ไม่พบผลการค้นหา
ครม. อนุมัติให้คลังกู้เงินต่างประเทศ ให้ รฟท.สร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-หนองคาย จากเดิมให้กู้เฉพาะในประเทศ แย้มคลังอยู่ระหว่างเจรจากู้จีน อีกด้านหนึ่ง ขยายเวลายกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่านักท่องเที่ยวไปถึง 30 เม.ย. หวังดึงดูดการท่องเที่ยว พร้อมอนุมัติมาตรการภาษีหนุนคนบริจาคช่วยผู้ประสบภัย 'ปาบึก'

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ แถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ประจำวันที่ 8 ม.ค. มี 3 ประเด็นสำคัญดังนี้

หนึ่ง ครม. มีมติอนุมัติหลักการแก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี และร่างพระราชกฤษฏีกากำหนดอัตราเงินนำส่งกองทุนคุ้มครองเงินฝาก เพื่อสนับสนุนแหล่งเงินทุนมั่นคงให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เนื่องจากปัจจุบันสินเชื่อคงค้างที่มาจากเอสเอ็มอีคิดเป็นร้อยละ 34 หรือ 5 ล้านล้านบาท

โดยนายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงการคลังจัดสรรเงินช่วยเหลือจากกองทุนคุ้มครองเงินฝากที่ร้อยละ 10 ของจำนวนเงินในกองทุนคุ้มครองเงินฝาก คิดเป็นมูลค่า ประมาณ 128 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ ครม. อนุมัติหลักการและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประกอบการพิจารณาด้วย แล้วจึงส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป 

สอง ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเลิกการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมตามมาตรา 12 (1) ประเภทนักท่องเที่ยว ชนิดใช้ได้ครั้งเดียว เป็นการชั่วคราว พ.ศ. 2562 ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และดำเนินการต่อไปได้

โดยสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงดังกล่าวคือ ขยายมาตรการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราของคนต่างด้าวซึ่งประสงค์จะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยวเป็นเวลาไม่เกิน 15 วัน ในกรณียื่นขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa On Arrival) ที่มีการเก็บอัตราค่าธรรมเนียมประเภทนักท่องเที่ยว ชนิดใช้ได้ครั้งเดียว จำนวนเงิน 2,000 บาท โดยให้ยกเลิกการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นการชั่วคราวต่อไปอีก

โดยการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมจะขยายไปถึงวันที่ 30 เม.ย. 2562 จากกำหนดการเดิมคือ สิ้นสุดวันที่ 14 ม.ค. 2562

อย่างไรก็ตาม การยกเว้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวรัฐบาลจะเสียรายได้จากการเก็บเงินค่าธรรมเนียมวีซ่า คิดเป็นมูลค่า 2,140 ล้านบาท แต่อีกด้านหนึ่ง คาดการณ์ว่าจะมีการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในช่วงเวลาที่มีการยกเลิกค่าธรรมเนียมวีซ่า คิดเป็นมูลค่า 6,420 ล้านบาท

จากปัจจุบันตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า หลัง ครม. มีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวงยกเลิกการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม มาตรา 12 (1) ประเภทนักท่องเที่ยวชนิดใช้ได้ครั้งเดียว เป็นการชั่วคราว พ.ศ. 2561โดยให้ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราของคนต่างด้าว จำนวน 21 ประเทศ อาทิ จีน, ไต้หวัน, ซาอุดิอาระเบีย, อินเดีย และยูเครน เป็นต้น ที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เพื่อการท่องเที่ยวเป็นเวลาไม่เกิน 15 วัน

ในกรณียื่นขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa On Arrival) จากเดิมที่ให้มีการเก็บอัตราค่าธรรมเนียม ประเภทนักท่องเที่ยว ชนิดใช้ได้ครั้งเดียว จำนวน 2 พันบาทต่อราย โดยการยกเลิกการเก็บอัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าว ให้ใช้ระหว่าง 1 ธ.ค. 2561-31 ม.ค. 2562

สาม ครม.มีมติอนุมัติทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2560 เรื่องการกู้เงินสำหรับโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) โดยเห็นชอบให้กระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้ทั้งในประเทศและต่างประเทศจากแหล่งเงินกู้ที่เหมาะสมและนำมาให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กู้ต่อ สำหรับการดำเนินโครงการฯ ภายใต้กรอบวงเงิน 166,342.61 ล้านบาท 

โดยให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นงบชำระหนี้ให้แก่ รฟท. เพื่อใช้ชำระหนี้คืนแก่แหล่งเงินโดยตรงทั้งในส่วนเงินต้น ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังจะได้ตกลงกับ รฟท. ต่อไป ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ 

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการเจรจาเงื่อนไขสัญญาการกู้เงินต่างประเทศจาก CEXIM ภายใต้กรอบความร่วมมือทางด้านรถไฟฟ้าระหว่างไทย - จีน

"การกู้เงินจากสถาบันการเงินทั้งไทยและต่างประเทศนั้น ขึ้นอยู่ที่อัตราดอกเบี้ย" นายณัฐพร กล่าว

ประชุม ครม.

ประเมินเศรษฐกิจและงบประมาณ ปี 2563 ตั้งงบขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท

ด้านนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม. มีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 โดยมีการประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5 - 4.5 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้นซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกไทย ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นโดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐในโครงการใหญ่ต่างๆ และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.8 - 1.8

ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่า รัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้รวมจำนวน 3,256,500 ล้านบาท เมื่อหักการคืนภาษีต่างๆ คงเหลือรายได้สุทธิ จำนวน 2,750,000 ล้านบาท

จากสมมติฐานทางเศรษฐกิจและประมาณการรายได้รัฐบาล เพื่อให้การจัดการรายจ่ายภาครัฐสามารถขับเคลื่อนได้ตามยุทธศาสตร์ชาติ จึงได้กำหนดนโยบายงบประมาณขาดดุลสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 450,000 ล้านบาท ส่งผลให้มีวงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 3,200,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ที่กำหนดไว้ 3,000,000 ล้านบาท เป็นจำนวน 200,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.7

โครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประกอบด้วย (1) รายจ่ายประจำ จำนวน 2,358,410.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมจำนวน 85,754.2 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 3.8 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 73.7 ของวงเงินงบประมาณรวม (2) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 62,709.5 ล้านบาท (3) รายจ่ายลงทัน จำนวน 691,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมจำนวน 42,061.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.5 (4) รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 87,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมจำนวน 9,474.5 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.1

ประชุม ครม.

มาตรการบรรเทาภาระผู้ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึก

นายพุทธิพงษ์ เปิดเผยด้วยว่า ครม. รับทราบมาตรการทางด้านภาษี รวม 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการหักลดหย่อนภาษีสำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย และมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินหรือทรัพย์สินที่ได้บริจาค และมาตรการทางด้านการเงินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) รวม 19 มาตรการ ประกอบด้วย การพักชำระหนี้ตั้งแต่ 3-6 เดือน และการให้สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินหรือการซ่อมแซม

ทั้งนี้ มีการประเมินว่า รัฐอาจสูญเสียรายได้จากมาตรการภาษีด้านอสังหาริมทรัพย์ 60 ล้านบาท และด้านรถ 820 ล้านบาท แต่เป็นไปเพื่อบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้มีเงินได้ ซึ่งเป็นผู้ประสบภัย ที่ได้รับความเสียหายจากพายุโซนร้อนปาบึก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :