ไม่พบผลการค้นหา
แม้หมดยุค คสช. ไปโดยสมบูรณ์แบบ หลัง ครม.ชุดใหม่ เข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน แต่กองทัพยังคงตกเป็นเป้านิ่งทางการเมือง

ประเดิมที่ ‘บิ๊กแดง’ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. มีการเผยแพร่ข้อความผ่านโซเชียลฯระบุว่า “การอภิปรายนายกฯ เหมือนขัดขาประเทศ หากใครคิดไม่หวังดี แล้วเกิดความวุ่นวาย ผมก็ต้องออกไป ทำงานเพื่อชาติ อย่าบังคับผม” ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ ย้ำว่าเป็นข่าวปลอมและไม่เคยพูด

“เป็นข่าวปลอมและไม่เคยพูดคำเหล่านี้เลย สื่อมวลชนที่ตามทำข่าวสัมภาษณ์ผม ก็รู้ดีว่าผมไม่เคยพูดแบบนี้ สื่อมวลชนอ่านดูก็รู้แล้วว่าเป็นข่าวปลอม ใครจะไปพูดแบบนี้ ผมเองก็งดที่จะให้สัมภาษณ์เรื่องการเมืองมาระยะหนึ่งแล้ว ตอนนี้หมดหน้าที่ของ คสช. แล้ว ผมก็ทำงานในฐานะ ผบ.ทบ. ในการดูแลพัฒนากองทัพ พัฒนากำลังพล การฝึกศึกษา การแก้ปัญหาภาคใต้ การปรับหลักสูตรการฝึกต่างๆ ทำกองทัพให้ทันสมัย มีงานมากมายที่ผมจะทำ ส่วนการอภิปรายนายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องในสภาฯ ที่มีมาทุกยุคทุกสมัย เป็นกระบวนการทางการเมืองในสภาฯ ตามระบอบประชาธิปไตย คงไม่มีใครห้ามใครได้ อย่าเอาผมเข้าไปเกี่ยวข้อง” พล.อ.อภิรัชต์ ระบุ

ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีกระแสข่าว ‘ปฏิวัติซ้ำ-รัฐประหารซ้อน’ ถูกปลุกขึ้นมา เพราะตั้งแต่ปลายปี 2561- ต้นปี 2562 ก็มีการปลุกมาเป็นระยะๆ

โดยจุดสำคัญครั้งหนึ่งอยู่ที่มีการเผยแพร่ราชกิจจานุเบกษาปลอม โดยอ้างว่า ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีขณะเป็นหัวหน้า คสช. จะใช้อำนาจ มาตรา 44 ปลด 3 ผบ.เหล่าทัพ ประกอบด้วย พล.อ.อภิรัชต์ ‘บิ๊กลือ’พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร. ‘บิ๊กต่าย’พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผบ.ทอ. ทำให้มีการตีความไป 2 มุม ได้แก่ การเสี้ยมให้เกิดรอยร้าวระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ อีกมุมมีการมองว่าเป็นการปรามกองทัพหรือไม่

จากนั้นทั้ง พล.อ.อประยุทธ์ และ พล.อ.อภิรัชต์ ที่อยู่ระหว่างการตรวจฝึกป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแบบบูรณาการ IDMEX 2019 ที่กองพลรบพิเศษที่ 1 และ ร.ร.สงครามพิเศษ จ.ลพบุรี ก็แสดงถึงความเป็นปึกแผ่นให้สื่อได้เห็น

“มีอะไร ถามแดงสิ ลือเรื่องไร้สาระทั้งนั้น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

“นี่ไง มาเจอ นายกฯแล้วไง จะมีอะไรล่ะ” พล.อ.อภิรัชต์ กล่าว

อภิรัชต์

ย้อนกลับไปช่วง ม.ค. 2561 ที่มีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง พล.อ.อภิรัชต์ ได้ย้ำเรื่อง ‘อย่าล้ำเส้น’ หลัง คสช.ปลดล็อกทางการเมือง ปูทางสู่การเลือกตั้ง ว่า “เมื่อท่านมาขีดเส้นไว้ว่าคนนั้นต้องทำอย่างนั้น ท่านก็ต้องขีดเส้นตัวเองด้วย ไม่ใช่มาขีดเส้นให้คนโน้น คนนี้เดินอย่างเดียว เอาเส้นขาวหรือเส้นอะไรมาวางให้เขาเดิน ท่านก็ต้องขีดเส้นที่ตัวท่าน อย่ามาล้ำเส้นกัน ฝ่ายการเมืองก็เดินไป ฝ่ายความมั่นคงทำงานไป ก็จะเป็นระบบสอดคล้องกัน”

รวมทั้งเมื่อเวลามีการขนย้ายยุทโธปกรณ์บนถนนเพื่อไปใช้ในการฝึก ก็จะมีการแชร์คลิปลงโซเชียลฯ ทำให้เกิดความแตกตื่น จนทาง ทบ. มีนโยบายให้แต่ละหน่วยแจ้งการขนย้ายยุทโธปกรณ์และกำลังพลที่ชัดเจน ใช้ในภารกิจใด มีต้นทางและปลายทางที่ใด และช่วงวันใดบ้าง เพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบ พร้อมทั้งติดป้าย “เพื่อการฝึก” ที่ขบวนขนย้าย

ด้วยสถานการณ์การเมืองที่แกว่งตลอดปีที่ผ่านมา ทำให้มีการจับตาความเคลื่อนไหวในกองทัพเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบทบาท พล.อ.อภิรัชต์ ที่เปิดหน้าชัดเจนทางการเมืองทั้งปรากฏการณ์เพลงหนักแผ่นดิน ที่ซัดพรรคเพื่อไทยที่หาเสียงปฏิรูปกองทัพ ตัดงบกลาโหมและยกเลิกการเกณฑ์ทหาร โดยในช่วงเวลาน��้นมีการหาเสียงจากพรรคขั้วต้าน คสช. ที่โจมตีกองทัพอย่างหนัก

นำมาสู่ปรากฏการณ์นำผู้บังคับหน่วยระดับกองพัน ผู้บังคับการกรม ผู้บัญชาการกองพล ผู้บัญชาการมณฑลทหารบก ทั่วประเทศ กว่า 796 นาย หรือ ผบ.หน่วยคุมกำลัง ทำการกล่าวคำปฏิญาณตนหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่5 ใน บก.ทบ.ราชดำเนิน จุดเริ่มต้น ร.ร.นายร้อย จปร. สถานที่ประวัติศาสตร์ของ ทบ.

รวมทั้งกรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ได้ต่อว่า พ.ท.ปกิจ ผลฟัก ในฐานะผู้บังคับกองร้อยรักษาความสงบ กกล.รส.ปราจีนบุรี สังกัด มทบ.12 จ.ปราจีนบุรี ที่ได้ไปติดตาม พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ขณะลงพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี ทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ สั่งการให้ คสช. แจ้งความกรณีดูหมิ่นเจ้าพนักงาน

นอกจากนี้ พล.อ.อภิรัชต์ ยังได้จัดพิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ เพื่อให้กำลังใจ พ.ท.ปกิจ ก่อนการประชุมหน่วยขึ้นตรง ทบ. วาระพิเศษด้วย โดยยกย่องว่าเป็น ตัวอย่างของการอดทนอดกลั้นต่อการถูกต่อว่ายั่วยุต่างๆ ควบคุมอารมณ์ได้ ขอให้ผู้บังคับบัญชาชี้แจงให้ผู้ใต้บังคับบัญชา เรามีสมบัติผู้ดี ถูกฝึกอบรมสั่งสอนมา เราเป็นหนึ่งเดียวกัน อยู่ในเบ้าหลอมเดียวกัน

อีกทั้งเคยให้เจ้าหน้าที่ฟ้องหมิ่นประมาท พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ในนามส่วนตัวกรณีวิจารณ์เครื่องหมายทหารบนเครื่องแบบของตนกับสื่อแห่งหนึ่ง

จากนั้นตามมาด้วยวาทะ ‘ซ้ายจัด ดัดจริต’ แม้ไม่ได้ระบุเจาะจงไปที่พรรคใด แต่ก็ถูกมองว่าต้องการสื่อสารไปยังพรรคอนาคตใหม่ ทั้งหมดนี้จึงเป็นการตอกย้ำภาพ พล.อ.อภิรัชต์ กับพรรคการเมืองขั้วต้าน คสช. ได้เป็นอย่างดี ที่ทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ ถูกจับตามาโดยตลอด แม้จะพยายามลดบทบาทผ่านหน้าสื่อลงไปก็ตาม

ล่าสุด พล.อ.อภิรัชต์ ได้ส่งเพลง ‘กิเลสมนุษย์’ ให้ทีมงานที่ ทบ. ฟัง โดยมีรายงานว่า พล.อ.อภิรัชต์ ระบุว่า แม้จะย้อนยุค แต่อาจเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้มีการโยงถึงเรื่องทางการเมืองทันที โดยในขณะนั้นกำลังจัดตั้งรัฐบาล ที่ใช้ระยะเวลานานนับเดือน ท่ามกลางการแย่งเก้าอี้รัฐมนตรีและความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐที่ พล.อ.ประยุทธ์ ถึงกับต้องออกสารนายกฯออกมาขอโทษประชาชน แม้สื่อจะพยายามถาม พล.อ.อภิรัชต์ ถึงที่มาเพลงนี้ แต่ก็ พล.อ.อภิรัชต์ ก็พยายามหลีกเลี่ยงการตอบคำถามการเมือง

อภิรัชต์

ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่สะท้อนว่า เพียง พล.อ.อภิรัชต์ ขยับเล็กน้อย ก็เป็นกระแสทันที แม้จะไม่ขยับใดๆก็มีการปล่อยข่าวปลอมออกมา เป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่า พล.อ.อภิรัชต์ อยู่ในข่าย ‘ตำบลกระสุนตก’ เปรียบเหมือนกับ พล.อ.ประวิตร ที่โดนมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

ในส่วน ผบ.เหล่าทัพคนอื่นๆ ก็มุ่งหน้าทำงานในกองทัพเป็นหลัก งดการตอบคำถามเรื่องการเมือง เช่น ‘บิ๊กกบ’พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผบ.ทหารสูงสุด ก็งดการนำเรียงแถว ผบ.เหล่าทัพ แถลงข่าวหลังประชุม ผบ.เหล่าทัพ มาแล้วหลายครั้ง ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีการแถลงข่าวภายหลังการประชุมทุกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงการตอบคำถามเรื่องการเมือง

สถานการณ์ภายในกองทัพ ผบ.เหล่าทัพ ชุดปัจจุบัน ตท.18-20 มีความเป็นปึกแผ่นอย่างมาก โดยได้ผ่านการฝึกหลักสูตรนายทหารราชองครักษ์ ผลักที่ 1 มาเป็นเวลา 2 สัปดาห์ร่วมกัน อีกทั้งที่ผ่านมา พล.อ.พรพิพัฒน์ ได้รื้อฟื้นการประชุมผู้บัญชาการทหารกลับมาอีกครั้ง โดยจัดประชุมก่อนการประชุม ผบ.เหล่าทัพ ทุกครั้ง และได้เชิญ ‘บิ๊กณัฐ’พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกลาโหม ในฐานะที่ปรึกษาคณะผู้บัญชาการทางทหาร ร่วมประชุมด้วย และมี ‘บิ๊กนะ’พล.อ.วันชนะ นาคเกิด เสธ.ทบ. ร่วมวงประชุม

ซึ่ง ผบ.เหล่าทัพ ชุดนี้มีเพียง พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ผบ.ทอ. ที่เกษียณฯปี62 ส่วน ผบ.เหล่าทัพที่เหลือเกษียณฯปี63 ยกเว้น พล.อ.ณัฐ ปลัดกลาโหม ที่จะเกษียณฯปี64 ซึ่งทั้งหมดนี้ยังเป็น 6 ส.ว. โดยตำแหน่ง โดยที่ผ่านก็พร้อมใจรับรองชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็น นายกฯ ทั้งหมด

