[นิทัศน์ฯ ตอนที่แล้ว เราได้พาทุกคนไปดูว่า พรรคชาติพัฒนา ว่า มีที่มา มีอยู่ และที่ไปอย่างไร (ใครที่ตามมาไม่ทัน ตามลิงก์นี้ไปอ่านตอนแรกกันก่อนนะ : ) ]
ปี 2533 พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารบก ตามที่เคยกล่าวไว้จะ จะลาออกก่อนเกษียณอายุราชการ และตัดสินใจ ที่จะลงเล่นการเมืองในนาม “พรรคความหวังใหม่” โดยชื่อของพรรคนั้น มาจากแนวความคิดของ นพ.สมศักดิ์ วรคามิน ส.ส.อุดรธานี และ “ตราดอกทานตะวัน” ก็มาจาก มติ ตั้งพานิช สถาปนิกชื่อดัง เป็นคนออกแบบ
พรรคฯ ลงสนามการเมืองครั้งแรก ในการเลือกตั้ง เดือนมีนาคม 2535 (การเลือกตั้ง 2535/1) และสามารถโกยที่ที่นั่งในสภาถึง 72 ที่นั่ง เป็นรองแค่ พรรคสามัคคีธรรม (79 ที่นั่ง) และ พรรคชาติไทย (74 ที่นั่ง) เท่านั้นเอง โดยภูมิภาคที่ได้รับเลือกมากที่สุดคือ ภาคอีสาน ที่ได้ถึง 40 ที่นั่ง มากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนั้น!
ลาออกไปตั้งความหวังใหม่!?
(ซ้าย- อันจดแจ้ง, ขวา - แก้ไขใหม่)
ปลายปี 2533 พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศลาออกจากตำแหน่งทางทหารทั้งหมด ตามที่เคยให้คำพูดไว้ว่า จะลาออกก่อนเกษียณอายุราชการ เพื่อเปิดทางให้ “ทหารรุ่นน้องได้มีโอกาสก้าวหน้า” แต่ในความเป็นจริง “บิ๊กจิ๋ว” ผู้นี้มีความสนใจทางการเมืองมานานมากแล้ว
แล้ว...จะไปพรรคไหน? หรือ จะตั้งพรรคเอง?
11 ตุลาคม 2533 พรรคความหวังใหม่ ก่อตั้งขึ้น โดยมี วีระ สุวรรณกูล (ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับ เกษม สุวรรณกุล รมต.ทบวงมหาวิทยาลัยหลายสมัย) เป็นหัวหน้าพรรค....
ต่อมาเมื่อมีการประชุมของพรรคครั้งแรกพรรค ในอีกห้าถัดมา (16 ตุลาคม 2533) ก็ได้มีการลงมติเลือก พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคความหวังใหม่...
เส้นทางทางการเมืองแบบเต็มตัวของบิ๊กจิ๋วได้เริ่มขึ้นแล้ว!
ประกาศเจตนารมณ์! และลงสนาม
8 กรกฎาคม 2534 พรรคจัดงานประชุมใหญ่ โดยใช้ชื่อว่า “วันแห่งความหวังใหม่” โดยในวันนั้นเอง พรรคประกาศจุดยืน 3 ข้อ ในการดำเนินงานทางการเมือง ที่ว่า
ซึ่งเจตนารมณ์ 3 ข้อในวันนั้น ถือว่าเป็นการเปิดเผยว่า “พร้อมชน” กับ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ โดยเฉพาะ พลเอก สุจินดา คราประยูร ซึ่งเป็นทั้ง “รุ่นน้อง จปร.” และ “ผู้บัญชาการทหารบก” ต่อจาก พลเอก ชวลิต….
