นับเป็นปัญหาซ้ำซากที่ผู้ใช้บริการทางการเงินผ่านระบบออนไลน์และอิเล็กทรอนิกส์ ต้องเผชิญกับระบบขัดข้อง โอนเงิน-ชำระเงินไม่ได้ในช่วงเกือบทุกสิ้นเดือน ติดต่อกันมากว่า 3 ปี ไม่ว่าจะเป็นทางโมบายแบงก์กิ้ง อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง
ทั้งที่ ภาครัฐ ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และภาคเอกชน คือ ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ จูงใจให้ผู้ใช้บริการทางการเงินใช้ระบบการโอนเงิน-ชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งด้วยเหตุผลด้านความสะดวก รวดเร็วของผู้ใช้งาน และการลดต้นทุนการบริหารจัดการ 'เงินสด' ที่มีมานานแสนนานของสถาบันการเงินและฝ่ายกำกับดูแลให้ค่อยๆ ลดลงไป และเพื่อตอบรับการเทรนด์ของโลกที่หันมาใช้ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนมากขึ้น
แต่ปัญหาระบบโมบายแบงก์กิ้ง อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง 'ล่ม-ติดขัด' ก็ยังเกิดขึ้นในเกือบทุกๆ สิ้นเดือน หรือ ช่วงที่มีปริมาณธุรกรรมจำนวนมาก
โดยในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ในเวลาที่หลายสถาบันการเงินรณรงค์ให้ประชาชนใช้ระบบการโอนเงินชำระเงินด้วย 'อิเล็กทรอนิกส์' แทนการใช้ 'เงินสด' ด้วยเหตุผลเรื่อง "ความสะอาดปลอดภัยปลอดเชื้อโควิด-19" และเพื่อความสะดวก แต่ระบบการโอนเงิน-ชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ก็ไม่ได้ "ใช้งานได้ราบรื่น" จนทำให้ผู้ใช้งานสบายใจ มั่นใจได้
เหตุการณ์บริการโมบายแบงก์กิ้ง อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง ของธนาคารกรุงเทพ มีปัญหาขัดข้อง ในช่วงวันที่ 25 มี.ค. และ 31 มี.ค. ระบบของธนาคารกรุงศรีอยุธยามีปัญหาขัดข้องในวันที่ 26 มี.ค. และธนาคารไทยพาณิชย์ขัดข้องในวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา เป็นคำถามที่ผู้ใช้บริการทางการเงินอยากทราบและต้องการคำอธิบาย พร้อมๆ กับการแก้ปัญหา ป้องกันปัญหาในอนาคต
ทั้งที่ เมื่อเดือน ก.ค. 2562 ธปท. เริ่มให้มีการเผยแพร่ข้อมูลสถิติเหตุการณ์ระบบขัดข้องรายสถาบันการเงิน (Downtime) ผ่านเว็บไซต์ของ ธปท. เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการและเพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจเลือกใช้บริการของสถาบันการเงิน แล้วก็ตาม
นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวว่า กรณีระบบการชำระเงินออนไลน์ของสถาบันการเงินบางแห่งมีปัญหาขัดข้องไม่สามารถใช้งานในช่วง 2 วันนี้ (30-31 มี.ค. 2563) ธปท. ได้รับรายงานแล้วและได้เร่งติดตามการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ พบว่า มีปริมาณการทำธุรกรรมออนไลน์เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ซึ่งสถาบันการเงินได้เตรียมการรองรับปริมาณที่เพิ่มขึ้น โดย ธปท. ได้กำชับสถาบันการเงินให้เฝ้าระวัง และเร่งแก้ไขเมื่อเกิดปัญหาให้ระบบสามารถกลับมาใช้งานได้รวมทั้งดูแลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบโดยให้ธนาคารเร่งดำเนินการตรวจสอบและจัดการธุรกรรมให้ลูกค้าแล้วเสร็จภายใน 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ ตามข้อมูลของ ธปท. ระบุว่า ในช่วงเดือน มี.ค. 2563 มีการใช้บริการพร้อมเพย์ ทั้งสิ้น 11 ล้านรายการต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 92 เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค. 2563 ที่มีการใช้พร้อมเพย์เพียงวันละ 5.7 ล้านรายการต่อวัน
อีกทั้งในวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา พบว่า มียอดการใช้งานผ่านพร้อมเพย์สูงสุดถึง 15 ล้านรายการต่อวัน
อีกทั้ง เมื่อย้อนไปดูข้อมูลสถิติการทำธุรกรรมชำระเงินผ่านอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งและโมบายแบงก์กิ้ง พบว่า ในปี 2560 มีปริมาณธุรกรรมอยู่ที่ 1,478 ล้านรายการ มีมูลค่าธุรกรรม 32.5 ล้านล้านบาท แล้วกระโดดเป็นปริมาณธุรกรรม 3,044 ล้านรายการ หรือขยายตัวมากกว่า 1 เท่าตัว ด้วยมูลค่าธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นเป็น 42.8 ล้านล้านบาท และช่วง 9 เดือนของปี 2562 มีปริมาณธุรกรรม 3,832 ล้านรายการ มูลค่าธุรกรรม 38.8 ล้านล้านบาท หรือคิดง่ายๆ ว่า ในปี 2560 มีการใช้งานเฉลี่ยวันละ 4 ล้านรายการ ปี 2561 เฉลี่ยวันละ 8.3 ล้านรายการ และปี 2562 เฉลี่ยวันละ 14 ล้านรายการ
นับว่าช่วงที่ผ่านมา การทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงก์กิ้งและอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งเติบโตสูงมากทั้งปริมาณและมูลค่า
ดังนั้น จึงเป็นคำถามของผู้ใช้งานว่า ในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด และประชาชนจะต้องทำธุรกรรมผ่านออนไลน์ โดยเฉพาะการโอนผ่านพร้อมเพย์ รวมถึงโมบายแบงก์กิ้ง อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวนั้น สถาบันการเงินไทย และฝ่ายกำกับระบบชำระเงิน พร้อมแค่ไหนกับการใช้งานที่จะมากขึ้นมาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง