วันที่ 4 มี.ค. 2562 ศาลอาญามีคำสั่งยกฟ้อง 21 แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กรณีปิดล้อมรัฐสภา สมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อปี 2551 เพื่อไม่ให้ ส.ส.และ ส.ว.เข้าร่วมประชุมฟังนโยบายของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี โดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้เบิกตัวแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ยังถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ประกอบไปด้วย นายสนธิ ลิ้มทองกุล, นายสุริยะใส กตะศิลา, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, และนายพิภพ ธงไชย มายังศาลด้วย
คดีนี้เป็นคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ และพวกรวม 21 คน เป็นจำเลยที่ 1-21 ในความผิด 5 ข้อหา เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 215, 216, 309 และ 310 เนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 5-7 ต.ค. 2551 ซึ่งจำเลยและกลุ่มพันธมิตรฯ จำนวนหลายพันคนร่วมมั่วสุมภายในทำเนียบรัฐบาล โดยตั้งเวทีปราศรัยและได้ยุยงปลุกปั่นให้กลุ่มพันธมิตรฯ ทั้งประเทศให้ไปรวมตัวปิดล้อมรัฐสภาไม่ให้ ส.ส., ส.ว.และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าร่วมประชุมสภา
โดยวันที่ 7 ต.ค. 2551 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกใช้รถยนต์บรรทุกหกล้อติดเครื่องขยายเสียงเคลื่อนที่ พร้อมนำลวดหนามชนิดหีบเพลง แผงกั้นเหล็ก และยางรถยนต์ ปิดเส้นทางผ่านไปยังลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อขวางบริเวณรอบรัฐสภา ทำให้ประชาชนไม่สามารถผ่านไปได้ และปราศรัยปลุกระดมให้ล้อมรัฐสภาเป็นเหตุให้ ส.ส.และ ส.ว.บางส่วนเดินทางเข้าไปประชุมสภาไม่ได้ และจำเลยกับพวกยังร่วมกันข่มขืนใจนายสุริยา ปันจอร์ ส.ว.สตูล, นายมณฑล ไกรวัตนุสรณ์ ส.ส.สมุทรสาคร พรรคเพื่อไทย, นายปัญญา ศรีปัญญา ส.ส.ขอนแก่น พรรคภูมิใจไทย และข้าราชการฝ่ายการเมืองหลายคน โดยไล่ให้กลับบ้านและขู่ให้กลัวว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและยังมีการโห่ร้องด่าทอใช้หนังสติ๊กอาวุธปืนยิง มีดฟัน ใช้ปลายธงทำด้วยเหล็กปลายแหลมแทงเจ้าหน้าที่รับบาดเจ็บสาหัส 1 คน แถมยังมีการนำโซ่ไปล็อกกุญแจทางเข้า-ออกสภาทุกด้าน พร้อมประกาศขู่ว่าหากไม่ยุบสภาในเวลา 18.00 น. จะจับตัวประธานสภาและประธานวุฒิสภา รวมทั้งสมาชิกทั้งหมด ซึ่งสมาชิกรัฐสภาบางส่วนได้ปีนกำแพงหนีออกทางด้านพระที่นั่งวิมานเมฆ ขณะที่เจ้าหน้าที่หลายคนถูกขังอยู่เป็นเวลาหลายชั่วโมง
ต่อมาเวลากลางคืนจำเลยกับพวกยังได้ปราศรัยยุยงให้กลุ่มพันธมิตรฯ จำนวนหลายพันคนโดยมีอาวุธมีด ปืน ไม้ กระบอง ธง หนังสติ๊กฯลฯ เคลื่อนไปหน้าอาคารรัฐสภาและปิดล้อมทางเข้า-ออก และได้นำน้ำมันราดบนถนนหน้ารัฐสภาและขู่ว่าจะใช้กำลังประทุบร้าย ส.ส.และ ส.ว. รวมทั้งใช้รถกระบะที่ขับขี่โดยนายปรีชา ตรีจรูญ พุ่งไล่ชนเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ได้รับบาดเจ็บหลายราย ซึ่งอัยการได้แยกฟ้องจำเลยต่อศาลอาญาไปแล้ว ในชั้นสอบสวนจำเลยทั้ง 5 ให้การปฏิเสธ โดยโจทก์ได้ขอให้ศาลพิพากษานับโทษนายสนธิ จำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีหมิ่นประมาท 4 สำนวน และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 อีก 1 สำนวนด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่นำสืบของคู่ความทั้งสองแล้วเห็นว่า การปราศรัยให้ประชาชนมาชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่มีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกมองว่าเป็นตัวแทนของนายทักษิณ ชินวัตร เป็นการปราศรัยให้ความรู้ต่อประชาชนในการตรวจสอบการทุจริตของรัฐบาล โดยมีการตั้งข้อสังเกตถึงการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายสมัคร สุนทรเวช ที่มีการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ประโยชน์ในเรื่องที่ถูก คตส.ตรวจสอบเรื่องทุจริตและกรณีที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค รวมถึงคดีที่ทำให้กัมพูชาได้ขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก อีกทั้งการชุมนุมของจำเลยทั้ง 21 คนเป็นการชุมนุมเพื่อแสดงสัญลักษณ์ มีการปราศรัยที่สมเหตุผล ห้ามปรามไม่ให้ก่อความรุนแรง ถือเป็นการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 มาตรา 63 ได้รองรับไว้
แม้จะมีการกีดขวางกระทบการจราจรไปบ้างแต่ก็เป็นปกติของการชุมนุมแสดงออกตามสิทธิการชุมนุม และตั้งแต่วันที่ 5-7 ต.ค. 2551 ไม่ปรากฎว่ามีความรุนแรงหรือมีผู้ใดฝ่าฝืนทำให้ทรัพย์สินเสียหาย แต่ความวุ่นวายเกิดขึ้นในช่วงเช้าวันที่ 7 ต.ค.2551 เริ่มจากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังยิงแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมเพื่อเปิดทางให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เข้าไปแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ทำให้ผู้ชุมนุมซึ่งไม่ทันตั้งตัวได้รับบาดเจ็บ ไม่สามารถระงับอารมณ์ขว้างปาขวดน้ำสิ่งของโต้ตอบ กรณีเป็นความวุ่นวายที่เกิดขึ้นจากการถูกละเมิดสิทธิ ไม่ใช่ว่าการชุมนุมที่ผ่านมาของกลุ่มจำเลยก่อนหน้านั้นจะไม่สงบ อีกทั้งไม่ปรากฎว่ามีแกนนำไปอยู่บริเวณที่เกิดเหตุที่จะเกี่ยวข้องและเป็นผลต่อเนื่องจากการที่ผู้ชุมนุมถูกสลายการชุมนุมเมื่อช่วงเช้าวันที่ 7 ต.ค. 2551 จากแนวทางการนำสืบไม่พบว่ามีจำเลยทั้ง 21 คนกระทำความผิดตามฟ้อง พยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักมากพอพิพากษายกฟ้อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: