ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงสาธารณสุข แถลงพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มเติมอีก 6 ราย ทำให้ขณะนี้มีผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทยแล้ว 59 ราย

กระทรวงสาธารณสุขแถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ประจำวัน พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 6 ราย ดังนี้

รายที่ 1 อายุ 21 ปี ตำรวจ ตม. สุวรรณภูมิ เริ่มป่วย 8 มี.ค. ด้วยอาการไข้ น้ำมูก ปวดหัว ผลตรวจห้องแล็บ 2 แห่ง พบติดเชื้อโควิด-19

รายที่ 2 อายุ 40 ปี ทำงานสนามบินสุวรรณภูมิ เริ่มป่วย 7 มี.ค. ไม่ได้ทำงานจุดเดียวกันรายข้างต้น แต่มีอาการไข้ ไอ มีเสมหะ ปวดหัว เข้ารักษาตัวใน รพ.เอกชน ห้องแล็บ 2 แห่งยืนยันพบติดเชื้อไวรัสโควิด-19

ซึ่ง ทั้ง 2 ราย มีการสัมผัสสิ่งของภายในสนามบินสุวรรณภูมิ เช่น กระเป๋า, และพาสปอร์ต

รายที่ 3 ชายไทย 25 ปี พนักงานบริษัท เริ่มป่วย 25 ก.พ. เข้ารักษาตัวใน รพ.เอกชน ผลเอ็กซ์ - เรย์ปอดพบการอักเสบ เข้าได้ตามนิยาโรค ส่งตัวอย่างตรวจหาเชื้อ พบโควิด-19 ขณะนี้รักษาตัวอยู่สถาบันราศนราดูร

รายที่ 4 หญิงไทย 27 ปี กลับมาจากเกาหลีใต้ รักษาตัวอยู่ รพ.เอกชน ด้วยอาการไข้ ไอ น้ำมูก เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ผลตรวจพบเชื้อโควิด-19 ส่งตัวไป รพ.นพรัตน์ราชธานี เมื่อวานนี้ (10 มี.ค.)

รายที่ 5 ชายไทย 40 ปี กลับมาจากญี่ปุ่น 25 ก.พ. เข้ารักษา รพ.ในกทม. ตรวจแล็บพบเชื้อ ขณะนี้อยู่ระหว่างการรักษา

รายที่ 6 ชายชาวสิงคโปร์ อายุ 36 ปี เจ้าของกิจการใน กทม. เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 6 มี.ค. ด้วยอาการไอ มีไข้ รพ.เอกชน วันที่ 9 มี.ค. ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ส่งต่อไป บำราศนราดูร

สรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทย มียอดผู้ป่วยสะสมแล้ว 59 ราย รักษาหายแล้ว 34 ราย ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 24 ราย อาการสาหัส 1 ราย และเสียชีวิต 1 ราย

ส่วนกรณีพนักงานบริษัทชาวสิงคโปร์ที่มีข่าวว่าติดเชื้อภายหลังเดินกลับจากประเทศไทย เข้ามาพักในประเทศไทยเพียง 1 วันและมีประวัติเดินทางไปหลายประเทศก่อนมาไทย กรมควบคุมโรคได้สอบสวนโรคและเก็บตัวอย่างผู้สัมผัสในบริษัทเดียวกัน 84 คน ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบเชื้อ ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคจะร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ จัดเสวนาถอดบทเรียนผู้ป่วยยืนยันและผู้สัมผัส

ด้านแรงงานไทยนอกระบบจากเกาหลีใต้ที่ฐานทัพเรือสัตหีบทั้งหมด 241 คน เป็นชาย 104 คน หญิง 137 คน (มาจากเมืองแทกูและคยองซังเหนือ 8 คน) มีกลุ่มดูแลพิเศษ 29 คน เป็นหญิงตั้งครรภ์ 6 คน เด็กเล็ก 5 คน มีโรคประจำตัว 18 คน ผลการคัดกรองไม่พบผู้อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง ทุกคนไม่มีไข้

ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทดสอบประสิทธิภาพของหน้ากากผ้าเพื่อทดแทนการใช้หน้ากากอนามัย โดยทดสอบ 3 วิธี คือ ส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อศึกษาเส้นใยผ้าในการกันอนุภาค ทดสอบการเป็นขุยด้วยวิธีการซัก และทดสอบประสิทธิภาพการซึมผ่านของละอองน้ำ พบว่า ผ้าฝ้ายมัสลินมีความเหมาะสมในการนำมาใช้ทำหน้ากากผ้ามากกว่าผ้าชนิดอื่น อย่างไรก็ตาม แนะนำให้ซัก ตากแห้งทุกวัน ไม่ใช้มือสัมผัสหน้ากากขณะสวมใส่ และป้องกันตนเองโดยกินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