ในการเลือกตั้ง วันที่ 22 มีนาคม 2535 พรรคความหวังใหม่ ได้รับเลือกตั้งเข้าสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 72 ที่นั่ง จาก 360 ที่นั่ง โดยที่ ได้รับเลือกตั้งมากที่สุดในภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพรรคความหวังใหม่ ได้ที่นั่งถึง 40 ที่นั่ง ซึ่งมากที่สุดของภาค ในการเลือกตั้งครั้งนั้น ด้านตัว พลเอก ชวลิต ซึ่งลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรก ในเขต 1 จังหวัดนนทบุรี โดย ลงสมัครคู่กับ ดร.สุกิจ จุลละนันทน์ อดีดผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี แต่ในครั้งนั้น มีพลเอก ชวลิตเพียงคนเดียว ที่ได้รับเลือกตั้งในจังหวัด (โดยได้รับเลือกตั้งคู่กับ พิมพา จันทร์ประสงค์ ของพรรคพลังธรรม)
เป็นที่น่าสนใจว่า พรรคการเมืองตั้งใหม่ อย่างพรรคความหวังใหม่ ถึงได้รับความนิยมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (และอาจจะรวมไปถึง ในพื้นที่ชายแดนใต้)?
คำถามข้อนี้ เราก็คงต้องดูผลงานของ พลเอก ชวลิต ครั้งเมื่อยังเป็นผู้บัญชาการทหารบก..
โครงการน้ำพระทัยจากในหลวง (หรืออีกชื่อหนึ่ง - โครงกา���อีสานเขียว) ที่ช่วยแก้ปัญหาการขาดแขลนน้ำ ของเกษตรกรในภาคอีสาน และ โครงการฮารับปันบารู (โครงการทักษิณพัฒนา) ที่ช่วยลดความไม่สงบในบริเวณ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในช่วงปี 2532 คือแนวนโยบายที่พรรคนำมาใช้หาเสียง….
อาจจะรวมไปถึง “พลังครูอีสาน” ที่นำโดย ชิงชัย มงคลธรรม อดีต ส.ส. จากพรรคธรรมสังคม ปี 2522 ที่ลงสมัคร ส.ส. อีกครั้ง ในนามพรรค และเป็นแรงผลักดันที่สำคัญ ในการนำฐานเสียงคนอีสานให้ พรรค ได้รับชัยชนะในภูมิภาคนี้ รวมไปพลังจาก “กลุ่มวาดาห์” ที่แยกตัวออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์ มาเข้าร่วมกับพรรค โดยในพื้นที่ภาคใต้ พรรคความหวังใหม่ได้ที่นั่งทั้งหมด 12 ที่นั่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ พรรคได้ถึงถึง 10 ที่นั่ง โดยบางจังหวัดอย่าง ยะลา เป็นการชนะแบบ ยกจังหวัดอีกด้วย
เป็น “พรรคเทพ”
หลังจากการเลือกตั้ง ผ่านไปเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาล สถานะของพรรคในเวลานั้น คือการเป็นฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร โดยร่วมกับพรรคอย่าง พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังธรรม และ พรรคเอกภาพ ในการคัดค้านการสืบทอดอำนาจ ของ รสช. และ การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ พลเอก สุจินดา คราประยูร ซึ่งต่อมา สื่อมวลชนเรียกกลุ่มพรรคฝ่ายค้านนี้ว่า “พรรคเทพ” โดยที่พลเอก ชวลิต และสมาชิกพรรค ได้ร่วมชุมนุมประท้วงรัฐบาลด้วย
แกนนำพรรคในขณะนั้นอย่าง พลเอก ชวลิต, พิศาล มูลศาสตรสาทร, น.ต. ประสงค์ สุ่นศิริ, จาตุรนต์ ฉายแสง เข้าร่วมการชุมนุมต่อต้าน รสช.
