ไม่พบผลการค้นหา
สัญญาณเตือนโรคไวรัสร้าย โควิด-19 (ไวรัสโคโรนา 2019) ส่งสัญญาณเตือนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาตั้งแต่ต้นปี 2563 เมื่อโรคระบาดดังกล่าวกำลังคุกคามคนในเอเชีย ทว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กลับเลือกที่จะเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวจากจีนเข้าประเทศได้โดยไม่หวั่นว่าไวรัสโควิด-19 จะเป็นเชื้อร้ายที่สร้างความหายนะในมิติการเมือง เศรษฐกิจ สังคมให้กับคนไทยทั้งประเทศ

10 ม.ค. 2563 ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ออกเอกสารชี้แจงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้เรียกชื่อไวรัสโควิด-19 อย่างเป็นทางการ 

โดยศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน รายงานสถานการณ์ในต่างประเทศ ว่า 8 ม.ค. 2563 ประเทศจีนรายงานว่าตรวจพบเชื้อ Novel Coronavirus ในตัวอย่างผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ จำนวน 15 ราย ข้อมูล ณ วันที่ 10 ม.ค. 2563 ไม่มีรายงานผู้ป่วยรายใหม่ จำนวนผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ที่ได้รับรายงานจนถึงขณะนี้รวม 59 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต

ส่วนสถานการณ์ภายในประเทศนั้น กรมควบคุมโรคได้ดำเนินการเฝ้าระวังคัดกรองผู้โดยสารเครื่องบิน ในเส้นทางที่บินตรงจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 3-10 ม.ค. จำนวน 43 เที่ยวบิน ผู้เดินทางและลูกเรือได้รับการคัดรอง 6,761 ราย พบผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้ตามนิยาม 6 ราย 

นอกจากนี้มีผู้ป่วยที่มีอาการเข้าตามนิยามไปรับการตรวจรักษาโรงพยาบาล 4 ราย รวม 10 ราย ไม่พบผู้ป่วยอาการรุนแรง ผู้ป่วยอาการดีขึ้นและได้กลับบ้านแล้วจำนวน 4 ราย ผู้ป่วย 5 ที่ทราบเชื้อ

8 ม.ค. 2563 สัญญาณเตือนครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อตรวจพบผู้ป่วยหนึ่งรายที่เดินทางมาจากประเทศจีน มีไข้สูงตรวจพบจากการคัดกรองด้วยเครื่องเทอร์โมสแกนที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เข้ารับการรักษาในห้องแยกโรคความดันลบของสถาบันบำราศนราดูร

13 ม.ค. 2563 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขรายงานพบผู้ป่วย 1 รายเป็นครั้งแรกว่าพบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 1 ราย เป็นรายแรกของประเทศไทย และรายแรกที่ตรวจพบนอกประเทศจีน

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข พร้อมทีมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขแถลงถึงการตรวจพบผู้ป่วยไวรัสโคโรนา 2019 คนแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นหญิงชาวจีน อายุ 61 ปี เป็นนักท่องเที่ยวจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน

14 ม.ค. 2563 อนุทิน ระบุหลังเข้าเยี่ยมผู้ป่วยจากจีนที่ป่วยด้วยโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยเขาได้กำชับประชาชนอย่าตื่นตระหนกเกินเหตุ หลีกเลี่ยงการเดินทางไปพื้นที่มีคนเยอะแยะ เห็นคนไอจาม มีน้ำมูก หลีกเลี่ยงได้ก็ดี ดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรง 

"โรคนี้ยังไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีนป้องกัน เป็นการรักษาตามอาการให้ร่างกายเกิดภูมิต้านทานก็จะหายถ้ามาหาหมอทันเวลา ซึ่งไทยมีระบบการเฝ้าระวังโรค พบเร็วรักษาเร็ว ขอให้มั่นใจว่าเราประสานการทำงานร่วมกันภายใต้กฎอนามัยระหว่างประเทศ ทุกอย่างปฏิบัติตามขั้นตอนที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ขอให้สบายใจได้" อนุุทิน ระบุ

อนุทิน โควิด กระทรวงสาธารณสุข โอภาส เกียรติภูมิ 70592941563_4305093485741878156_n.jpg

16 ม.ค. 2563 เจ้าหน้าที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน ประกาศพบผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นรายที่ 2 ซึ่งเป็นชายวัย 69 ปี ที่เข้ารับการรักษาอาการป่วยตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2019 

31 ม.ค. 2563 พบคนไทยคนแรกที่ติดเชื้อโควิด-19 เป็นชายไทย อายุ 50 ปี อาชีพขับแท็กซี่ มีประวัติรับผู้โดยสารจากเมืองอู่ฮั่นที่มีอาการป่วยไปโรงพยาบาล 