อภิรัชต์ กองทัพ ทหาร เหล่าทัพ G83A9932.JPG

แม้วันนี้บทบาท คสช. ได้สิ้นสุดไปแล้ว ทำให้ทหารและกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) กลับเข้าค่ายเช่นเดิม เท่ากับว่าภารกิจแรกของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้จบไปแล้ว เริ่มภารกิจการเป็น นายกฯควบ รมว.กลาโหม ในรัฐบาลปกติ ที่ไม่มีอำนาจพิเศษอีกแล้ว ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ก็รู้ถึงสภาวะเช่นนี้ดี จึงได้กล่าวผ่านสารอำลาตำแหน่ง หัวหน้า คสช. เมื่อ 15ก.ค.ที่ผ่านมา พร้อมย้ำถึงหลักชัยของรัฐบาล คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้กล่าวว่าตนเอง ‘มีความสุข’ อย่างมี ‘นัยยะสำคัญ’ หลายครั้ง

“ปัญหาทุกอย่างจะได้รับการแก้ไขตามกฎเกณฑ์ปกติในระบอบประชาธิปไตยโดยไม่มีอำนาจพิเศษใดๆอีกต่อไป” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

“สิ่งที่ คสช. รัฐบาล และ สนช. ได้ดำเนินการสอดประสานกันในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมานั้น หลายเรื่องน่าจะเป็นรากฐานให้รัฐบาลใหม่ ซึ่งจะเป็นรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเป็นรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ของประชาชนชาวไทยทุกคน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ประยุทธ์ ทหาร สวนสนาม 20190214202131000000.jpg

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ เตรียมตรวจเยี่ยมกระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพในฐานะ รมว.กลาโหมด้วย จากอำนาจคุมกองทัพในมือ หัวหน้า คสช. มาสู่ รมว.กลาโหม ในสภาวะที่ ‘ดุลอำนาจ-โครงสร้างในกองทัพ’ เปลี่ยนไป โดยไม่ได้มีอำนาจเต็มใบเช่นเดิมและมีสิ่งเหนือการควบคุมด้วย

ส่วนจุดยืนของเหล่าทัพในเวลานี้ พล.อ.พรพิพัฒน์ ได้ให้ทีมโฆษกแถลงข่าวแทน โดยได้ย้ำต่อที่ประชุม ผบ.เหล่าทัพ ว่า กองทัพเป็นเครื่องมือของรัฐบาล และมีจุดยืนเดิมคือการปกป้องสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน พร้อมขอให้กำลังพลรอคอยดูแนวทางและเป็นกำลังใจสนับสนุนการทำงานรัฐบาลเพราะเพิ่งจะเริ่มต้นทำงาน

จึงต้องจับตาบทบาทกองทัพในระยะยาวต่อไป แต่ในเวลานี้ที่สภาพวะทางการเมืองนิ่งขึ้น เป็นช่วง ‘ฮันนีมูน’ ของรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังเริ่มต้นการทำงาน ก็ทำให้บทบาทกองทัพในเรื่องการเมืองลดลงเช่นกัน หลัง คสช. ปิดฉากไปแล้ว

ด้วยท่าทีของ ผบ.เหล่าทัพ ที่งดการออกความเป็นทางการเมือง รวมทั้งการมุ่งทำงานในกองทัพมากขึ้น เพื่อสร้าง ‘ทหารอาชีพ’ ในยุคสมัยใหม่ ที่ทำภารกิจในกองทัพอยู่เดิม สร้างกำลังพลที่สมาร์ททั้งกายใจ และเพิ่มเติมงานจิตอาสาช่วยเหลือประชาชนมากขึ้น

การจะเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆในอนาคต จึงมีปัจจัยและเงื่อนไขที่ไม่เหมือนในอดีตอีกแล้ว ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog