นายโภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (พท.) ด้านนโยบายและแผนงาน กล่าวถึงการอภิปรายพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 รวม 4 ฉบับ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 27-31 พ.ค.นี้ ว่า แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง แต่เป็นเรื่องที่รัฐต้องเยียวยาทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง และเห็นด้วยที่รัฐบาลจะฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมถึงรักษาระบบการเงินการคลัง แต่การดำเนินการนั้นต้องทำอย่างเข้าใจ เข้าถึง ดังนั้นในฐานะฝ่ายค้านจึงต้องตรวจสอบทั้งในแง่ วิสัยทัศน์ แผนยุทธศาสตร์ ของรัฐบาล เพราะไม่รู้ว่าการใช้เงินจำนวนถึง 1.9 ล้านล้านบาทจะแก้ปัญหาให้กับประเทศได้หรือไม่
ส่วนการอภิปรายจะเน้นเกี่ยวการบริหารของรัฐในช่วงปลายเดือนธ.ค. 2562 จนถึงปัจจุบัน การบริหารของรัฐบาลก่อนเกิดโควิด-19 ที่มีความล้มเหลวจนเกิดการขาดดุลงบประมาณ มีผลต่อหนี้สาธารณะ จึงห่วงการใช้เงินจำนวนมาก เพราะเท่าที่เห็นเป็นการดำเนินการทางการเมืองมากกว่าการแก้ปัญหาให้กับประเทศ ตลอดจนแผนการเยียวยา การฟื้นฟูไม่เป็นรูปธรรม การอุ้มตราสารหนี้มีสิ่งผิดปกติ นอกจากนี้จะตรวจสอบข้อกฎหมายต่างๆว่ามีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
นายวัฒนา เมืองสุข กรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยระบุว่า ห่วงความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย เพราะจากการคาดการณ์ของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ พบว่า การส่งออกติดลบ 8 เปอร์เซ็นต์ การลงทุน การบริโภคภายในจะหดตัว การขับเคลื่อนภายในประเทศขณะนี้ขับเคลื่อนได้เฉพาะการลงทุนของภาครัฐ อาจเข้าสู่ภาวะการล้มละลายอย่างเต็มรูปแบบ และแผนการฟื้นฟูในพระราชกำหนดส่วนใหญ่เป็นรายการลงทุน ไม่มีการสร้างรายได้หรือสร้างกำลังซื้อ จึงอยากถามกลับไปถึงรัฐบาลว่าภาคส่วนไหนจะเป็นผู้ลงทุน เพราะขณะนี้ภายในประเทศยังขาดกำลังซื้อ และรัฐบาลจะดูแลคนตกงานได้อย่างไร ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน สร้างความชัดเจนให้กับประชาชน เพราะการที่รัฐบาลยังคงใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และไม่สามารถฟื้นฟูประเทศได้
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา กรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า เห็นข้อบกพร่องของพระราชกำหนด 3 ฉบับ โดยเฉพาะเนื้อหาสาระ ทั้งนี้หากสภาผ่านความเห็นชอบพระราชกำหนดทั้ง 3 ฉบับ พรรคเพื่อไทยจะขอเสนอพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.ก. โดยเฉพาะการดูแลเอสเอ็มอี รัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การฟื้นฟูต่างๆ และการสร้างกลไกการตรวจสอบการใช้เงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าการใช้เงินนั้นจะเกิดความโปร่งใสและไม่ทุจริต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง