ไม่พบผลการค้นหา
ประชุมคณะกรรมการการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยรอบสุดท้ายปี 2561 ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 1.50 เป็นร้อยละ 1.75 หวังเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน ย้ำไม่มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ครั้งที่ 8/2561 มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.50 เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปี โดยให้มีผลบังคับใช้ทันที ในขณะที่ 2 เสียงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี 

นายทิตนันท์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานานในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวที่ดีต่อเนื่อง โดยธปท. คาดการณ์ตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 4.0 จากตัวเลขการเติบโตที่อยู่ในหลักร้อยละ 4 ประกอบกับการขยายตัวสอดคล้องกับศักยภาพและกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ กรรมการส่วนใหญ่จึงลงความเห็นว่าควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน

ธปท แถลง

ด้านกรรมการอีก 2 คน ที่มีความเห็นให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ให้ความเห็นว่า ปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนจากต่างประเทศยังมีแนวโน้มสูงขึ้นและอาจส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะต่อไป จึงควรรอประเมินความความชัดเจนของผลกระทบจากปัจจัยภายนอกและความยั่งยืนของแรงส่งจากปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศไปอีกระยะหนึ่ง ประกอบกับมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินที่ดำเนินการไปแล้วได้มีผลช่วยดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในบางจุดไปบ้างแล้ว


"ในภาพใหญ่คือการชั่งน้ำหนักระหว่างศักยภาพของระบบการเงินกับปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจมหภาคก็คือเรื่องของจีดีพี การขยายตัวของเศรษฐกิจ และก็เงินเฟ้อ" นายทิตนันท์ กล่าว


ภาพรวมเศรษฐกิจปีหน้าในสายตา ธปท.

ธปท. มองว่าเศรษฐกิจโดยรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในระดับคงที่ โดยภาคการส่งออกยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ขณะที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องเผชิญการชะลอตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่แม้เริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น แต่ยังไม่ฟื้นขึ้นมาทั้งหมด การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามรายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม รายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรมีแนวโน้มลดลงและหนี้ครัวเรือนของประชาชนยังอยู่ในระดับสูง สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามการย้ายฐานการผลิตมาไทย ส่วนค่าใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวชะลอลงกว่าที่ประเมินไว้จากความล่าช้าในการลงทุนของรัฐวิสาหกิจบางแห่ง

นายทิตนันท์ กล่าวถึงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปว่า มีแนวโน้มทรงตัวตลอดทั้งปี 2562 โดย ธปท. มองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 1.0 อย่างไรก็ตามยังมีควมเสี่ยงด้านต่ำจากความผันผวนของราคาพลังงานและราคาอาหารสด ด้านภาวะการเงินอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินของประเทศยังสูงอยู่ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ภาคเอกชนสามารถระดมทุนได้ต่อเนื่อง โดยรวมแล้วระบบการเงินมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงที่อาจสร้างความเปราะบางให้เสถียรภาพระบบการเงินในอนาคต


อาจกระทบลูกหนี้สินเชื่อบ้านรายใหม่และเอสเอ็มอี

ขณะเดียวกัน นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วย กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้างานวิจัยลูกค้าบุคคล บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบล่าสุด ชี้ว่า คณะกรรมการฯ ให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องเสถียรภาพทางการเงิน (financial stability) และเปิดทางให้มี policy space หรือ มีขีดความสามารถในการทำนโยบายการเงินสำหรับรองรับสถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคต 

“ใน 5 ประเด็นที่ กนง. ใช้พิจารณาการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ได้แก่ เงินเฟ้อ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราแลกเปลี่ยน เสถียรภาพทางการเงิน และขีดความสามารถในการทำนโยบาย เห็นชัดว่า กนง. ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยหนนี้น่าจะมาจาก 2 ประเด็นคือเสถียรภาพทางการเงิน และขีดความสามารถในการทำนโยบาย เป็นหลัก”

อย่างไรก็ตาม การขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย อาจไม่ได้ส่งผลต่อการขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ในเวลาอันรวดเร็วนัก และสำหรับลูกหนี้สินเชื่อบ้านก็ยังอาจไม่ได้มีภาระดอกเบี้ยรายเดือนเพิ่มขึ้น มากเท่ากับคนกู้รายใหม่ แต่สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอาจจะเห็นชัดกว่าถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อการประกอบกิจการในระยะข้างหน้า

ด้านนายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารหัวหน้าทีมวิจัย สายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี น่าจะยังไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากนัก เพราะอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงนี้ขึ้นเพียง 25 สตางค์ และการส่งผ่านนโยบายจากธนาคารกลางไปสู่ธนาคารพาณิชย์ก็ไม่ได้เร็วนัก อีกทั้งธนาคารพาณิชย์ยังมีสภาพคล่องอยู่มาก จึงไม่จำเป็นเร่งระดมเงินฝากโดยจูงใจผู้ออมด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้น จนส่งผลกระทบต่ออัตราเงินกู้ในเวลารวดเร็วนัก 

อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มาก น่าเป็นกังวลกับคนที่กู้เพื่อการเก็งกำไรและการลงทุนมากกว่า


ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยไม่กระทบต่อตลาดหุ้น

นิกเกอิเอเชี่ยนรีวิว สื่อด้านธุรกิจของญี่ปุ่น รายงานว่า มติของ กนง.ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีของประเทศไทย แต่ก็ไม่ได้ผิดไปจากการคาดการณ์ของบรรดานักลงทุนมากนัก เพราะมีการส่งสัญญาณมาก่อนหน้านี้แล้วว่าอาจจะมีการปรับขึ้น จึงไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์แต่อย่างใด

โยอิชิโระ ยามะกุจิ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยกับนิกเกอิเอเชี่ยนรีวิวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเรื่องปกติที่ใช้ในกันในหลายประเทศ เพื่อเพิ่มเสถียรภาพทางการเงิน

ยามะกุจิระบุว่าในปีหน้า ไทยต้องดำเนินการจัดการเลือกตั้งครั้งใหญ่ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่นักวิเคราะห์หลายรายประเมินว่าอาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงหรือมีปัจจัยที่สร้างความผันผวนทางการเมืองได้ จึงจำเป็นต้องมีนโยบายการเงินการคลังที่มีเสถียรภาพเพียงพอ 

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานจาก ธปท. ระบุว่า การประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ เป็นการ "ปรับขึ้น" ครั้งแรกในรอบ 7 ปี หลังจากเมื่อการประชุม กนง. ครั้งที่ 8/2554 (วันที่ 30 พ.ย. 2554) กนง.ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากร้อยละ 3.50 มาเป็นร้อยละ 3.25 เป็นครั้งแรก และหลังจากนั้นก็ปรับลง หรือ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาต่อเนื่อง จนลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.50 และยังไม่เคยมีการปรับขึ้นเลย กระทั่งการประชุมวันนี้ (19 ธ.ค. 2561) ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 8/2561 กนง.ได้ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมา 25 เบสิกพอยต์ ทำให้วันนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 1.75

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: