องค์ชุมนุมชำระวิสามัญแห่งตุลาการกัมพูชา (ECCC) ได้ปฏิเสธคำร้องอุทธรณ์ของ เขียว สัมพัน ในวัย 91 ปี หลังจาก เขียว สัมพัน ถูกตัดสินเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมาว่า เขียว สัมพัน มีความผิดตามข้อหาการก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ การละเมิดอนุสัญญาเจนีวา ตลอดจนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยในเวียดนาม
ประชาชนราว 1.5 ถึง 2 ล้านคน ถูกฆ่าตายภายใต้การปกครองของระบอบเขมรแดงคอมมิวนิสต์ ผ่านการประหารชีวิตหมู่ ภาวะอดอยาก และการใช้แรงงานทาส นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์หายนะต่อมวลมนุษยชาติที่รุนแรงที่สุดในช่วงศตวรรษที่ 20 โดยในช่วงที่ระบอบเขมรแดงหลุดจากอำนาจไปในปี 2522 มีประชากรกว่า 25% ของกัมพูชาเสียชีวิตลงจากฝีมือของคอมมิวนิสต์เขมรแดง
ยังมีการประมาณการอีกว่าชนกลุ่มน้อยราว 20,000 คน ในเวียดนาม เช่นเดียวกันกับกลุ่มชาวจามมุสลิมอีก 100,000 ถึง 500,000 คนที่เสียชีวิตจากการถูกสังหารโดยเขมรแดง
คง สริม ประธานคณะตุลาการสูงสุดของศาลคดีเขมรแดงระบุว่า คดีของ เขียว สัมพัน “เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์อันเลวร้ายที่สุดบางเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาซึ่งน่าเศร้าและหายนะที่สุดช่วงหนึ่ง” ภายใต้ระบอบการปกครองของเขมรแดง ศาลคดีเขมรแดงรับฟังคำร้องว่า “พลเรือนถูกปฏิเสธเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และอยู่ภายใต้การกระทำอันทารุณรุนแรงอย่างเป็นกว้างขวาง วัฒนธรรมแห่งความกลัวมีชัยชนะผ่านการสังหารหมู่ การทรมาน ความรุนแรง การกดขี่ข่มเหง การบังคับแต่งงาน การบังคับใช้แรงงาน และการบังคับบุคคลให้สูญหาย และการปฏิบัติที่ไร้มนุษยธรรมอื่นๆ”
เขียว สัมพัน ได้ฟังการพิจารณาคดีในศาลผ่านหูฟังคู่หนึ่ง ใบหน้าของเขาถูกปิดด้วยหน้ากากอนามัย เขากล่าวหาว่าคำพิพากษาของศาลมีข้อผิดพลาดประมาณ 1,824 จุด ตั้งแต่ข้อผิดพลาดในการดำเนินการ ไปจนถึงข้อกล่าวหาที่เต็มไปด้วยอคติ คำร้องอุทธรณ์ของ เขียว สัมพัน ถูกปฏิเสธ และศาลได้สั่งจำคุกอดีตผู้นำเขมรแดงคนสุดท้ายตลอดชีวิต
ศาลซึ่งขณะนี้ได้สรุปคดีของตนไปแล้ว ได้จัดให้มีพื้นที่สำหรับการฟื้นฟูระดับชาติ เช่นเดียวกันกับการมอบความยุติธรรมคืนให้แก่เหยื่อ แต่ยังมีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่ากระบวนการเยียวยาเป็นไปด้วยความล่าช้า เสียค่าใช้จ่ายมาก และความเปราะบางต่อการแทรกแซงจากรัฐบาลของฮุนเซน ทั้งนี้ ผู้กระทำผิดคนสำคัญได้เสียชีวิตไปแล้วก่อนหน้านี้ ก่อนที่จะได้นำตัวมาเผชิญหน้ากับความยุติธรรม รวมถึง “พี่ชายหมายเลขหนึ่ง” อย่าง พล พต ซึ่งเสียชีวิตในปี 2541
ศาลคดีเขมรแดง ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2540 ซึ่งดำเนินการพิจารณาคดีโดยผู้พิพากษาชาวกัมพูชาและผู้พิพากษาต่างชาติ ใช้งบประมาณไปมากกว่า 330 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท) โดยการพิจารณาคดีดังกล่าวนำไปสู่การตัดสินลงโทษ 3 จำเลย ได้แก่ เขียว สัมพัน, นวน เจีย รองผู้บัญชาการของ พล พต และ คัง เค็ก เอียว หรือที่รู้จักในชื่อสหายดัชช์ หัวหน้าเรือนจำ S-21 อันเลื่องชื่อ โดย 2 คนหลังเสียชีวิตไปก่อนหน้านี้แล้ว เหลือเพียงแต่ เขียว สัมพัน ที่ยังมีชีวิตอยู่ในวัย 91 ปี
“มันไม่ได้มีการประสบความสำเร็จ ในการจัดการกับการลงโทษอาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์… ฉันอยากจะถามว่าอะไรถึงจะทำให้เพียงพอ?” ยุก ชาง ผู้อำนวยการบริหารของศูนย์เอกสารกัมพูชา และผู้รอดชีวิตจากทุ่งสังหารของเขมรแดงกล่าว โดยแม้ว่าการพิจารณาคดีของศาลจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ประวัติศาสตร์ความเจ็บช้ำจะยังคงดำเนินต่อไป โดยเหยื่อทุ่งสังหารได้เรียกร้องให้นำบทเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้นโดยเขมรแดงมาใส่ในตำราประวัติศาสตร์ เพื่อให้กัมพูชาและประชาคมโลกตระหนักถึงความร้ายแรงของเหตุการณ์ดังกล่าว
เขียว สัมพัน ถูกตัดสินโทษจำคุกตลอดชีวิต เมื่อปี 2561 โทษฐานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการก่ออาชญากรรมอื่นๆ พร้อมกันกับ นวน เจีย ซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี 2562 โดยคำพิพากษาในปีนั้น ศาลชี้ว่า เขียว สัมพัน “ส่งเสริม ปลุกระดม และสร้างความชอบธรรม” ให้กับนโยบายอาชญากรรม ที่นำไปสู่การเสียชีวิตของพลเรือน “ในวงกว้าง” รวมถึงผู้คนนับล้านที่ถูกบังคับให้เข้าไปในค่ายแรงงาน เพื่อสร้างเขื่อนและสะพาน และการทำลายล้างครั้งใหญ่ในเวียดนาม พระสงฆ์ถูกบังคับให้สึก ในขณะที่ชาวมุสลิมถูกบังคับให้รับประทานเนื้อหมู
ทั้ง เขียว สัมพัน และ นวน เจีย ได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต จากข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติในการบังคับให้ประชาชอพยพออกจากกรุงพนมเปญในเดือน เม.ย. 2518 โดยชาวเมืองถูกนำตัวไปยังค่ายแรงงานแถบชนบท ซึ่งพวกเขาต้องเผชิญกับการใช้แรงงานหนัก ความอดอยาก และโรคภัยไข้เจ็บ
ในส่วนของ คัง เค็ก เอียว ซึ่งเคยเป็นผู้ดูแลเรือนจำ S-21 ซึ่งมีผู้ถูกทรมานและสังหารประมาณ 18,000 คน ถูกตัดสินจำคุก 35 ปีเมื่อปี 2553 ก่อนที่ คัง เค็ก เอียว จะเสียชีวิตลงในเรือนจำเมื่อปี 2563
มิน ยู ฮาห์ รองผู้อำนวยการประจำภูมิภาคของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า คำตัดสินของศาลในวันนี้ (22 ก.ย.) “ควรเป็นเครื่องเตือนใจอีกอย่างหนึ่งว่า ความรับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุดไม่มีวันหมดอายุ” ก่อนกล่าวเสริมว่า “ศาลทำหน้าที่เป็นเวทีสำคัญสำหรับการอภิปรายสาธารณะ เกี่ยวกับยุคสมัยการสังหารของเขมรแดง และเป็นสถานที่ที่สามารถได้ยิน บันทึก และเผยแพร่เสียงของเหยื่อได้” มิน ยู ฮาห์ กล่าว พร้อมระบุเสริมว่างานสนับสนุนเหยื่อและผู้รอดชีวิตยังคงไม่แล้วเสร็จ
“การลอยนวลพ้นผิดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ยังคงเป็นปัญหาร้ายแรงในกัมพูชาในปัจจุบัน และหากทางการพยายามรักษากฎหมายระหว่างประเทศและสิทธิมนุษยชน พวกเขาต้องรับประกันว่าระบบศาลในประเทศของตนมีความเป็นอิสระ เป็นกลาง และสามารถให้ความยุติธรรมในลักษณะของสังคมกัมพูชามากกว่าที่จะเป็นการให้ข้อยกเว้น” มิน ยู ฮาห์ กล่าว
ที่มา: