ไม่พบผลการค้นหา
20-24 มกราคม 2568 นี้ นายกฯแพทองธาร-พิชัย รมว.พณ. เตรียมลุยสวิส ลงนาม FTA ไทย-เอฟตา เปิดศักราชใหม่การค้าไทย FTA ฉบับแรกไทยกับยุโรป

วันที่ 18 มกราคม 2568 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนและคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์มีกำหนดการเดินทางเข้าร่วมการประชุมประจำปี World Economic Forum (WEF) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-24 มกราคม 2568 ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส โดยจะได้เข้าร่วมลงนามความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ระหว่างไทยกับสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป หรือ “เอฟตา” (European Free Trade Associations : EFTA) โดยมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นสักขีพยาน พร้อมทั้งเข้าร่วมการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับรัฐมนตรีประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก หรือ WTO ซึ่งจะจัดขึ้นต่อเนื่องกับการประชุม WEF เพื่อเดินหน้าผลักดันการค้าไทยในเวทีโลก และจะร่วมหารือประเด็นการค้ากับนางเอ็นโกซี โอคอนโจ-อิเวลลา ผู้อำนวยการใหญ่ของ WTO ในการแลกเปลี่ยนมุมมองในประเด็นด้านการค้า และความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือของ WTO ของไทยด้วย

นายพิชัย กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 ได้เห็นชอบผลการเจรจาจัดทำ FTA ระหว่างไทยกับเอฟตา ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ หลังจากที่เร่งรัดการเจรจามาตลอดช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา โดยพิธีลงนามจะจัดขึ้นในวันที่ 23 มกราคม 2567 ในช่วงที่นายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) และตนจะเดินทางเข้าร่วมการประชุม WEF ซึ่งการลงนามครั้งนี้จะถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เร่งเจรจาจัดทำ FTA กับประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ขยายโอกาสในการส่งออกสินค้าและบริการของไทย สร้างแต้มต่อและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในการทำธุรกิจ ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติในอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ และอุตสาหกรรมใหม่

ซึ่งความสำเร็จของ FTA ฉบับนี้ ถือเป็นหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์การค้าไทย เนื่องจากเป็น FTA ฉบับแรกที่ไทยทำกับกลุ่มประเทศในยุโรป มีความทันสมัย มาตรฐานสูง สอดคล้องกับพัฒนาการของกฎเกณฑ์การค้ายุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะปูทางไปสู่การเจรจาจัดทำ FTA ของไทยกับคู่ค้าสำคัญอื่น ๆ เช่น สหภาพยุโรปต่อไป ซึ่งในปี 2568 กระทรวงพาณิชย์ยังวางเป้าหมายที่จะเดินหน้าเร่งจัดทำ FTA กับคู่ค้าอื่น ๆ เช่น ภูฏาน และ เกาหลีใต้ เพิ่มเติมด้วย

นายพิชัย เพิ่มเติมว่า ในโอกาสเข้าร่วมประชุม WEF ครั้งนี้ ตนยังได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกอย่างไม่เป็นทางการ (Informal WTO Ministerial Gathering: IMG) ซึ่งเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีกลุ่มเล็กที่มีผู้เข้าร่วมประมาณ 20-30 คน โดยประเทศเจ้าภาพจะคัดเลือกเฉพาะสมาชิก WTO ที่มีบทบาทสำคัญเท่านั้นมาเข้าร่วมประชุม จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะได้แสดงวิสัยทัศน์และบทบาทในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของ WTO เพื่อผลักดันประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อไทย เช่น การเจรจาการเกษตร ความตกลงการอุดหนุนประมง และการปฏิรูป WTO เป็นต้น

และในประชุม World Economic Forum (WEF) 2025 ในครั้งนี้ ตนจะเข้าร่วมการประชุมใน 4 Session สำคัญ ได้แก่ Multilat/ASEAN DEFA, Leaving Asia’s Comfort Zone, Trade and Investment Leadership Lunch และ Country Strategy Dialogue on Thailand หวังที่จะใช้โอกาสในการเดินทางปฏิบัติภารกิจครั้งนี้ หารือกับผู้กำหนดนโยบายของประเทศต่าง ๆ และนักธุรกิจจากองค์กรชั้นนำของโลก เพื่อปูทางขยายความสัมพันธ์ทางการค้าและดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เข้ามายังประเทศไทย เพื่อให้เป็นเครื่องยนต์สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าต่อไป

โดยปี 2567 (ม.ค. - พ.ย.) ไทยกับเอฟตา มีมูลค่าการค้ารวม 11,467.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 2.06 ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ร้อยละ 24.94 โดยไทยส่งออกไปเอฟตา 4,121.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากเอฟตา 7,345.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปเอฟตาได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ เหล็กและผลิตภัณฑ์ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องใช้สำหรับเดินทาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เครื่องสำอาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ข้าว สินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากเอฟตาได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ยากำจัดศัตรูพืช เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป เคมีภัณฑ์