นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับ กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี (กก.ดส.) นำโดย พล.ต.ต.สุคุณ พรหมายน รอง ผบช.น., พ.ต.อ.จิรกฤต จารุนภัทร์ ผกก.กก.ดส.ฯ เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้รับแจ้งจาก กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี (กก.ดส.) กองบัญชาการตำรวจนครบาล ว่าตามนโยบายผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ทำการจับกุมผู้จำหน่ายแก๊สไนตรัสออกไซด์ (แก๊สหัวเราะ) ที่ได้แพร่ระบาดเข้ามาจำหน่ายหน้าสถานบริการให้กับกลุ่มผู้ที่เที่ยวสถานบริการและนักท่องเที่ยวต่างประเทศ
โดยซื้อแก๊สไนตรัสออกไซด์ บรรจุลุกโป่งขายใบละ 50 - 200 บาท และนั่งเสพหน้าสถานบริการนั้น ซึ่งผู้เสพจะมีอาการเพลิดเพลิน นั่งหัวเราะและหากดื่มพร้อมแอลกอฮอล์ทำให้เกิดอาการมึนเมา อาจทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมในด้านต่าง ๆ ที่จะเป็นปัญหาสังคมอีกหลายประการ จึงได้ผนึกกำลังลงพื้นที่เป้าหมาย 14 จุด บริเวณสถานที่ท่องเที่ยวในเขตกรุงเทพฯ ได้ทำการจับกุมผู้จำหน่ายแก๊สไนตรัสออกไซด์
นพ.ธเรศ กล่าวว่า สำหรับแก๊สหัวเราะ ในทางการแพทย์ใช้เป็นแก๊สดมสลบก่อนการผ่าตัด หรือถอนฟัน ลดอาการปวดได้ดี ออกฤทธิ์รวดเร็วและหมดฤทธิ์เร็วเช่นกัน ตามกฎหมายถือว่าเป็นยาที่ใช้ตามโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังใช้ในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยใช้บรรจุในถุงลมนิรภัยในรถยนต์
ปัจจุบันพบการลักลอบมาจำหน่ายแก๊สไนตรัสออกไซด์เพื่อมาใช้ในทางที่ผิด นำมาสูดดมตามแหล่งสถานบริการต่างๆ เพื่อให้เกิดอาการเคลิบเคลิ้มและเพลิดเพลิน นั่งหัวเราะ แต่หากสูดดมเข้าไปมาก ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน มึนงง ร่างกายไม่สามารถประสานการทำงานของอวัยวะต่างๆ ได้ อาจทำให้หกล้ม บาดเจ็บ และหมดสติได้ และเมื่อสูดดมบ่อยครั้งเป็นเวลานาน ทำให้เส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม มึน ชา กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย เหน็บชาบริเวณนิ้วมือนิ้วเท้า รับความรู้สึกไม่ได้ เนื่องจากภาวะขาดวิตามินบี 12 ร้ายแรงสุดอาจเสียชีวิตได้ เพราะแก๊สดังกล่าวจะเข้าไปแย่งออกซิเจนในเลือด เนื่องจากปริมาณแก๊สไนตรัสออกไซด์ที่มากและเข้าไปแทนที่ออกชิเจนในปอดและในระบบประสาทส่วนกลางจนหมดร่างกายไม่สามารถควบคุมระบบหายใจ และหมดสติได้
ด้าน ภญ.สุภัทรา บุญเสริม กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับผู้ที่นำแก๊สไนตรัสออกไซด์ออกมาจำหน่ายหรือนำมาบรรจุใส่ลูกโป่งนั้น ถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติยา ในข้อหาจำหน่ายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท และหากยาดังกล่าวเป็นยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ผู้ใด ผลิต/นำเข้า โดยไม่ได้รับอนุญาต จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