วันที่ 12 ก.ย. ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 6 เป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญ เป็นวันที่ 2 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย โดยมี พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุมขณะนั้น
จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงข้อซักถามของเพื่อนสมาชิก แต่มีความเข้าใจผิดของเพื่อนสมาชิกบางส่วน ที่พยายามเชื่อมโยงไปที่นโยบายของพรรคการเมืองที่ใช้ในการหาเสียง ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะเป็นกระบวนการในการอธิบายของเพื่อนสมาชิก แต่ตามที่นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า รัฐบาลร่วมมี 11 พรรคการเมือง อยากให้การอภิปรายพาดพิงแยกให้ออกระหว่างนโยบายของรัฐบาล และนโยบายของพรรคแต่ละพรรค
ขณะที่เรื่องการพักหนี้เกษตร นายกรัฐมนตรีเน้นถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาหนี้ และรัฐบาลได้เตรียมการณ์ล่วงหน้าไปมากแล้ว เชื่อมั่นว่าภายในไตรมาสนี้สามารถทำสำเร็จ แต่นโยบายดังกล่าวผ่านการแก้ไขโดยรัฐบาลมาแล้ว 13 ครั้ง ก็ไม่สามารถหาทางออกให้พี่น้องเกษตรกรได้ แต่ในครั้งนี้ ด้วยสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจที่ตึงมือ หนี้อยู่ในระดับสูง การพักหนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต่อชีวิตเกษตรกร
หลังการพักหนี้ จะมีอีกหลายโครงการของรัฐที่จะจูงใจให้เกษตรกรลดภาระเงินต้นได้ บริหารจัดการหนี้ชัดเจร ส่งเสริมการเพิ่มรายได้ เพิ่มผลผลิต ตามแนวนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องใช้ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ พร้อมด้วยแนวทางการค้า FTA กับหลายประเทศ ส่วนสถานการณ์ เอลนีโญ รัฐบาลมองเป็นโอกาส เพราะจะนำมาสู่ความขาดแคลนอาหารในโลก หากภาคการเกษตรของไทยเข้มแข็ง ก็จะสามารถกลับมาเป็นครัวของโลกได้
“เราต้องการทำให้พี่น้องเกษตรกรสามารถกลับมาเป็นฟันเพืองทางเศรษฐกิจได้อย่างแข็งแกร่ง เต็มภาคภูมิ สามารถมีรายได้พอเลี้ยงปากเลี้ยง เลี้ยงครอบครัว ได้อย่างมีศักดิ์ศรีอีกครั้งหนึ่ง นี่คือความตั้งหวังของรัฐบาลชุดนี้”
ไม่ใช่เพียงพักหนี้เกษตรกร แต่ยังมีแผนงานรองรับหนี้ในภาค SMEs หนี้ในสหกรณ์ ราชการ เช่น ครู ตำรวจ ฯลฯ ที่รัฐบาลต้องช่วยปรับแก้โครงสร้าง โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ ต้องนำกลับเข้าสู่ระบบ โดยมั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ประชาชนกลับมาดำเนินชีวิตได้สะดวกและดีกว่าที่เป็นอยู่
ในประเด็นของ ‘สวัสดิการโดยรัฐ’ รัฐบาลคำนึงถึงภาระของงบประมาณ ทั้งผ่านโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค วัคซีนฟรี ซึ่งจะลงไปยังพี่น้องประชาชนหลายภาคส่วน โดยเฉพาะส่วนที่มีความจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ ไปจนถึงการปรับแก้กฎหมาย ปรับรัฐที่เป็นอุปสรรคเป็นรัฐที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ
“แต่ที่สำคัญ ผมอยากจะฝากเพื่อนสมาชิกทุกท่าน เราต้องอยู่กับความเป็นจริง เราต้องตื่นจากความฝัน และอยู่กับความเป็นจริง สถานการณ์ของประเทศไทยเวลานี้ เราก็รู้ว่าเรื่องของโครงสร้างงบประมาณ อัตรารายได้ต่อ GDP ต่อประชากรของไทย ต่ำกว่าประเทศซึ่งทำสวัสดิการถ้วนหน้ามาก เช่น สวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ โครงสร้างทางเศรษฐกิจเขามีความแตกต่างจากเราอย่างมหาศาล”
ขณะนี้ประเทศไทย ยังไม่มีรายได้จากการเก็บภาษีอยู่ในจุดที่ทำสวัสดิการถ้วนหน้าได้จริงๆ แม้เพื่อนสมาชิกที่อภิปราย ก็เคยร่วมกันเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลกันมาในระยะหนึ่ง เราก็รับทราบกันดีว่าข้อจำกัดคือประเทศไทยยังไม่มีงบประมาณมากเพียงพอสำหรับสวัสดิการถ้วนหน้า ขณะนี้ประเทศไทยต้องสร้างเค้กที่ใหญ่ขึ้น ให้รัฐจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น เพื่อนำไปทำสวัสดิการถ้วนหน้า
“รัฐบาลเศรษฐามีความตั้งใจทำสวัสดิการโดยรัฐให้ประชาชน ในระดับที่เหมาะสมและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามกรอบการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ผมขอถามกลับสมาชิกว่า ถ้าต้องการให้ทำสวัสดิการถ้วนหน้า ท่านคาดว่ารัฐบาลจะเอาแหล่งงบประมาณมาจากไหน ต้องผูกพันงบประมาณในระยะยาวเท่าใด กับโครงสร้างประเทศไทยที่กำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัย สุดท้ายภาระที่ประเทศต้องแบกรับในอนาคตมีเท่าไหร่”
“ตัวเลขเหล่านี้ทุกท่านมีอยู่ในใจ และทุกคนรู้ว่ามันเป็นภาระที่หนักหน่วง และจะกระทบกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ หรือท่านจะเอาเงินมาจากการขายทรัพย์สินของรัฐ มาทำสวัสดิการถ้วนหน้าอย่างนั้นหรือ หรือต้องขายกองทุนวายุภักดิ์อย่างที่ท่านว่า จะยืมกองทุนหมุนเวียน จะกู้แบงค์รัฐ แต่รัฐบาลเราตระหนักในวินัยการเงินการคลัง เราคงทำเช่นนั้นไม่ได้ แต่เราจะสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จนเราสามารถไปสู่จุดที่เราจะทำสวัสดิการถ้วนหน้าให้ประชาชนคนไทยให้ได้
ทำให้ ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ใช้สิทธิพาดพิง โดยถามกลับว่า ที่ไม่สามารถทำสวัสดิการถ้วนหน้าที่เคยมีอยู่แล้ว ให้กลายเป็นสวัสดิการเฉพาะกลุ่ม แปลว่า เบี้ยผู้สูงอายุ เงินอุดหนุนเด็กเล็ก ที่น้อยมากอยู่แล้ว จะไม่มีเลยหรือไม่ มองว่า เงินในการดูแลสองกลุ่มนี้ ไม่ใช่จำนวนเงินที่มากเท่าไหร่
จุลพันธ์ ลุกขึ้นชี้แจงอีกครั้งว่า ที่แล้วมาส่วนตัวก็ไม่ได้ตั้งใจพาดพิงให้เกิดความเสียหาย และที่สมาชิกตั้งคำถามเมื่อครู่ ก็ยังยืนยันเช่นเดิมว่าทางรัฐบาลเดินสวัสดิการโดยรัฐตามกรอบที่ระยะเวลาเหมาะสม แต่หากจะตั้งต้นด้วยการมีสวัสดิการถ้วนหน้าในเวลานี้ เชื่อว่าทุกคนเข้าใจตรงกันว่า ด้วยภาระของรัฐบาลในปัจจุบัน อาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้ในเวลาอันใกล้ โดยเฉพาะสังคมสูงวัยที่กำลังจะมาถึง