เลือกตั้งอีกหน
13 กันยายน 2535 สี่เดือนกว่าๆ หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ มีการเลือกตั้งอีกครั้ง (เลือกตั้ง 2535/2) พรรคความหวังใหม่ ลงเลือกตั้งในครั้งนี้ ได้ชูสโลแกนว่า “นายกฯภาคอีสาน” โดยชูความโดดเด่นของ พลเอก ชวลิต เพราะความนิยมของพรรคในภาคอีสาน ถือว่าได้รับกระแสตอบรับดีมาก แต่ในการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคได้ที่นั่งลดลง คือ ได้เพียง 51 ที่นั่ง (ภายหลังมีการเลือกตั้งซ่อม พรรคได้ที่นั่งเพิ่มอีก 2 ที่นั่ง จึงมี 53 ที่นั่งในสภา) แต่ก็เพียงพอ และได้เข้าร่วมรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่นำโดย ชวน หลีกภัย ในปี 2535 นั่นเอง โดยที่สมาชิกพรรคหลายๆ คน ได้รับตำแหน่งอาทิ พลเอก ชวลิต, สุขวิช รังสิตพล, และ อำนวย วีรวรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรี โดยพลเอก ชวลิต ควบตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พิศาล มูลศาสตรสาทร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นต้น
ต่อมามีความขัดแย้งกันเอง ในรัฐบาล ในกรณีที่ รัฐบาลเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในส่วนที่เกี่ยวกับ องค์การปกครองท้องถิ่น นี่จึงเป็นชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้ พลเอก ชวลิต ประกาศนำพรรคถอนตัวออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ในเดือนธันวาคม 2537 ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นเชื้อไฟที่ทำให้เกิดการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล ชวน 1…..
แต่นายกฯ ชวน ก็ชิงยุบสภาไปเสียก่อน เพียงไม่กี่ชั่วโมง….
ผลิดอกออกใบ-เร่งโต?
ในการเลือกตั้ง ปี 2538 พรรค ได้จำนวนที่นั่งเป็นอันดับสาม (57 ที่นั่ง) โดยเป็นรอง พรรคชาติไทย (92 ที่นั่ง) และ พรรคประชาธิปัตย์ (86 ที่นั่ง) ในครั้งนั้น พรรคได้เข้าร่วมกับ พรรคชาติไทยในการเป็นรัฐบาลผสม
แต่เพราะความบาดหมางระหว่าง เสนาะ เทียนทอง เลขาธิการพรรคชาติไทยในเวลานั้น กับ บรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค ทำให้กลายเป็นเกมการเมืองที่สำคัญ จนนำไปสู่การยุบสภา…
พร้อมๆ กับ ทานตะวันที่พร้อมจะเฉิดฉาย….(หรือเปล่า?)
ก่อนหน้าการเลือกตั้ง 2539 เสนาะ เทียนทอง ประกาศลาออกจากพรรคชาติไทย และ ได้เข้าร่วมกับพรรคความหวังใหม่…
ซึ่งไม่ใช่แค่ เสนาะ คนเดียว แต่รวมถึง อีก 35 คนที่ย้ายออกจากพรรคชาติไทยตามกันมา!ทั้งยังมีสมาชิกจาก พรรคนำไทย ที่ยุบไป นำโดย อำนวย วีรวรรณ และ พล.ต. ศรชัย มนตรีวัติ อีกกว่าสิบกว่าคน…
จึงไม่แปลกใจเลยว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2539 พรรคความหวังใหม่ สามารถเอาชนะ คู่แข่งอย่างพรรคประชาธิปัตย์ไปได้ ถึง 125 ที่นั่งในสภาฯ และ ในกรุงเทพฯ เอง พรรคยังได้ที่นั่งในเขต 13 (มีนบุรี, หนองจอก, ลาดกระบัง) จาก สุขวิช รังสิตพล ภายหลัง เมื่อ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง ได้รวมพรรคมวลชน เข้ากับพรรคความหวังใหม่ ทำให้กลายเป็น 2 ที่นั่งในกรุงเทพมหานคร
ส่วนในภาคอื่นๆ นั้น พรรคได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคอีสานที่รอบนี้ พลเอก ชวลิต ลงสมัครรับเลือกตั้งที่ จ.นครพนม ด้วยตัวเอง และได้รับเลือกตามคาด
25 พฤศจิกายน 2539 พลเอก ชวลิตได้การแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมกับรัฐนาวา และ ปัญหาเศรษฐกิจที่ค่อยๆก่อตัวมาก่อนหน้านี้ คล้ายจะทำให้ ทานตะวันดอกนี้ ไม่เฉิดฉายอย่างที่ควรจะเป็น…
ทานตะวัน ที่ไม่เฉิดฉาย
รัฐบาลความหวังใหม่ บริหารประเทศ 7 เดือนเศษ พร้อมกับปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้า จนน่าจะพูดได้เต็มปากว่า “วินาศสันตะโร” ไปหมดแล้ว โดยที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลความหวังใหม่ตั้ง อำนวย วีรวรรณ เป็รองนายกรัฐมนตรี ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่เนื่องด้วยปัญหาการเมืองภายในรัฐบาล จึงตัดสินใจ “ลาออก” เมื่อเดือนมิถุนายน 2540
“ดรีมทีมเศรษฐกิจ” ที่เคยฝันกันว่าดี มาถึงทางตัน….
การแต่งตั้ง ทนง พิทยะ นายธนาคารจากธนาคารทหารไทย มารับเผือกร้อนแทน อำนวย วีรวรรณ คือทางออกที่ดีของรัฐบาล?
เสียงเรียกร้องจากใครบางคนอย่าง วีรพงษ์ รามางกูร, อัมมาร สยามวาลา เสนอให้รัฐบาล “ลอยตัวค่าเงินบาท” แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น นายกฯ ชวลิต ยังมั่นใจว่า “เอาอยู่”
แต่การโจมตีค่าเงินบาทไทย ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และ ธนาคารแห่งประเทศไทยเลือกที่จะใช้ทุนสำรองปกป้องค่าเงินบาท ทว่า กลับกลายเป็นกับดัก ที่ทำให้การโจมตีค่าเงินบาท ค่อยๆตีขนาบข้างขึ้นเรื่อยๆ
ถ้าตามตำราพิไชยสงคราม คงจะพูดได้ว่า “ข้าศึกจ่อประชิดพระนครเสียแล้ว”
สุดท้าย ธนาคารแห่งประเทศไทย ในเวลานั้น ยื่น “ทางสองแพร่ง” ให้รัฐบาลตัดสินใจคือ “ลอยตัวแบบมีเพดาน” กับ “ลอยตัวค่าเงิน”....
ซึ่ง ทนง ในฐานะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เลือกอย่างหลัง!
2 กรกฎาคม 2540 ภายหลังจาก การเซ็นประกาศลอยตัวค่าเงินบาท นี่จึงกลายเป็นมรสุมลูกใหญ่ที่สุดที่ทำให้ “ดอกทานตะวัน” ดอกนี้ เหี่ยวเฉา และ ไม่เฉิดฉาย!
วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง 2540 โดนกระแสมวลชน ชนชั้นกลางออกมาชุมนุมขับไล่ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน!
จนสุดท้าย รัฐบาลจึงตัดสินใจ ขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อผยุงเศรษฐกิจไทย ไม่ให้ช้ำไปกว่านี้!
แต่เพราะปัญหาเศรษฐกิจ บานปลายไปถึงเสถียรภาพทางการเมือง พรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคชาติพัฒนา เลือกที่จะโดดเดี่ยวรัฐบาล จากการลาออกของ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ จากการเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลในเวลานั้น นอกเหนือนี้ การที่รัฐบาล และ พรรค อยู่ฝั่ง ”ไม่เอา” รัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้ศึกในครานั้น โดนขนาบข้างทั้งปัญหาเศรษฐกิจที่มีอยู่แต่เดิม และ สถานการณ์ทางการเมืองจากจุดยืนของพรรค….
แต่สุดท้าย วันที่ 5 กันยายน 2540 รัฐบาล และ แกนนำพรรคร่วม ประกาศลงมติ “รับร่างรัฐธรรมนูญ” 2540 และโปรดเกล้า ในอีกไม่กี่เดือนต่อมา
แต่ว่า อะไรๆ ในตอนนี้ดูจะช้าไปเสียแล้ว?
6 พฤศจิกายน 2540 พลเอก ชวลิต กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
“ทานตะวัน” ที่ตั้งใจจะเฉิดฉาย จึงเหี่ยวลงแบบไม่ต้องคิด….
สู่จุดที่ไม่เคยเข้าใกล้อีกเลย
ถึงแม้พรรครัฐบาลเดิม จะพยายามรวบรวมเสียง (อีกครั้ง) โดยให้ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เพราะกรณี “กลุ่มงูเห่า” ที่ทำให้รัฐบาล “เป็นหมัน”
ทำให้จากที่เคยเป็นรัฐบาล ต้องมาเป็นฝ่ายค้าน
ซึ่งจากฉนวนเหตุนี้เอง ที่ทำให้ บทบาทของ เสนาะ เทียนทอง แทบจะมลายหายไปในพริบตา เมื่อถูกปลดจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคความหวังใหม่!
แต่เมื่อนานไป ปัญหาที่เกิดขึ้นในรัฐบาลประชาธิปัตย์ ของ ชวน หลีกภัย ทั้ง ปัญหาเศรษฐกิจ ที่ทำท่าจะบานปลาย, สินบาทน้ำตาลทราย 200 ล้านกว่าบาท, รวมไปถึงการบุกรุกตัดไม้ในป่าสาละวิน, การทุจริตต่างๆ ในรัฐบาล ทำให้พรรคความหวังใหม่ ในฐานะพรรคฝ่ายค้านอันดับหนึ่ง ตัดสินใจครั้งสำคัญ!
คือการลาออกของ ส.ส. ยกพรรค! เมื่อ 28 มิถุนายน 2543
ประท้วงรัฐบาลในเวลานั้นจากข้อกล่าวหาข้างต้น
แล้วกลายเป็นมูลเหตุที่ทำให้ ชวน หลีกภัย ถึงคราว “หลีกภัย” จริงๆ ด้วยการ ยุบสภา!
การเลือกตั้ง 6 มกราคม 2544 พรรคความหวังใหม่ ได้ 35 ที่นี่งในสภา โดย ได้ปาร์ตี้ลิสต์ 8 ที่นั่ง และ เข้าร่วมกับพรรคไทยรักไทย
24 มกราคม 2545 พรรคได้มีการจัดการประชุมใหญ่ และมีมติให้ยุบรวมเข้ากับพรรคไทยรักไทยในที่สุด
แต่กระนั้นก็ดี ถึงแม้จะยุบพรรคอยู่แล้ว ก็มิวายมีเรื่องสนุกสนานทางการเมืองจนได้!
แกนนำหลักๆ อย่าง พลเอก ชวลิต, ลิขิต ธีรเวคิน, สุขวิช รังสิตพล, วันมูหะมัดนอร์ มะทา เลือกที่จะเข้าร่วมกับไทยรักไทยพร้อมกับ ส.ส. เขตที่เหลือ
แต่คงไม่ใช่กับ ชิงชัย มงคลธรรม, ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง, และ พ.ท. (ญ) ฐิติยา รังสิตพล
รายแรก เลือกที่จะกู้พรรคความหวังใหม่อีกครั้ง
รายที่สองเลือกที่จะไปกู้ พรรคมวลขน ก่อนที่จะลาออก ไปลงสมัครรับเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในอีก 2 ปีถัดมา
ด้านคนหลัง นี่แทบจะเป็นเรื่องประหลาดที่สุด ที่พ่ออยู่คน กับลูกอยู่คน ไม่ใช่แค่คนละพรรค แต่คนละฝั่ง
“ผู้พันปราง” เข้าร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ สร้างประวัติศาสตร์ เป็น ส.ส. คนแรกที่ย้ายเข้ากับฝ่ายค้าน โดยที่ไม่พ้นสมาชิกภาพ ส.ส.
และ ยังอยู่ในสมัยประชุมสภา!
จบตำนาน “ทานตะวัน” อันสุดแสนผจญภัยเพียงเท่านี้!
ทานตะวัน (วันนั้น) ไปไหนวันนี้
หลายปีผ่าน พรรคความหวังใหม่ยังมีอยู่ในสารระบบการเมืองไทย แต่ไม่ใช่พรรคที่เรารู้จักอีกต่อไปแล้ว ในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม (2562) ที่ผ่านมา พรรคก็ยังส่งผู้สมัครลงชิงชัย….
แต่ที่นั่งในสภา ส.ส. พึงมีเท่ากับศูนย์
แล้ววันนี้ “คนทานตะวัน” ไปอยู่ไหนกันหมด?
พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ - บิ๊กจิ๋ว ผู้นี้ผู้ที่ได้รับสมญานามว่า “ขงเบ้งแห่งกองทัพบก” คือคนเดียวกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังและมันสมองของโครงการต่างๆ ของกองทัพบก ตัดสินใจลาออกจากกองทัพ ลงสนามการเมืองด้วย 200,000 ไมล์ สู่เก้าอี้ นายกรัฐมนตรี - ประกาศเลิกเล่นการเมือง เพราะอายุมากแล้ว แต่ก็ยังมีวายจะตกเป็นข่าว เอ่อ ไม่ใช่ข่าวการเมือง แต่เป็นการแต่งภรรยาใหม่ เมื่อกลางปีที่แล้ว!
พิศาล มูลศาสตรสาทร - ปลัดกระทรวงมหาดไทย คู่ใจ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เจ้าของฉายา “ปลัดฮิ” เข้าร่วมกับพรรคความหวังใหม่ หลังจากที่เกษียณอายุราชการ และร่วมหัวจมท้ายกับพรรคจนวันสุดท้ายของชีวิต - เป็น ส.ส. สุรินทร์ 2 สมัย เคยเป็นเลขาธิการพรรคความหวังใหม่ช่วงแรกๆ และได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และ กระทรวงแรงงานฯ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2539 ด้วยวัย 67 ปี
สุขวิช รังสิตพล - อดีตผู้บริหารคาลเท็กซ์ ประเทศไทย ก่อนที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2534 ก่อนที่จะได้เป็นผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ในปี 2536 และเข้าร่วม กับพรรคในปี 2358 พร้อมกับการเป็นเลขาธิการพรรค และยังเคยได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.กรุงเทพฯ อีกด้วย - เลิกเล่นการเมืองอย่างสิ้นเชิง เคยมีข่าวว่าบวชอยู่พักหนึ่ง ปัจจุบัน ใช้ชีวิตเรียบง่าย โดยมีลูกสาวอย่าง พ.ท. (ญ) ฐิติยา รังสิตพล เป็นผู้เผยแพร่ผลงานในอดีตของคุณพ่อ
เสนาะ เทียนทอง - อดีตเลขาธิการพรรคชาติไทย ผู้ที่เคยปั้น บรรหารศิลปอาชา ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตัดสินใจลาออกจากพรรค เพราะขัดกันเรื่องตำแหน่งรัฐมนตรี และเข้าร่วมกับพรรคความหวังใหม่ และเป็นคีย์แมน สำคัญที่ทำให้พรรค ชนะการเลือกตั้งในปี 2539 สำเร็จ - เป็นหนึ่งในแกนนำพรรคเพื่อไทย โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ “ป๋าเหนาะ” คงอยากลืม เพราะสระแก้ว อันเป็นฐานที่มั่น โดนโจมตี เสียที่นั่งให้กับ พรรคพลังประชารัฐ โดยหลานในไส้อย่าง ฐานิศร์ และ ตรีนุช เทียนทอง ชนะไปได้สำเร็จ แถมตัวเองก็ไม่ได้เป็น ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์อีกด้วย
จาตุรนต์ ฉายแสง - อดีต คนเดือนตุลา ลูกชาย อนันต์ ฉายแสง ลงสมัคร ส.ส. ครั้งแรก ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนที่จะลาออกมาพร้อมกับ “กลุ่ม 10 มกรา” เข้าร่วมกับพรรคในปี 2535 และยังเคยเป็นเลขาธิการพรรคอีกด้วย - นี่คือขุนพลแห่ง พรรคไทยรักไทย เรื่อยมาจนถึงพรรคเพื่อไทย แต่ครั้งนี้ เจ้าตัว เข้าร่วมกับพรรคไทยรักษาชาติ แต่ทว่าถูกยุบพรรคไปกลางคัน จาก “กรณี 8 กุมภาพันธ์” แต่ยังเคลื่อนไหวทางการเมืองพร้อมกับสมาชิกพรรคที่ไม่โดนตัดสิทธิ์ ในนาม “กลุ่มก้าวต่อไป เพื่อประชาธิปไตย”
วันมูหะมัดนอร์ มะทา - แกนนำกลุ่มเอกภาพ (วาดาห์) ผู้ที่มีฐานเสียงในพื้นที่ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วมกับพรรคในปี 2536 เคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา และ เป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ลงพระปรมาภิไธย - หัวหน้าพรรคประชาชาติ ที่เป็นการฟอร์ม “กลุ่มวาดาห์” ให้กลับมามีอำนาจอีกคั้ง และรอบนี้ก็ทำสำเร็จเมื่อได้ 6 ที่นั่งเข้าสภาฯ รอบนี้ แต่ก็ต้องแลกกับการที่ “วันนอร์” ไม่ได้เข้าสภา!
ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง - หัวหน้าพรรคมวลชน แต่เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคความหวังใหม่ (3 เสียง) ต่อมาจึงนำพรรคมวลชน รวมกับ พรรคความหวังใหม่ในปี 2540 - ยังคงเป็นแกนนำพรรคเพื่อไทยอยู่ เคยดำรงตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ชิงชัย มงคลธรรม - อดีต ครูหนุ่ม ที่ลงเล่นการเมือง และเป็น ส.ส. กาฬสินธุ์ พรรคธรรมสังคม ปี 2522 ก่อนที่จะเข้าร่วมพรรคความหวังใหม่ในปี 2535 และเป็นพลังสำคัญในการเผยแพร่ความนิยมของพรรคในภาคอีสาน - เป็นเพียงคนเดียวในปี 2544 ที่ตัดสินใจกู้พรรคอีกครั้ง ถึงแม้ พรรคจะไม่เป็นพรรคนำเช่นแต่ก่อนแล้วก็ตาม
สองสัปดาห์หน้าผู้เขียนขอทำธุระส่วนตัวสักหน่อย เดี่ยวจะกลับมาอีกครั้ง กับ พรรคชาติไทย จาก พรรคราชครู สู่ บรรหารบุรี
อ้างอิง
กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย. (2535). เทศาภิบาล ฉบับพิเศษ เลือกตั้ง 22 มีนาคม 2535. : กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่น กรมการปกครอง
วิษณุ เครืองาม. (2557). เล่าเรื่องผู้นำ. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มติชน. หน้า 175-177
สำนักเลขาธิการพรรคความหวังใหม่. (2540). 7 ปี พรรคความหวังใหม่ 200,000 ไมล์ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ. พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ : ฐานการพิมพ์
ตำนานชาวนา-งูเห่าการเมืองไทย คลิปวิดิโอข่าว 9 อ.ส.ม.ท. โดย suwit mingmol
ข่าวดังข้ามเวลา : ที่สุด...ตลาดหุ้นไทย [คลิปเต็มรายการ] โดย สำนักข่าวไทย
ประวัติย่นย่อ: พรรคการเมืองชื่อ “ใหม่” ในประเทศที่มีร้านตามสั่ง “เจ้าเก่า”
พลิกตำนาน 'ความหวังใหม่' ลาออกยกพรรค หวังบีบ ปชป.ยุบสภา
รู้จัก ‘จาตุรนต์’ ทำไม เขาถึงไม่ไปไหน โดนยุบพรรคทีไร ‘ฉายแสง’ สุดท้าย ทุกที!
โลกสีหม่น ของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ
พรรคไทยรักไทยและรัฐบาลทักษิณ: ความเป็นมาและการก่อตัว
สัมภาษณ์ อ.วิโรจน์ อาลี 20 เมษายน 2562
ศูนย์บริการข้อมูลและกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. “การเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2539 ฉบับที่ 1 ก่อนการเลือกตั้ง”. เอกสารเผยแพร่ในวงงานวุฒิสภา กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2539