2 มี.ค. 2563 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานยอดผู้ป่วยโควิด-19 สะสม จำนวน 43 ราย และมีผู้ป่วยเสียชีวิตรายแรกในประเทศไทย 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 35 ปี มีประวัติสัมผัสนักท่องเที่ยวชาวจีน

15 มี.ค. 2563 ผูู้ป่วยยืนยันสะสมที่ติดโควิด-19 รายใหม่ภายในประเทศ จำนวน 114 ราย ทะยานขึ้นสู่หลักร้อยเป็นครั้งแรกนับแต่โควิด-19 ได้ระบาดในประเทศ

26 มี.ค. 2563 ผู้ป่วยติดโควิด-19 ยืนยันสะสม ทะลุหลักพันรายครั้งแรก ที่จำนวน 1,045 ราย กรมควบคุมโรคยืนยันจำนวนผู้ป่วยสะสมที่เพิ่มขึ้นหลักพันรายเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ 

"กลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยรายเก่าที่เคยรายงานแล้ว ทั้งกลุ่มสนามมวย กลุ่มสถานบันเทิง กลุ่มกลับจากงานบุญ พบประมาณ 20-30 รายต่อวัน แสดงว่าประชาชนกลุ่มเสี่ยงไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำในเรื่องการเว้นระยะห่าง (Social Distancing) ในบ้าน ทำให้นำโรคมาแพร่ให้ แม่ พ่อ สามี ภรรยา ลูก หลาน" นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ระบุ

กระทรวงคลัง-โควิด-อยู่บ้าน หยุดเชื้อ

การระบาดโควิด-19 ระลอกแรกในเดือน มี.ค. 2563 เกิดขึ้นจากข้อบกพร่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)ได้มีหนังสือถึงนายสนามมวยเวทีลุมพินีแจ้งข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีตามมติ ครม.วันที่ 3 มี.ค. 2563 ให้ทราบถึงการขอความร่วมมืองดจัดการแข่งขันกีฬาที่อาจสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ให้สนามมวยทราบล่วงหน้าแล้ว แต่สนามมวยลุมพินีกลับเดินหน้าจัดชกมวยเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2563 จนเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19

ผลของยอดผู้ป่วยสะสมในระลอกแรกที่ทะลุเกินหลักพัน ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม อ่านแถลงการณ์ผ่านสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2563 ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2563 - 30 เม.ย. 2563 

ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อควบคุมมิให้การระบาดของโรคโควิด-19 ออกไปในวงกว้าง ประกอบกับมีการกักตุนสินค้า จำเป็นต่อการเฝ้าระวังและควบคุมติดตามการระบาด การป้องกัน และการรักษาโรค ตลอดจนการกักตุนเครื่องอุปโภคบริโภคและสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชน ซึ่งต้องป้องกันมิให้เกิดภาวะขาดแคลนอันจะเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน กรณีจึงจำเป็นต้องใช้มาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยของประชาชน และการดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน จึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร

การระบาดโควิด-19 ระลอกในห้วงนับตั้งแต่วันที่ 26 -31 มี.ค. 2563 มียอดผู้ป่วยสะสมติดโควิด-19 ภายในประเทศแล้ว จำนวน 1,651 ราย

การระบาดโควิด-19 ระลอกแรก ภาครัฐต้องงัดมาตรการต่างๆ ออกมาใช้โดยเฉพาะเคอร์ฟิว และมาตรการที่กระทบทางเศรษฐกิจ

กินเวลาอยู่เกือบ 2 เดือน วันที่ 13 พ.ค. 2563 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จึงประกาศเป็นครั้งแรกไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ภายในประเทศนับแต่เกิดการระบาดหนักในระลอกแรก โดยมีผู้ป่วยยืนยันสะสมคงที่ 3,017 ราย ยังเหลือผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล 117 ราย และไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม รวมยอดผู้เสียชีวิตสะสม 56 ราย

ประยุทธ์ ทีวีพูล โควิด 22 ธันวาคม 63 1105000000.jpg

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกสอง เกิดขึ้นในช่วงเดือน ธ.ค. 2563 ต่อเนื่องไปจนถึงศักราชใหม่ 2564 หลังยอดผู้ป่วยรายใหม่รายวันภายในประเทศไม่แตะหลักร้อย มาเป็นเวลา 7 เดือน 

และส่งสัญญาณเตือนถึงภาครัฐว่าอย่า 'การ์ดตก' โดยปลายเดือน พ.ย. 2563 มีรายงานสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศ โดยพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เดินทางข้ามจากประเทศเมียนมา ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2563 จนมียอดผู้ติดเชื้อจนถึงวันที่ 7 ธ.ค. 2563 รวม 38 ราย

กระทั่งการแพร่ระบาดระลอกสองนี้ก็เกิดขึ้นลุกลามบานปลายอย่างหนัก

17 ธ.ค. 2563 สมุทรสาคร แถลงพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เป็นหญิงอายุ 67 ปี เจ้าของแพปลา ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร 

ยอดผู้ป่วยสะสม วันที่ 18 ธ.ค. 2563 ยืนยันที่ 4,297 ราย พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 16 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 60 ราย 

สมุทรสาคร-แรงงานเมียนมา

20 ธ.ค. 2563 ศบค.แถลงยอดผู้ป่วยสะสมภายในประเทศ 4,907 ราย และเป็นครั้งแรกที่นับตั้งแต่เอาชนะโควิด-19 ระลอกแรกได้ ประเทศไทยต้องมีผู้ป่วยรายใหม่ทะยานแตะหลักร้อย ที่จำนวน 576 ราย

การพบผู้ติดเชื้อภายในประเทศจำนวนมากครั้งนี้ เป็นการค้นหาในชุมชน โดยผู้ติดเชื้อจากการระบาดส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นการตรวจคัดกรองเชิงรุกใน จ.สมุทรสาคร เป็นการตรวจพบผู้ติดเชื้อในตลาดกลางกุ้งมหาชัย จ.สมุทรสาคร

26 ธ.ค. 2563 อภิรัตน์ กตัญญุตานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ได้ลงนามในประกาศสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เรื่องมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันการแพร่ระบาดการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยประกกาศให้ประชาชนที่ได้เดินทางไปยังสถานที่ลักลอบเล่นการพนัน บขส อ.เมือง จ.ระยอง สถานที่ลักลอบเล่นการพนัน อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2563 หากพบว่ามีอาการทางระบบทางเดินหายใจ ไข้ ไอ น้ำมูก หรือมีอาการหอบเหนื่อย ใน 14 วัน ให้ไปพบแพทย์ตรวจรักษา

27 ธ.ค. 2563 ชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เปิดเผย ยอดผู้ติดเชื้อ จ.ระยอง เพิ่มอีก 49 ราย รวมกับยอดเดิม 36 ราย รวมเป็น 85 ราย ทั้งนี้ผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ที่พบเชื่อมโยงมาจากกลุ่มเดียวกันคือบ่อนการพนัน

31 ธ.ค. 2563 นพ.โอภาส การ์ยกวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโร ระบุพบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 194 ราย ยอดสะสม 6,884 ราย ยอดสะสมเสียชีวิต 61 ราย  โดยมีเชื้อโควิด-19 กระจาย 51 จังหวัดในสมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง กรุงเทพ นนทบุรี ราชบุรี ฯลฯ 

สมุทรสาคร-โควิด-แรงงาน

9 ม.ค. 2564 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ระบุถึงยอดผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 212 ราย ติดเชื้อในประเทศ 187 ราย แรงงานข้ามชาติ 6 ราย และอีก 19 จากสถานที่กักตัวของรัฐ ทำให้มียอดผู้ป่วยรวมสะสม 10,053 ราย รักษาหายแล้ว 5,546 ราย เสียชีวิตสะสม 67 ราย 

ถือเป็นครั้งแรกนับแต่ประเทศไทยมีการระบาดของโควิด-19 ที่ยอดผู้ป่วยทะลุหลักหมื่นราย จากผลพวงของการระบาดหนักระลอกสอง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลพวงต้นเหตุแห่งการระบาดระลอกสองนั้น เกิดจากการหละหลวมของภาครัฐ ที่ทำให้การเกิดการแพร่ระบาดในหมู่แรงงานข้ามชาติ และมีการลักลอบเล่นการพนันในภาคตะวันออก จนทำให้เกิดคลัสเตอร์ระบาดหนัก

สถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกสองเริ่มทำท่าจะคลี่คลาย เมื่อ ศบค.ค่อยคลายล็อกมาตรการเข้มงวดในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. 2564 

ทว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกสามก็เกิดขึ้นและเป็นการระบาดที่รุนแรงกว่า 2 ครั้งแรก

โดยสถานการณ์การผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศระหว่างวันที่ 29 มี.ค. - 4 เม.ย. 2564 พบผู้ติดเชื้อ รวม 301 ราย โดยผู้ติดเชื้อมีประวัติเสี่ยงเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง จำนวน 43 ราย ผู้ติดเชื้อมีอาการระบบทางเดินทางหายใจเล็กน้อย 34 ราย เป็นผู้มีประวัติไปใช้บริการหรือทำงานที่สถานบันเทิงย่านเอกมัย-ทองหล่อ จำนวน 27 ราย สถานบันเทิงใน อ.ศาลายา จ.นครปฐม 11 ราย 

5 เม.ย. 2564 มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 194 ราย เป็นครั้งแรกที่ยอดผู้ป่วยทะลุหลักร้อยนับจากระลอกสองที่ได้คลี่คลายไปก่อนหน้านี้ ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 29,321 ราย เสียชีวิตสะสม 95 ราย โดยจำนวน 194 รายที่เป็นผู้ป่วยใหม่ มีประวัติเชื่อมโยงกับสถานบันเทิง

7 เม.ย. 2564 ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นการตรวจหาเชื้อรอบที่สอง ทำให้ต้องพักรักษาตัวที่ รพ.บุรีรัมย์ โดยสาเหตุของการติดเชื้อมาจากผู้ป่วยที่ปฏิบัติงานในสำนักงาน รมว.คมนาคม โดยผู้ติดตาม ศักดิ์สยามได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงย่านทองหล่อ

อนุทิน ศักดิ์สยาม ภูมิใจไทย 90.jpgศักดิ์สยาม ภูมิใจไทย 9679218.jpg

14 เม.ย. 2564 ผูู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 1,335 ราย ทำให้ผู้มีป่วยสะสม 35,910 ราย เสียชีวิตสะสม 97 ราย ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ถือเป็นยอดทะลุหลักพัน เป็นยอดสูงที่สุุดครั้งแรกนับแต่มีการระบาดในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2563 ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะเป็นผู้สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ

24 เม.ย. 2564 ยอดผู้ป่วยรายใหม่ทุบสถิติสูงสุด 2,839 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม 53,022 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 129 ราย

โควิด เมษายน 64 F8178C07-B7A8-4F6A-A9E1-59A76760A3F9.jpeg

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันสถานการณ์ติดเชื้ออระลอกใหม่นี้ มีจำนวนรวม 24,159 ราย โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งถือว่ามากที่สุดนับตั้งแต่มีการระบาดมา โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ได้รับเชื้อจากผู้ป่วยที่อยู่ใกล้ชิด เช่น คนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน ทำให้การแพร่เชื้อเข้าสู่ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อยู่แต่ในที่พักอาศัย

สรุปยอดผู้ป่วยสะสมตลอดเดือน เม.ย. 2564 นับตั้งแต่ 1-30 เม.ย. 2564 มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดในประเทศรายใหม่สะสมแล้ว จำนวน 36,079 ราย โดยกรุงเทพมหานคร มีผู้ป่วยใหม่รวมสะสม 12,005 ราย รองลงมาเป็น จ.เชียงใหม่ รวมสะสม 3,502 ราย จ.ชลบุรี รวมสะสม 2,394 ราย จ.สมุทรปราการ 1,719 ราย จ.นนทบุรี 1,544 ราย

หากนับยอดผู้ป่วยสะสม ณ 30 เม.ย. 2564 ประเทศไทยจะมีผู้ป่วยสะสมพุ่ง 65,153 ราย โดยเป็นผู้ป่วยรายใหม่ 1,583 ราย และผู้ป่วยเสียชีวิตสะสม 203 ราย

คนใส่หน้ากาก คนรอรถเมล์ โควิด เศรษฐกิจ.jpg

การระบาดระลอกสาม ทำให้รัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องลงนามออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พงศ.2548 (ฉบับที่ 22) กำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดใน 6 จังหวัด คือ กทม. ชลบุรี เชียงใหม่ นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี โดยบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดอย่างยิ่งเพื่อให้การสกัดและยับยั้งการระบาดของโรคเป็นไปโดยรวดเร็วและเด็ดขาด

ประยุทธ์ อนุพงษ์ -F245-4F0E-8123-B1C2137CB547.jpeg

"โดยในรอบนี้ผู้ติดโรคจะไม่แสดงอาการรหรือแสดงอาการน้อยมากในระยะแรก ประกอบกับประชาชนส่วนใหญ่มีความผ่อนคลายกับสถานการณ์การควบคุมโรคที่ดีขึ้นในห้วงเวลาที่ผ่านมา ไม่ค่อยระมัดระวังป้องกันตัวอย่างในช่วงต้นของการระบาด จึงทำให้โรคแพร่กระจายไปในทุกพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร มีผู้ป่วยติดเชื้อรายวันและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและการดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน"

"และต่อระบบการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข กรณีจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดมาตรการควบคุมการระบาด ของโรคให้เข้มข้นกว่าเดิม เพื่อมิให้เหตุการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อันเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินทวีความร้ายแรงมากขึ้น และให้สามารถยุติลงได้โดยเร็ว" พล.อ.ประยุทธ์ ระบุถึงเหตุผลในการระบาดของโรคโควิดระลอกสาม 

คำอธิบายดังกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงถูกมองว่าเป็นการโทษประชาชน แต่ไม่ได้โทษตัวเองที่ละเลยจนทำให้เชื้อโควิด-19 ลุกลามบานปลายจนยากที่จะแก้ไข

ข่าวที่เกี่ยวข้อง