สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนออกมาระบุถึงตัวเลขประชากรที่ลดลงในวันนี้ (17 ม.ค.) นับเป็นการเริ่มต้นของห้วงเวลาแห่งการลดลงของประชากรตามที่เคยมีการคาดการณ์เอาไว้ แม้จะมีความพยายามอย่างมากของรัฐบาลจีน ที่จะพลิกกลับแนวโน้มประชากรที่ลดลงดังกล่าว
ไช่ฟาง รองประธานคณะกรรมการการเกษตรและกิจการชนบทของสภาประชาชนแห่งชาติจีน กล่าวก่อนวันเปิดตัวข้อมูลว่า จำนวนประชากรจีนถึงจุดสูงสุดในปี 2565 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นที่เร็วกว่าที่คาดไว้มาก “ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรและเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า ภายในปี 2565 หรือไม่เกินปี 2566 ประเทศของชาติเราจะเข้าสู่ยุคของการเติบโตของประชากรติดลบ” ไช่กล่าว
เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่รัฐบาลจีนพยายามจะส่งเสริมให้ประชาชนมีลูกกันมากขึ้น และพยายามป้องกันวิกฤตทางประชากรที่กำลังเกิดขึ้นจากสังคมผู้สูงอายุ รัฐบาลจีนได้ออกนโยบายใหม่เพื่อพยายามแบ่งเบาภาระทางการเงินและทางสังคมในการเลี้ยงดูบุตร หรือเพื่อสร้างแรงจูงใจในการมีลูกผ่านการมอบเงินอุดหนุนและการลดหย่อนภาษี อย่างไรก็ดี หลังจากหลายทศวรรษของนโยบายลูกคนเดียวที่กีดกันไม่ให้ประชาชนมีลูกหลายคน และค่าครองชีพในปัจจุบันที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดแนวคิดการไม่อยากมีลูกในหมู่คู่รักของจีน
จากสถิติประชากรที่ลดลงของจีนกำลังจะทำให้จีนเองถูกอินเดียแซงหน้าการเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดของโลก ทั้งนี้ อัตราการเกิดในจีนเมื่อปีก่อนมีอยู่ที่ 6.77 ต่อจำนวนประชากร 1,000 คน ตกจากอัตราเดิมในปี 2664 ที่ 7.52 นับเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา โดยหากวัดจากตัวเลขจริงนั้น จีนมีตัวเลขการขึ้นทะเบียนเกิดของเด็กลดน้อยลงไปกว่าล้านคนในปี 2565 ซึ่งต่ำไปจากตัวเลขเดิมของปีก่อนหน้าที่ 10.62 ล้านคน
นอกจากอัตตราการเกิดที่ลดลงต่ำแล้ว จีนยังประสบกับตัวเลขอัตราการเสียชีวิตสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2519 โดยประชากรจีนมีอัตราการเสียชีวิต 7.37 ต่อประชากร 1,000 คน เทียบกับอัตราผู้เสียชีวิต 7.18 คนในปี 2564 ทั้งนี้ ไช่กล่าวว่านโยบายทางสังคมของจีนจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยน ซึ่งรวมถึงการดูแลผู้สูงอายุและเงินบำนาญ อันเป็นภาระทางการเงินของประเทศซึ่งจะเลวร้ายลงในอนาคต และส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนเอง
ในวันเดียวกัน รัฐบาลจีนยังได้ประกาศด้วยว่า GDP จีนเติบโตขึ้น 3% ในปี 2022 ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวนับเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจจีนเติบโตช้าที่สุดในรอบหลายทศวรรษ แต่ยังเป็นการเจริญเติบโตที่สูงกว่าการคาดการณ์เดิม อย่างไรก็ดี การแถลงดังกล่าวได้สร้างความสงสัยในหมู่นักวิเคราะห์ เนื่องจากข้อจำกัดของนโยบายโควิดเป็นศูนย์ที่เข้มงวดอย่างรุนแรงของรัฐบาลจีน ที่บังคับใช้ในช่วงไตรมาสที่ 4 ได้ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนอย่างหนัก
ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรกล่าวว่า นโยบายโควิดเป็นศูนย์ที่เข้มงวดของจีน ซึ่งถูกบังคับใช้มาเป็นเวลา 3 ปีก่อนที่จะมีการยกเลิกนโยบายอย่างกะทันหันเมื่อเดือน ธ.ค.ปีก่อน ซึ่งปัจจุบันกำลังทำให้จีนมีประชาชนเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจนล้นเกิน ได้สร้างความเสียหายเพิ่มต่อประชากรศาสตร์ที่ตกต่ำของจีนด้วย
อี้ฟูเซียน นักวิจัยสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน และผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงประชากรของจีน กล่าวว่า การลดลงของประชากรเกิดขึ้นเร็วกว่าที่รัฐบาลจีนและสหประชาชาติเคยคาดการณ์เอาไว้ถึงเกือบหนึ่งทศวรรษ “หมายความว่าวิกฤตด้านประชากรศาสตร์ที่แท้จริงของจีนนั้นอยู่เหนือจินตนาการ และนโยบายเศรษฐกิจ สังคม กลาโหม และการต่างประเทศที่ผ่านมาทั้งหมดของจีน ล้วนมีพื้นฐานมาจากข้อมูลประชากรที่ผิดพลาด” อี้กล่าวบนทวิตเตอร์
“แนวโน้มทางประชากรและเศรษฐกิจของจีนดูมืดมนกว่าที่คาดไว้มาก จีนจะต้องมีการหดตัวทางยุทธศาสตร์และปรับนโยบายทางสังคม เศรษฐกิจ กลาโหม และต่างประเทศ จีนจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับตะวันตก” อี้กล่าวเสริม
ที่มา: