วันที่ 12 ก.พ. 2565 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 ที่จะมีการอภิปรายในที่ประชุมสภาฯ วันที่ 17-18 ก.พ.นี้่ว่า จะเป็นการปูพรมเพื่อเตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่อาจมีโอกาสเกิดขึ้นในการประชุมสภาฯ สมัยประชุมครั้งหน้า ดังนั้น สำหรับข้อมูลการทุจริตชนิดที่จับได้คาหนังคาเขา หรือที่มีข้าราชการชั้นสูงส่งมาให้ จะยังไม่ใช้ในการอภิปรายทั่วไป แต่จะเป็นเพียงการโหมโรง เพื่อให้อาวุธที่ใช้ตรวจสอบรัฐบาลและปกป้องผลประโยชน์ประชาชน อยู่ในเวทีที่สามารถล้มรัฐบาลได้จริงๆ คือการอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 151
พิธา กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้จะเป็นเสมือนแดนประหารของรัฐบาล ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะร่วมกันอภิปรายให้เห็นภาพความสั่นคลอนต่างๆ ของรัฐบาลให้ชัดเจน อีกทั้ง ในช่วงเดือน ส.ค. ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เกี่ยวกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี จึงเป็นจังหวะทางการเมืองที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะนำประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง และใช้สภาฯให้เป็นประโยชน์ สมกับที่ประชาชนเลือกมา
สำหรับความเป็นไปได้ในการยุบสภาฯ นั้น พิธา มองว่า หากเป็นรัฐบาลที่เข้ามาตามระบอบประชาธิปไตยเต็มใบ สถานการณ์นี้ต้องยุบสภาไปนานแล้ว แต่รัฐบาลนี้มีกลไกพิเศษหลายอย่าง เช่น 250 ส.ว. องค์กรอิสระต่างๆ ช่วยยื้อการยุบสภาฯ ออกไป แต่รัฐบาลตอนนี้ทำได้เพียงรักษาอำนาจไว้ แต่ไม่สามารถบริหาร หรือแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้ การทำงานของพรรคร่วมฝ่ายค้านจึงไม่ใช่แค่การล้มรัฐบาล แต่เป็นการสื่อสารกับประชาชนให้เห็นความหวังว่าประเทศนี้ยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้
สำหรับสถานการณ์ระหว่างพรรคร่วมฝ่ายค้านนั้น พิธา กล่าวว่า ยังมีความเป็นเอกภาพอยู่ ตนได้พูดคุยกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านฯ และ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย โดยตลอด แม้จะมีความแตกต่างทางวิธีการและความคิด ซึ่งนั่นเป็นเหตุผลที่แต่ละคนอยู่คนละพรรค แต่เป้าหมายใหญ่ในการเอาเผด็จการออกจากรัฐสภานั้นยังคงเหมือนกัน และในระบอบประชาธิปไตยที่มีผู้สนับสนุนพรรคการเมืองอย่างเหนียวแน่นทางสื่อโซเชียลนั้น พรรคร่วมฝ่ายค้านก็ต้องเรียนรู้ น้อมรับปรับตัวตามคำวิจารณ์ แต่เป้าหมายร่วมกันในระยะยาวยังคงเหมือนกัน
'ก้าวไกล' เปิดตัวผู้สมัครลงเลือกตั้ง ส.ส.ปทุมธานี
ขณะเดียวกัน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้นำคณะทำงานลงพื้นที่บริเวณตลาดอิงน้ำ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี เพื่อเข้าพบและรับฟังปัญหาของประชาชน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง และปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก จากนั้นได้เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ทั้ง 6 เขตของ จ.ปทุมธานี ประกอบด้วย
1.เจษฎา ถาวรธรรมฤทธิ์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 1
2.สกล สุนทรวาณิชย์กิจ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 2
3.ชลธิชา แจ้งเร็ว ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 3
4.เชตะวัน เตือประโคน ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 4
5.ประสิทธิ ปัทมผดุงศักดิ์ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 5
6.พิชัย ปิยะกาโส พิชัย ปิยะกาโส ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 6
พิธา กล่าวว่า ว่าที่ผู้สมัครทั้งเขต 1-6 มีความหลากหลายในสายอาชีพ เพื่อตอบโจทย์ของปทุมธานีที่มีทั้งศักยภาพและความท้าทาย ศักยภาพคือเรื่องของการท่องเที่ยวมีแม่น้ำตัดผ่าน คล้ายกับพระนครศรีอยุธยา แต่รายได้จากการท่องเที่ยวแตกต่างจากพระนครศรีอยุธยาเป็น 10 เท่า ขณะที่ความท้าทายคือด้วยการที่มีแม่น้ำไหลตัดผ่านจังหวัด ทำให้เกิดน้ำท่วมถึง 3 ครั้งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แต่ปทุมธานีกลับเป็นจังหวัดที่ไม่มีเครื่องเตือนภัย โดยอาจจะเป็นปัญหาจากความไม่ใส่ใจของรัฐราชการ
หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังระบุว่า จ.ปทุมธานี เป็นจังหวัดยุทธศาสตร์ ทั้งสำหรับการหาเสียงของพรรค และสำหรับการบริหารราชการ พรรคก้าวไกลหวังว่าจะสามารถทวงแชมป์คืน และเพิ่มจำนวน ส.ส.ในปทุมธานีให้ได้ยกจังหวัด พร้อมทั้งขอเรียกร้องความไว้ใจจากพี่น้องชาวปทุมธานีที่รักในประชาธิปไตยทุกคนว่า พรรคก้าวไกลยังคงยืนหยัดที่จะต่อสู้ และการเลือกตั้งไม่ได้เป็นเพียงการเปลี่ยนรัฐบาล แต่จะเป็นการเลือกตั้งเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ
วาง 'ชลธิชา' บทบาทนักกิจกรรมสู่ ส.ส.แบบ 'โรม'
สำหรับ ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือ 'ลูกเกด' ว่าที่ผู้สมัครเขต 3 เคยเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง และแกนนำกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (Democracy Restoration Group-DRG) พิธา เผยว่า เหตุผลที่เลือก ชลธิชา มาเป็นว่าที่ผู้สมัคร เพราะอุดมการณ์ที่หนักแน่น ประสบการณ์ และความไว้วางใจที่มีต่อกันและกัน ขอให้ทุกคนมั่นใจว่า ชลธิชา สามารถอยู่เคียงข้างกับพรรคและพร้อมจะพิสูจน์ตัวเองในการเปลี่ยนบทบาทจากนักกิจกรรมมาสู่ผู้แทนราษฎร หากยังนึกภาพไม่ออก ก็ให้นึกถึง ส.ส.รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งเคยเคลื่อนไหวร่วมกับ ชลธิชามาตั้งแต่สมัยกลุ่ม DRG เมื่อปี 2556 และ ชลธิชา เองก็เคยเป็นคณะกรรมการวิสามัญเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของพรรคมาแล้ว จึงเรียกได้ว่าเลือกตั้งวันนี้ พร้อมทำงานพรุ่งนี้ได้เลย
ด้าน ชลธิชา ระบุว่า ด้วยความเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง จึงอาจมีคดีติดตัวบ้าง โดยทุกคดีเกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก อย่างไรก็ตาม ทุกคดียังอยู่ในขั้นสืบพยาน และยังไม่มีการตัดสินว่าตนเป็นผู้กระทำผิด จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่มีผลให้ถูกตัดสิทธิในการลงสมัครแน่นอน
"หลายๆ คดีที่อยู่ในชั้นศาล เรามีพยานหลักฐาน พยานบุคคลหลายๆ อย่าง ที่พร้อมพิสูจน์ว่าการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของพวกเรา ตั้งแต่รัฐประหาร 2557 จนถึงวันนี้ แม้กระทั่งเข้าร่วมการชุมนุมเพื่อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและมาตรฐานสากล ดังนั้นเรื่องนี้เองไม่มีความกังวล" ชลธิชา กล่าว