคัญต่อการชี้ขาดประเด็นปัญหาทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น ซึ่งกลายเป็นปมประเด็นปัญหาที่คิดว่าเป็นความสำคัญทางการเมืองเรื่องหนึ่ง 

เขามองว่าความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้การเปลี่ยนผ่านจากในหลวงรัชกาลที่ 9 มาสู่รัชกาลที่ 10 และตำแหน่งของสถาบันพระมหากษัตริย์ก็มีความแตกต่างไปอย่างมาก ทั้งในแง่ทางโครงสร้างและวัฒนธรรม และสิ่งที่เขาพบคือ สิทธิเสรีภาพของประชาชนจำนวนมากทั้งตามรัฐธรรมนูญและตัวบทกฎหมาย ถูกปรับเปลี่ยนทั้งในเชิงลายลักษณ์อักษรและในโลกแห่งความเป็นจริง 

สมชายกล่าวต่อว่า การคุกคามประชาชนด้วยกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นความจริงของสิทธิเสรีภาพในช่วงเวลาปัจจุบัน เขามองว่าเป็นความเปลี่ยนแปลงในเชิงภาพกว้างที่จะพอมองเห็นในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา 

สมชายเสนอ 4 เรื่องที่ควรพิจารณาในการออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่คือ

1. รัฐธรรมนูญต้องตั้งอยู่บนหลักอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ที่คนทุกกลุ่มต้องมีส่วนที่จะผลักดันประเด็นต่างๆ ของตนเองให้เข้าไปสู่รัฐธรรมนูญและมีส่วนร่วมในการออกแบบรัฐธรรมนูญ หรือแม้กระทั่งการตัดสินใจ

2. ต้องจัดวางความสัมพันธ์ของสถาบันทางการเมืองต่างๆ ทั้งฝ่ายบริหาร, นิติบัญญัติ, ตุลาการ, ประชาชน สถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีเป้าหมายที่บรรลุประโยชน์ถึงส่วนรวมและปัจเจกบุคคล มีการจัดวางถ่วงดุลตรวจสอบอำนาจของแต่ละฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ

3. ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ต้องวางอยู่บนหลักการที่สำคัญคือ พระมหากษัตริย์ปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง หมายความว่าพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะประมุขของรัฐโดยที่ไม่ได้ทำหน้าที่ในการบริหารบ้านเมืองเฉกเช่นเดียวกับในหลายๆ ประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภา และมีพระมหากษัตริย์ดำรงตำแหน่งเป็นประมุขของรัฐ หรืออีกนัยหนึ่งคือสิ่งที่เรียกว่า “The King Can Do No Wrong” ซึ่งหมายถึงพระมหากษัตริย์มิอาจกระทำความผิด ทั้งหมดนี้เพื่อจัดวางให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่พ้นไปจากการเมือง

4. รัฐธรรมนูญต้องเปิดพื้นที่และเปิดโอกาสให้ประชาชนต่อสู้ต่อรองได้อย่างเสมอหน้า ให้สถาบันทางการเมืองต่างๆ ไม่ถูกผูกขาดไว้อยู่ในมือของกลุ่มทุน หรือกลุ่มชนชั้นนำ

“เราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญการร่างรัฐธรรมนูญ ในสังคมที่ประชาธิปไตยลงหลักปักฐานอย่างมั่นคงก็จะไม่มีผู้เชี่ยวชาญการร่างรัฐธรรมนูญแน่ๆ เฉพาะแต่ในสังคมที่ประชาธิปไตยอ่อนแอและล้มเหลวอย่างต่อเนื่องมาอย่างยาวนานเท่านั้น ที่จะทำให้เกิดผู้เชี่ยวชาญการร่างรัฐธรรมนูญขึ้น เราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญและเราก็ไม่อยากเห็นผู้เชี่ยวชาญการร่างรัฐธรรมนูญในสังคมนี้อีกต่อไป ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็นใครก็ตาม” สมชายกล่าวทิ้งทาย


ต้องคืนอำนาจให้สภาฯ

niti2.jpg

ช่วงหนึ่งของวงเสวนา นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ เสนอคืนอำนาจรัฐสภาเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรได้กำกับควบคุมองค์กรและสถาบันต่างๆ ในฐานะที่เป็นอำนาจในระบบของประชาชนส่วนหนึ่ง เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรแห่งประเทศไทย เป็นสภาฯที่ขาดบทบาทและอำนาจในทางการเมืองอย่างยิ่งในการกำกับควบคุมสถาบันทางการเมืองต่างๆ ในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นระบบราชการ, กองทัพ, ตุลาการและสถาบันกษัตริย์ สถาบันเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนการปฏิวัติ 2475 และหลังจากคณะราษฎรยึดอำนาจก็ไม่ได้แตะ 4 สถาบันดังกล่าวเท่าที่ควร 

"ตำแหน่งพระมหากษัตริย์ตั้งแต่วันที่ 27 มิ.ย. 2475 สืบมาจนไม่นานมานี้ พระมหากษัตริย์ไม่ได้สืบราชสมบัติตามกฎมณเฑียรบาลอย่างเดียว คุณต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรด้วย"


ชนชั้นนำต้องยอมรับและปรับตัว

"ถ้ามีการแก้รัฐธรรมนูญในประเทศไทย ผมบอกให้เลยว่าคุณหนีประเด็นนี้ไม่ได้ซะแล้ว" นิธิ กล่าวในช่วงตอบคำถามผู้ฟังเสวนาที่ถามว่าหากมีการแก้รัฐธรรมนูญจะมีการพูดถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หรือไม่

นิธิมองว่าเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะถูกพูดถึงหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่หากถามเขาว่า “จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่” เขาตอบว่า “ไม่แน่ว่ะ” เนื่องจากไม่เคยมีครั้งไหนในสังคมไทยที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง  และหากเกิดความเปลี่ยนแปลงจริง เขามองว่ามันจะแรงกว่าเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนตัวระบบ 

“ไม่เคยมีครั้งใดในสังคมไทยที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งอย่างที่มันเกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ ถ้ามันเกิดความเปลี่ยนแปลงได้จริง มันจะแรงกว่า 14 ตุลาฯ 3 เท่า มันจะแรงกว่าพฤษภาทมิฬ 15 เท่า คือเกือบๆ เท่ากับ 2475 หรือเท่ากัน หรือมากกว่า 2475 ด้วยซ้ำ” นิธิกล่าว

นักวิชาการอิสระท่านนี้มองว่า วิธีเดียวที่จะหลีกเลี่ยงการนองเลือดได้คือการที่ชนชั้นนำต้องยอมรับและปรับตัว ซึ่งในความคิดของมองว่าการปรับตัวดังกล่าว ไม่ได้เป็นการเสียสละอะไรมากมาย และหากมีการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างจะอยู่เหมือนเดิมปกติ รวมถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม