นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล กรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตรองประธานกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณ กล่าวถึงกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ว่า จากการศึกษาทั้งหมด เชื่ือว่ารัฐบาลนี้จะล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะดูจากงบประมาณที่ควรจะลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือสร้างรายได้ให้กับประชาชนมีน้อย ส่วนใหญ่ไปอยู่ในงบประมาณที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งท่ามกลางกระแสโลกที่อยู่ในสภาวะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน และมีความผันผวน จึงไม่เข้าใจว่าคณะรัฐมนตรีจัดสรรงบประมาณเช่นนี้ได้อย่างไร รวมถึงความไม่ชัดเจนของหลายโครงการ ทำให้นักลงทุนเกิดความไม่เชื่อมั่น และเกิดสภาวะถดถอย รวมถึงมีผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีรายได้ของประชาชนที่อาจได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยในปีต่อไป
"การจัดทำงบประมาณครั้งนี้คล้ายกับว่าจะมีการกู้เงินมากขึ้น แต่รายได้ที่เกิดกับประชาชน และเม็ดเงินภาษีที่กลับมาจะได้น้อยลง จึงเหมือนกับประเทศไทยกำลังกินยาพิษทุกวัน และเป็นการสะสมโรคร้ายในทุกวัน หากเกิดลักษณะแบบนี้ต่่อไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดสภาวะล้มเหลวทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่"
เมื่ือถามถึงข้อเสนอการจัดทำงบประมาณ ที่ฝ่ายค้านจะให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล นายวรวัจน์ ระบุว่า รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบในการจัดทำงบประมาณในลักษณะนี้ เข้าใจว่าพรรครัฐบาล และพรรคร่วมรัฐบาล ที่มีส่วนแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ อาจไม่มีอำนาจต่อรองนำงบประมาณไปช่วยเหลือเกษตรกรที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก ดังนั้นการอัดฉีดเงินไปสู่เกษตรกรจะช่วยทำให้เกิดการหมุนเวียนของกระแสเงินสด และทำให้จัดเก็บภาษีได้มากขึ้น
"ส่วนที่พรรคร่วมรัฐบาลไม่มีอำนาจในการต่อรอง ในช่วงจังหวะของการจัดสรรงบประมาณ และสภาวะรัฐบาลที่มีเสียงปริ่มน้ำ พรรคร่วมรัฐบาล มีเสียงและอำนาจพอที่จะสร้างบทบาทต่อรองหรือเจรจาได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป ครม. นี้จะต้องรับผิดชอบ หากความเป็นอยู่ประชาชนลำบากขึ้น เพราะมีรายได้ที่ไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นเพราะการจัดสรรงบประมาณของปีที่ที่ขาดความรับผิดชอบ"
เมื่อถามว่าควรมีการปรับ ครม. ด้านเศรษฐกิจตามที่หลายฝ่ายเรียกร้องหรือไม่ นายวรวัจน์ ระบุว่า ครม. เศรษฐกิจ เป็นอีกเรื่ืิอง แต่หากไม่มีเม็ดเงินที่ลงไปในการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะจัดตั้ง ครม.เศรษฐกิจอย่างไรก็ไม่เป็นผล ส่วนการจัดงบมาทุกครั้งตั้งแต่สมัยรัฐบาล คสช. มองว่าการจัดสรรงบประมาณขาดดุล ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ถ้าเราไปกู้เงินมาแล้ว และสามารถนำเงินมากระตุ้้นเศรษฐกิจให้โตขึ้น ประชาชนมีรายได้ รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้มากขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่หากดูการจัดสรรงบประมาณที่เป็นอยู่ตอนนี้ มีการกู้และงบประมาณขาดดุล เงินที่จัดสรรไม่ไปกระตุนเศรษฐกิจก่อให้เกิดเงินหมุนเวียน ก็เหมือนพิษร้าย ระยะยาวจะทำให้ประเทศไทยทุดโทรมและประชาชนจะอยู่ไม่ไหว และวันนี้ประชาชนเป็นหนี้ครัวเรือนจนเต็มเพดานแล้ว และอาจทำให้การเรียกร้องของประชาชนดังขึ้นเรื่อย ๆ
นายวรวัจน์ ยังกล่าวว่า ในการอภิปรายงบประมาณปี 2563 ในวันที่ 17 ต.ค. นี้ เชื่อว่าประชาชนจะเห็นชัดเจนว่าการจัดทำไม่ถูกต้องและต้องแก้ไขเยอะมาก เชื่อว่าถ้ากรรมาธิการฯ ตระหนักถึงเรื่องนี้ และพิจารณางบประมาณที่ไม่จำเป็นและตัดออกตัวเลขงบประมาณที่ไม่เกิดรายได้ ก็อยากให้นำไปเพิ่มกับงบประมาณของหน่วยงานที่มีความจำเป็นต้องใช้ เชื่อว่าจะเป็นผลดี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :