ภายหลังที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2564 มีมติ 366 เสียงต่อ 315 เสียง เห็นชอบให้ส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เปิดทางให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับปัญหาอำนาจและหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาจะมีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้หรือไม่
ญัตติดังกล่าวที่ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเป็นคำร้องที่ 'ไพบูลย์ นิติตะวัน' ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และ 'สมชาย แสวงการ' สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) พร้อมคณะได้ขอให้ที่ประชุมรัฐสภามีมติ
ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาเช่นไรนั้น ไม่ว่าจะเกิดผลในทางลบ หรือ ทางบวก ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อกระบวนการลงมติวาระที่สาม ในห้วงวันที่ 17-18 มี.ค. 2564 ของกลไกอำนาจนิติบัญญัติ
ล่าสุด 'ชูศักดิ์ ศิรินิล' รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษ ผ่าน 'วอยซ์' โดยเริ่มต้นว่า สาระสำคัญ จริงๆ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเห็นตรงกัน ว่ารัฐธรรมนูญนี้แก้ไขได้ ให้มี ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ พอรัฐธรรมนูญผ่านวาระที่สอง มีการยื่นญัตติขอให้รัฐสภาตีความคำร้องของตนเอง ว่ารัฐสภามีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ และมีอำนาจหน้าที่ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าย้อนแย้งพอสมควร เพราะอำนาจการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภาอยู่แล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยแก้ไขให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
"คุณมีเจตนาอยากให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือไม่ คุณมีเจตนาที่จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เพราะตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด ทัศนะของ ส.ว.ที่แสดงออกมาตลอด สรุปได้ง่ายๆว่า เขาไม่อยากให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อยากให้เป็นรัฐธรรมนูญเพื่อเราไปตลอด" ชูศักดิ์ ระบุ
รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยอ่านคำร้องที่ 'ไพบูลย์-สมชาย' ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยให้เหตุผลว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เปิดโอกาสให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีบทบัญญัติให้แก้ไขทั้งฉบับ ก็อ้างว่าเมื่อไม่มีกฎหมายให้อำนาจก็ไม่สามารถจะทำได้ เมื่อไม่มีกฎหมายให้อำนาจ จะทำได้อย่างเดียวคือยึดคำวินิจฉัยเดิมปี 2555 ควรไปทำประชามติเสียก่อน
"ผมจะตอบให้ฟังว่าความเป็นจริง ถ้ายอมรับตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าอำนาจการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การจัดทำรัฐธรรมนูญ หรือใช้ภาษาทางรัฐธรรมนูญของศาลว่า อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน สิ่งที่พรรคร่วมฝ่ายค้านทำ แม้กระทั่งพรรคร่วมรัฐบาลทำในขณะนี้ไม่ได้หลีกหนีไปจากอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชน กล่าวคือ เราเสนอญัตติขอแก้ไขมาตรา 256 วิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญและขอจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยมี ส.ส.ร."
ชูศักดิ์ ระบุด้วยว่า ถ้ารัฐสภายินยอมทำให้ด้วยการลงมติเห็นชอบในวาระที่สาม ก็จะมีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม แก้ไขมาตรา 256 บวก ส.ส.ร. เมื่อร่างนี้เมื่อผ่านรัฐสภา วาระที่สามแล้ว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (8) บังคับให้ทำประชามติอยู่แล้ว
"เมื่อประชาชนเห็นชอบมีกฎหมายรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว มี ส.ส.ร.ไปเลือกตั้ง ส.ส.ร. มาทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อทำฉบับใหม่แล้ว คำตอบคือ ส.ส.ร.ทำแล้วให้ไปขอประชามติกับประชาชนอีก แปลว่า ท้ายที่สุดประชาชนต้องเห็นชอบว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ยังคงยืนยันอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน เรายืนยันหลักการถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 2 เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ผมคิดว่าที่ทำอยู่ในครรลองของกฎหมาย"
ขณะที่นักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ อย่าง รศ.ณรงค์เดช สรุโฆษิต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุกับ 'วอยซ์' ว่า "ถ้าผมเป็นศาลรัฐธรรมนูญ จะตีความว่าอำนาจในการโหวตเรื่องนี้เป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภา ท่านจะใช้ดุลพินิจเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ หรืองดออกเสียงก็แล้วแต่ท่าน ถ้าเสียงไม่ถึงก็คว่ำไป เป็นเอกสิทธิ์ในทางกฎหมายทำอะไรไม่ได้"
อีกทั้ง การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมเท่าที่รัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้ คือแก้ไขรายมาตราอยู่แล้ว แต่การที่รัฐสภาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้มีผลเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดย ส.ส.ร. คำถามนี้ต้องกลับไปสู่อำนาจผู้สถาปนารัฐธรรมนูญก็คือประชาชน และให้ประชาชนเป็นคนลงประชามติว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญโดย ส.ส.ร.หรือไม่
'รศ.ณรงค์เดช' ยืนยันว่า การกระทำของสมาชิกรัฐสภาในการลงมติผ่านทั้งวาระที่หนึ่งและวาระสองเสร็จสิ้นไปนั้น เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตรา ซึ่งแก้ไขตามมาตรา 256 โดยเพิ่มหมวดใหม่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญแล้วไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ
"พอประชาชนออกเสียงประชามติเห็นชอบให้มี ส.ส.ร. ตรงนั้นเกิดอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ เกิดเป็น ส.ส.ร. พอ ส.ส.ร.ทำเสร็จไปถามประชาชนอีกรอบ สวยหรูเลยครับ นี่ก็คือการแก้ไขรายมาตราอยู่แล้ว คือ เพิ่มหนึ่งหมวดเข้าไป"
'รศ.ณรงค์เดช' ชี้ว่า หากในกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยถึงกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่แก้ไขมาตรา 256 นั้นทำไม่ได้ ไม่ว่ารัฐสภาจะลงมติอย่างไรในวาระที่สาม ก็จะไม่มีผลในทางใดทั้งสิ้น
"แต่ถ้าศาลตีความอย่างนั้น ศาลกำลังทำตัวใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (8) บอกว่าไปประชามติ อำนาจสถาปนาอยู่กับเขา อยู่กับประชาชนไปถามเขาก่อนไหม สุดท้ายต้องถามประชาชน ไม่ใช่รัฐสภา ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ ต้องไปถามประชาชน ถ้าศาลบอกว่าทำไม่ได้ศาลกำลังละเมิดประชาชนเอง เพราะอำนาจตัดสินใจอยู่ที่ประชาชนขั้นสุดท้าย ถ้าผ่านวาระที่สามไปประชามติ"
นักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ยังยกมาตรา 256 ที่เป็นขั้นตอนในการเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้อยู่แล้ว
"ผมมองกระบวนการที่เสนอญัตติไปศาลรัฐธรรมนูญว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตั้ง ส.ส.ร. จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เกินอำนาจรัฐสภาหรือไม่ โดยอ้างรัฐสภาแก้ได้เฉพาะมาตรา การเล่นเกมแบบนี้ มันเป็นการยืมมือศาลรัฐธรรมนูญ แต่ลองสมมติครับ ถ้า ส.ส.หรือ ส.ว.ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ประชาชนก็จะชี้หน้าด่า ส.ส. ส.ว.กลุ่มนี้" รศ.ณรงค์เดช กล่าว
เขาอธิบายว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ประชาชนเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ เพราะผ่านขั้นตอนการลงประชามติเมื่อปี 2559 เป็นผลสำเร็จ ทว่าได้เกิดคำถามสำคัญตามมาภายหลัง คือ บรรทัดฐานคำวินิจฉัยของของศาลรัฐธรรมนูญปี 2555-2556 ถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญจนเป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญต้องไปถามประชามติก่อน เพราะประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ในกระบวนการที่เรียกว่า การให้ความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยของประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ สามารถกระทำได้หลายขั้นตอน
"ถ้าศาลจะตัดสินในความเห็นทางวิชาการต้องยืนยันว่าต้องมีการออกเสียงประชามติ แต่การออกเสียงก่อนจะสมบูรณ์ที่สุด แต่ถ้าทำไปแล้วสุดท้ายก็ต้องออกเสียงประชามติ ถ้าประชาชนในขั้นสุดท้ายเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่จะจัดให้มี ส.ส.ร.ก็ย่อมกระทำได้ และชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ชอบด้วยหลักประชาธิปไตย ชอบด้วยทฤษฎีที่อ้างกันเยอะ"
เมื่อถามในประเด็นอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็มีความเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ทำอยู่ในเวลานี้จะทำได้เพียงแค่แก้ไขรายมาตราเท่านั้น ไปแก้ให้จัดทำฉบับใหม่ไม่ได้นั้น
'ชูศักดิ์' แย้งทันทีว่า ถ้าไปทำประชามติสอบถามประชาชนก่อนว่าจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ก็อาจทำให้ประชาชนไม่รู้คำตอบได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะจัดทำอย่างไร และจะทำด้วยวิธีใด เพราะยังไม่เห็นโครงสร้างและยังไม่เห็นว่าจะมี ส.ส.ร.หรือไม่ ถ้าหากทำประชามติก่อนแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะยิ่งทำให้เสียงบประมาณ
อีกทั้ง การที่ฝ่ายผู้ยื่นญัตติหยิบยกว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 มีการเขียนหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น 'ชูศักดิ์' เห็นว่าเป็นเรื่องปกติว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวหลังการรัฐประหาร เพราะต้องเขียนว่าให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่เช่นนั้นจะไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร แต่รัฐธรรมนูญฉบับถาวรไม่เคยมีเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรต้องมีหมวดจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ในปี พ.ศ.นั้น หรือ พ.ศ.นี้
ด้าน 'รศ.ณรงค์เดช' ระบุว่า ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2555 ได้ระบุว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ใช่อันเดียวกัน แต่เจตนารมณ์ของผู้ร่างเป็นเครื่องไม้ เครื่องมือหนึ่งในการค้นหาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น สิ่งที่อภิปรายใน กรธ.ตอนร่างรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องไม้เครื่องมือในการนำมาพิจารณาประกอบ ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้วรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ของตัวเอง และศาลจะเป็นคนหาเจตนารมณ์ของการใช้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญในเรื่องนั้น
ถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ตามมาตรา 256 ไม่ได้ สรุปแล้วอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญจะเป็นของใครนั้น
รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ตอบทันทีว่า "อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนก็จะบิดเบี้ยวไป กลายเป็นว่าท้ายที่สุดคุณเอาอำนาจที่คุณมีไปศาล ผมถึงบอกครั้งแรกว่าคุณอย่าทำให้ศาลเป็นซูเปอร์องค์กร จริงๆ อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ชัดเจนในอำนาจตามรัฐธรรมนูญ แต่ละฝ่ายต้องเคารพอำนาจหน้าที่ของกันและกัน มันก็ทำให้ช่วยไม่ได้ถ้าคุณอยู่ดีๆ เอาอำนาจที่คุณมีอยู่ไปให้เขา"
"ผมดูเหมือนเล่นละคร เมื่อครั้งหนึ่งปี 2555 ผมไปซักค้านคนในศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมก็ถามว่า คุณแปรญัตติไหม คุณเสนอคำแปรญัตติต่อรัฐสภาใช่ไหม ผมก็ถามว่า คุณแปรญัตติ คุณก็มีส่วนร่วมในการทำรัฐธรรมนูญมาแต่แรก แล้วคุณมาคัดค้านอะไรในที่นี่ ภาษาทางกฎหมายเขาเรียกว่า ใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ การกระทำที่ถามแบบนี้ ถ้าตอบ คุณใช้สิทธิมีปัญหา ภาษาทางการเมืองบอกว่า คุณเล่นละครหรือเปล่า ตีสองหน้ากันหรือเปล่า"
