วันที่ 14 ต.ค. 2565 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา น.ต.ศิธา ทิวารี ในฐานะเลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงกฎเกณฑ์กติกาการเลือกตั้ง ส.ส.ว่า เป้าหมายแรกแต่ละพรรคต้องมีจำนวน ส.ส. ที่ชนะเลือกตั้งให้ได้เกิน 25 คน ซึ่งจะทำให้ได้เสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีต่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ดังน้ันจึงเป็นไปได้ที่ 2-3 พรรคที่คะแนนไม่ถึงอาจจะมารวมกันเพื่อมีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯที่สามารถเสนอรายชื่อได้ถึง 3 คน
ส่วนความคืบหน้าตนเชื่อว่ายังไม่ถึง 10% ยังต้องมีการหารือกันอีกเยอะจึงจะควบรวม ประเด็นที่ตอนนี้สื่อถามกันเยอะคือ พรรคไทยสร้างไทยกับพรรคสร้างอนาคตไทย ต้องเรียนว่า ในส่วนที่เหมือนกันคือ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานพรรคสร้างอนาคตไทย กับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย เคยร่วมงานกันในสมัยของพรรคไทยรักไทย โดยในสมัยนั้นมี ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทย
“ขณะนี้เรายังมีบางส่วนที่พี่น้องประชาชนยังสงสัย คือในช่วงเวลาที่ท่านสมคิดได้เข้าร่วมกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในส่วนนี้ต้องชัดเจนว่าที่แตกออกมาเป็นเรื่องของผลประโยชน์ หรือเป็นเรื่องของอุดมการณ์ที่ไม่ตรงกัน และการที่ไปช่วยต่อยอดให้กับพรรคพลังประชารัฐ ณ เวลานั้น เป็นการต่อยอดในลักษณะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ หรือประโยชน์ทางการเมือง ในส่วนนี้ต้องชัดเจน ท่าทีในส่วนนี้จะเป็นตัวตัดสินใจของทางฝั่งไทยสร้างไทย ว่าจะเดินหน้าด้วยกันหรือไม่ “ น.ต.ศิธา กล่าว
น.ต.ศิธา ยังกล่าวอีกว่า ทั้ง 2 ส. (สมคิดและสุดารัตน์) ต้องไปคุยกันเองสองคน ว่าจุดมียืนอย่างไร ซึ่งตนมองว่า ไม่ได้ขัดต่อกฎหมายของพรรคการเมือง ยกตัวอย่างนิยามง่ายๆ อย่าง พลังประชารัฐ ส.ส. หลายคนในช่วงใกล้เลือกตั้งครั้งที่แล้ว โดนชนักปักหลัง แล้วถูกขู่ว่าถ้าไม่ย้ายไปจะถูกดำเนินคดีต่างๆ เพราะทุกคนที่ย้ายออกในขณะที่พรรคเพื่อไทยมีคุณหญิงสุดารัตน์เป็นประธานยุทธศาสตร์ ทุกคนที่ออกจากพรรคมาหารือกัน ปรากฎว่าสามารถทำได้จริง เมื่อย้ายไปก็รอด กี่คนที่รอดก็ไปหาดู คนที่ไม่รอดก็มีบ้าง ดังนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้คนที่อยู่พลังประชารัฐ ไม่ได้ไปด้วยความเต็มใจที่จะร่วมกับเผด็จการ แต่ถูกเอาชนักปักหลัง ทุกวันนี้ก็กลับมาอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยกันเยอะ ดังนั้นในส่วนของพรรคที่จะมาร่วมกันต้องชัดเจนทั้งสองฝ่าย