ถ้าให้ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยุติแบบสวยหรูนั้น 'รศ.ณรงค์เดช' ระบุว่า "ถ้าผมเป็นศาลจะตีความว่าอำนาจในการโหวตเรื่องนี้เป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภา ท่านจะใช้ดุลพินิจเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ หรืองดออกเสียงก็แล้วแต่ท่าน ถ้าเสียงไม่ถึงก็คว่ำไป เป็นเอกสิทธิ์ในทางกฎหมายทำอะไรไม่ได้ อันที่สอง การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมเท่าที่รัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้ คือแก้ไขรายมาตราก็ถูก แต่การที่รัฐสภาแก้ไขมีผลเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดย ส.ส.ร. คำถามนี้ต้องกลับไปสู่อำนาจผู้สถาปนารัฐธรรมนูญก็คือประชาชน และให้ประชาชนเป็นคนลงประชามติว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญโดย ส.ส.ร.ตามรายละเอียดที่่มีการเสนอไปหรือไม่"
"อันนี้ก็แก้ไขรายมาตรา ตามมาตรา 256 แล้วเพิ่มหมวดใหม่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญแล้วไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ พอประชาชนออกเสียงประชามติเห็นชอบให้มี ส.ส.ร. ตรงนั้นเกิดอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ เกิดเป็น ส.ส.ร. พอ ส.ส.ร.ทำเสร็จไปถามประชาชนอีกรอบ สวยหรูเลยครับ นี่ก็คือการแก้ไขรายมาตราอยู่แล้ว คือ เพิ่มหนึ่งหมวดเข้าไป"
ทว่าหากผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาบอกว่า โมเดล ส.ส.ร.ไปต่อไม่ได้ คือ 'แท้ง' และ จัดทำหมวดรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ได้ กระบวนการทางนิติบัญญัติจะต้องโหวตวาระที่สามในวันที่ 17-18 มี.ค.นี้อยู่หรือไม่
'ชูศักดิ์' ยืนยันว่า รัฐสภาควรจะต้องแสดงอย่างยิ่ง อำนาจแท้จริงเป็นของรัฐสภา อำนาจแท้จริงเป็นของประชาชน
"อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนก็จะบิดเบี้ยวไป กลายเป็นว่าท้ายที่สุดคุณเอาอำนาจที่คุณมีไปศาล ผมถึงบอกครั้งแรกว่าคุณอย่าทำให้ศาลเป็นซูเปอร์องค์กร จริงๆ อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ชัดเจนในอำนาจตามรัฐธรรมนูญ แต่ละฝ่ายต้องเคารพอำนาจหน้าที่ของกันและกัน มันก็ทำให้ช่วยไม่ได้ถ้าคุณอยู่ดีๆ เอาอำนาจที่คุณมีอยู่ไปให้เขา"
ขณะที่ รศ.ณรงค์เดช ระบุว่า สมมติศาลบอกว่าทำไม่ได้ ถ้ารัฐสภาโหวตไปก็ไม่มีผล แต่ถ้าศาลตีความอย่างนั้น ศาลกำลังทำตัวใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (8) บอกว่าไปประชามติ อำนาจสถาปนาอยู่กับเขา อยู่กับประชาชนไปถามเขาก่อนไหม
"สุดท้ายต้องถามประชาชน ไม่ใช่รัฐสภา ไม่ใช่ศาลรัฐธรรมนูญ ต้องไปถามประชาชน ถ้าศาลบอกว่าทำไม่ได้ศาลกำลังละเมิดประชาชนเอง เพราะอำนาจตัดสินใจอยู่ที่ประชาชนขั้นสุดท้าย ถ้าผ่านวาระที่สามไปประชามติ"
นักวิชาการผู้ศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญ ยังคงยืนยันเป็นคำตอบสุดท้ายด้วยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภากระทำอยู่ขณะนี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกประการ
"การแบบนี้อยู่ภายใต้กรอบเดิม ร่างที่เสนอโดยที่เข้ารัฐสภาตอนนี้ หนึ่งขัดต่อมาตรา 255 ไม่ได้ ส.ส.ร.ใหม่จะเปลี่ยนรูปของรัฐไม่ได้ จะเปลี่ยนรูปแบบการปกครองระบอประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ได้ นี่คือกรอบ อำนาจสถาปนาเดิมที่ครอบ ส.ส.ร. ร่างทุกร่างเขียนล็อกแก้ไขหมวด1-2 ไม่ได้ อำนาจสถาปนาเดิมครอบอยู่"
"ดังนั้น ถ้าพูดแบบฝรั่ง จะบอกว่านี่เป็น Constitutional Dismemberment การปรับแต่งรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะอยู่ภายใต้กรอบเดิม ภายใต้กรอบอำนาจสถาปนาเดิม ไม่ใช่จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะอยู่ภายใต้กรอบเดิม กรอบมาตรา 255 ห้ามแก้หมวด 1-2 อาจจะเป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับปี2564 หรือปี 2566 แต่ยังอยู่กรอบเดิม" รศ.ณรงค์เดช ระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง